ขอบคุณภาพจาก RT
31/10/2024
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ตลาดทองคำถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการของธนาคารกลางที่มีเข้ามามากเป็นประวัติการณ์ และความต้องการทองคำเพื่อการพาณิชย์ในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน และจนถึงตอนนี้ ตลาดทองคำยังถูกผลักดันจากนักลงทุนตะวันตกเพิ่มเข้ามาด้วย จากรายงานล่าสุดของสภาทองคำโลก
สภาทองคำโลกระบุแนวโน้มความต้องการทองคำในช่วงไตรมาสสามว่า ความต้องการทองคำทั้งหมด รวมถึงการลงทุนทองคำนอกตลาด หรือตามร้านค้าทองทั่วไป พุ่งแตะ 1,313 ตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสสามของทุกปี และสูงขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ความต้องการทองคำ ทั้งทองคำแท่งก้อนเล็กๆ เหรียญทองคำ และทองคำรูปพรรณ ยังคงผันผวนในช่วงไตรมาสสาม แม้ราคาทองคำในเวลานั้น เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 28% แต่ยังดีที่มีการลงทุนทองคำจากตะวันตกเข้ามา จึงชดเชยความผันผวนที่เกิดขึ้นได้
สภาทองคำโลก รายงานว่า ความต้องการลงทุนทองคำทั้งหมดมีเพิ่มขึ้น 364.1 ตัน ในช่วงไตรมาสสาม เพิ่มขึ้นถึง 132% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในขณะที่นักลงทุนยังคงนั่งนิ่ง ไม่ขยับเขยื้อนกับการลงทุนทองคำมากนักในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ( 2024 ) แต่หลังจากธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยเมื่อเดือนกันยายน แรงซื้อทองคำก็มีเข้ามาทันที และผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ บรรดากองทุนรวมดัชนี หรือ ETFs ที่มีทองคำหนุนหลัง เงินทุนไหลออกจากตลาดทองคำมานาน 9 เดือนติดต่อกัน แต่ตลาดทองเริ่มมาดีดขึ้นแบบเต็มๆ ก็เมื่อไตรมาสสามนี่เอง
ความต้องการลงทุนในกองทุน ETFs ที่มีทองหนุนหลัง กลับพลิกฟื้นขึ้นมาอีกในช่วงไตรมาสสาม จนชดเชยเงินทุนไหลออกในช่วง 6 เดือนแรกของปีได้เกือบหมด สภาทองคำโลกคาดว่า แนวโน้มจะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงสิ้นปี
หัวหน้านักวางกลยุทธ์ตลาดประจำภาคพื้นอเมริกาเหนือของสภาทองคำโลก มองว่า วงจรการผ่อนคลายทางการเงินของเฟด เป็นตัวเปลี่ยนเกมในตลาดทองคำอย่างสิ้นเชิง ตอนนี้กำลังมีเงินอีก 6 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 200 ล้านล้านบาท รอจะเข้ากองทุน ETFs ที่มีทองหนุนหลัง ถ้ามีสัญญาณว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยต่อ เฟดลดดอกเบี้ยไม่ต้องเยอะ แค่เพียงนิดเดียว แต่ทำบ่อยๆ เงินก็พร้อมจะไหลเข้ากองทุนแล้ว และแม้ราคาทองคำตอนนี้ จะพุ่งสูงมากแล้ว แต่มันก็ยังมีช่องว่างที่จะไปต่ออีกในระยะยาว
สภาทองคำโลกสังเกตความต้องการทองคำนอกตลาด หรือประเภทที่ไปซื้อขายกันเองตามร้านทอง แม้จะคำนวนออกมาเป็นตัวเลขได้ค่อนข้างยากในปริมาณซื้อขาย แต่ก็ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการในตลาดทองคำ และนับเป็น 7 ไตรมาสติดต่อกันแล้วที่การลงทุนซื้อขายทองคำแบบนอกตลาด ส่งผลบวกต่อความต้องการทองคำ ในตลาดโดยรวม
แต่ความต้องการทองคำแท่งแบบก้อนเล็กๆ และเหรียญทองคำกลับมีลดลง 9% มาอยู่ที่ 269.4 ตัน ในช่วงไตรมาสสาม นักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุมาจากความต้องการที่น้อยลงในจีน ตุรกี และยุโรป สวนทางกับความต้องการที่มีเพิ่มขึ้นในอินเดียและตลาดที่เล็กกว่านี้ในเอเชีย ส่วนในตลาดตะวันตก แม้นักลงทุนในตะวันตกจะสนใจทองเพิ่มขึ้น แต่แรงเทขายทำกำไรก็ยังมีเข้ามามาก ในช่วงที่ราคาทองพุ่งสูง
นักวิเคราะห์ย้ำให้นักลงทุนเฝ้าติดตามแนวโน้มความต้องการในจีน คาดว่า จะส่งผลสำคัญต่อตลาดทองคำ เพราะยังมีความไม่แน่นอน เกี่ยวกับผลกระทบจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน และการที่ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยก็จะส่งผลต่อความต้องการทองคำเช่นกัน บางคนมองว่า ถ้าเศรษฐกิจจีนดีขึ้น ก็จะมีแรงซื้อทองคำแท่งมากขึ้นด้วย แต่นักลงทุนในจีนอาจหันไปลงทุนตลาดหุ้นแทนก็ได้ เพราะดูเหมือนจะได้รับแรงหนุนจากรัฐบาลและธนาคารกลาง
ส่วนแรงซื้อทองรูปพรรณก็มีน้อยลงเช่นกันในช่วงไตรมาสสาม เพราะราคาทองเริ่มแพงเกินไปแล้วสำหรับผู้บริโภค แต่สภาทองคำโลกคาดว่า ในช่วงไตรมาสสี่ ความต้องการทองคำรูปพรรณอาจมีมากขึ้น เพราะเทศกาลสำคัญในอินเดีย
ธนาคารกลางยังมีความต้องการซื้อทองคำในช่วงไตรมาสสาม ลดลง 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่นักวิเคราะห์คาดว่า แนวโน้มที่ธนาคารกลางยังต้องการทองคำจะมีเข้ามาอย่างแข็งแกร่งต่อไป เพราะปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้หลายประเทศต้องกระจายความเสี่ยงไปที่ทองคำ ส่วนความต้องการทองคำเพื่อนำไปใช้ทางเทคโนโลยี ในช่วงไตรมาสสาม กลับมีเพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ โดยเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
By IMCT News