Thailand
22/3/2024
การที่จีนจะตีจากสหรัฐโดดๆ หรือจะปลดแอกยูเอสดอลล่าร์เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย จำเป็นต้องหาพวกเพื่อสร้างพลังหรืออำนาจการต่อรองกับกลุ่มแองโกลอเมริกัน หรือกลุ่ม G7 (สหรัฐ แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น) ซึ่งดูแลระเบียบโลกในปัจจุบัน
จีนหันไปรวมตัวกันของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแต่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่มีประชากรมาก และเป็นเสาหลักของภูมิภาคของตัวเอง คือ บราซิล (ลาตินอเมริกา) รัสเซีย (ยุโรป+เอเชียกลาง) อินเดีย (เอเชียใต้) และจีน (เอเชียเหนือและตะวันออกเฉียงใต้) ต่อมาแอฟริกาใต้เข้ามาร่วมในปี 2010 จึงเรียกกลุ่มนี้ว่าBRICS ซึ่งเป็นชื่อย่อนำหน้าของประเทศสมาชิก
ในปีที่แล้ว BRICS มีการรับเอาสมาชิกเพิ่มอีก 5ประเทศคือ อิหร่าน ซาอุดิ อาราเบีย ยูเออี อียิปต์ และเอธิโอเปีย ทำให้กลายเป็นแนวร่วมที่โดดเด่นในเวทีการเมือง เศรษฐกิจและการเงินของโลกทันที เพราะว่าท้ังกลุ่มมีจีดีพีในแง่เสมอภาคของอำนาจซื้อ และประชากรรวมกันเหนือกว่ากลุ่มG7
โลกจึงแบ่งขั้วออกมาชัดเจนหรือ G-7 vs BRICS ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed nations)
และประเทศที่กำลังพัฒนา (developing nations) ตามลำดับ
แม้ว่าสมัยจอร์จ บุช ผู้ลูก พยายามจะกวาดต้อนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาของแองโกลอเมริกันผ่านกรอบความร่วมมือของกลุ่ม G-20 ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา แต่ความร่วมมือของ BRICSในการสร้างสถาปัตยกรรมของระบบเศรษฐกิจโลกและระบบการเงินโลกใหม่ดูแนวโน้มแล้วมีความสดใสมากกว่า และมีความคืบหน้าที่จับต้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เงินสกุลประจำชาติในการค้าขายกันเอง โดยออกจากระบบดอลล่าร์กระดาษ
เดิมทีกลุ่มBRICSถูกสบประมาทว่าจะเป็นองค์กรที่เอาไว้คุยกันเฉยๆ แต่จะไม่มีแอคชั่นอะไร เพราะว่าไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ รัฐบาลบราซิลจะทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่ถามไถ่สหรัฐก่อน มิเช่นนั้นผู้นำรัฐบาลหรือรัฐบาลอาจจะอยู่ไม่ได้แอฟริกาใต้ไม่ได้มีความแข็งแกร่งอันเห็นได้จากการจลาจลภายในประเทศที่เคยเกิดขึ้นในเวลานี้จากปัญหาการเมืองภายในที่ถูกภายนอกแทรกแซง อินเดียยังไม่รู้จะเอาอะไรแน่ เพราะใจหนึ่งไม่อยากปลดแอกออกจากอิทธิพลตะวันตก ในหนึ่งยังคงอยากอยู่ใต้เครือจักรภาพอังกฤษเหมือนเดิม อีกใจหนึ่งอยากจะได้ประโยชน์จากการซื้อพลังงานราคาถูกจากBRICS เหลือเพียงจีนกับรัสเซียเท่านั้นที่ต้องการที่จะสร้างขั้วมหาอำนาจใหม่จริงๆ ที่เป็นที่ยอมรับในบรรดาสากลประเทศทั้งหลาย และไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบของระเบียบโลกเดิมของแองโกลอเมริกันที่มียูเอสดอลล่าร์ครอบงำระบบการเงินโลกอยู่
ในช่วงการระบาดของโควิด จะเห็นได้ว่าBRICSตกเป็นเป้าของการทำลาย คงจะไม่เป็นเรื่องบังเอิญที่ จีนเจอไวรัสอู่ฮั่น
บราซิลเจอไวรัสสายบราซิล แอฟริกาใต้มีสายพันธุ์ไวรัสเซาร์แอฟริกา ส่วนอินเดียเจอไวรัสเดลต้าหนักที่สุด มีเพียงรัสเซียยังไม่เจอสายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์
ด้วยเหตุนี้ สี จิ้นผิงกับวราดิเมียร์ ปูตินจึงตกลงกันเองว่า
ต้องร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นในการปลดแอกยูเอสดอลล่าร์ผ่านนโยบายดัมพ์ทิ้งดอลล่าร์ (de-dollarisation)
เพราะว่าจีนกับรัสเซียเป็นเป้าหลักของสงครามเย็นที่ก่อโดยกลุ่มแองโกลอเมริกัน ถ้าทั้งจีนและรัสเซียจับมือกันแน่นได้บราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย อิหร่าน ซาอุดิ อาราเบียจะกล้าร่วมวงอย่างจริงจังในการสร้างระเบียบโลกใหม่
จีนกับรัสเซียตกลงที่จะค้าขายกัน โดยไม่ใช้เงินดอลล่าร์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ (de-dollarisation) โดยจะค่อยๆดัมพ์ทิ้งดอลล่าร์ไปเรื่อยๆออกจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ รัสเซียแทบที่จะไม่มีดอลล่าร์ในรีเสิร์ฟอีกต่อไป ส่วนจีนเหลือพันธบัตรดอลล่าร์สหรัฐม่กี่แสนล้าน เพราะว่าสามารถใช้หยวนแลกซื้อสินค้าได้ โดยไม่ต้องผ่านดอลล่าร์ตัวกลาง
รัสเซียมีความเร่งด่วนมากกว่าจีนในการปลดแอกดอลล่าร์
เพราะว่ารัสเซียตกเป็นเป้าของการแซงชั่นของสหรัฐทั้งทางเศรษฐกิจและการเงิน หลังจากที่ไปผนวกเอาไครเมียร์ และทำสงครามยูเครน ทำให้ธุรกิจและธนาคารของรัสเซียมีข้อจำกัดในการเข้าถึงดอลล่าร์สหรัฐที่เป็นเสาหลักของเปโตรดอลล่าร์ รัสเซียขายน้ำมัน หรือก๊าซเป็นรายได้หลักของประเทศ บริษัทพลังงานหรือธนาคารรัสเซียต้องใช้ดอลล่าร์ในการทำธุรกรรมด้านน้ำมัน เมื่อสหรัฐใช้ดอลล่าร์แซงชั่นรัสเซียก็เท่ากับว่าตัดแขนตัดขารัสเซีย แต่รัสเซียก็แก้เกมได้ด้วยการหันไปส่งออกให้จีน และตลาดเกิดใหม่ ทำให้เศรษฐกิจไม่ได้รับผลกระทบ และกลับมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นไปอีก
ปูตินจึงออกย้ำว่าสหรัฐผิดพลาดมากที่ติดอาวุธดอลล่าร์ ทำให้ต่อไปไม่มีใครต้องการถือครอง หรือใช้ดอลล่าร์ในการทำธุรกรรมทางการเงินอีก
การสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิหร่านกับซาอุดิ อาราเบียถือเป็นมิติใหม่ในการเมืองตะวันออกกลาง อันจะนำไปสู่การปลดแอกอิทธิพลของตะวันตกในภูมิภาค ท้ังสองประเทศมีพลังงานสำรองมาก ทำให้เมื่อรวมกับรัสเซียแล้ว จะเป็นผู้กำหนดตลาดพลังงานในอนาคต แทนที่จะให้สหรัฐและอังกฤษเป็นผู้กำหนดราคาพลังงานเหมือนอย่างในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ซาอุดิ อาราเบียได้เซ็นข้อตกลงสว็อปทางการเงินกับจีน ทำให้เห็นชัดเจนว่าซาอุกำลังออกจากระบบเปโตรดอลล่าร์ ที่สหรัฐให้น้ำมันของซาอุ และตะวันออกกลางในการหนุนความเชื่อมั่นในดอลล่าร์ แลกกับการขายอาวุธและให้ความคุ้มครองทางความมั่นคง ทุกๆประเทศที่ซื้อน้ำมันต้องมีดอลล่าร์สำรองอยู่ในมือ เพราะว่าซาอุ และประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะขายเป็นเงินสกุลดอลล่าร์เท่านั้น แต่สถานการณ์กำลังเปลี่ยนไป ซาอุ และประเทศผู้ผลิตน้ำมันกำลังมีทางเลือกใหม่ ไม่จำเป็นต้องขายนำ้มันเป็นดอลล่าร์ แต่สามารถขายเป็นหยวน หรือแม้แต่เงินสกุลของตัวเองก็ได้
จีนได้เข้าไปมีบทบาทสูงในตะวันออกกลาง และการันตีว่าจะซื้อพลังงานจากตะวันออกกลางด้วยสัญญาระยะยาว แต่ต้องทำในสกุลเงินหยวน แลกกับการลงทุนของจีนในตะวันออกกลาง และความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งลงไปอีกในเรื่องความมั่นคง และการทหาร ส่วนรัสเซียได้เข้าไปช่วยซีเรียรบกับพวกไอซิสตั้งแต่ปี2014 และมีสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน ทำให้รัสเซียมีอิทธิพลสูงในตะวันออกกลางเหมือนกันในด้านความมั่นคง ทำให้อิทธิพลของG7ในตะวันออกกลางเริ่มที่จะเสื่อมลง
By Thanong Khanthong, Editor
IMCT News
© Copyright 2020, All Rights Reserved