Thailand
ขอบคุณภาพจาก RT
12/10/2024
รัฐมนตรีต่างประเทศคิวบาประกาศว่า คิวบาได้ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการไปยังประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนกลุ่ม BRICS ในปีนี้ ( 2024 ) ต้องการขอเป็นประเทศหุ้นส่วนกับ BRICS
BRICS จะจัดประชุมสุดยอดผู้นำในช่วงปลายเดือนนี้ ( ตุลาคม ) ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ซึ่งปูติน ก็ย้ำว่า การขยายชาติสมาชิกจะเป็นวาระหลักในการหารือ และตอนนี้ ก็มีหลายประเทศต้องการเข้าร่วมกับ BRICS
BRICS ไม่ได้เปิดรับประเทศใดก็ได้ให้เข้าเป็นสมาชิก แต่จะใช้วิธีเชิญไปยังประเทศนั้นๆ และจนถึงตอนนี้ ก็มีไม่กี่ประเทศที่ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมกลุ่มจาก BRICS ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศอยากได้
เช่นตัวอย่างจากปากีสถาน เป็นอีกประเทศหนึ่งที่สนใจจะเข้าร่วมกลุ่ม BRICS และปากีสถานก็ได้รับแรงหนุนจากจีนและรัสเซีย ปากีสถานจึงมั่นใจในโอกาสที่มี แต่เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ และการที่ต้องรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทางกลุ่ม BRICS ต้องนำมาพิจารณา
เม็กซิโกก็สนใจจะเข้าร่วม ส่วนตุรกีก็ยื่นสมัครไปแล้ว แม้ว่า สายสัมพันธ์กับนาโต้ อาจทำให้กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก BRICS ของตุรกี ดูยุ่งยากยิ่งขึ้น
แอลจีเรีย เป็นอีกประเทศที่มีแนวโน้มจะได้เข้า BRICS เพราะจะเป็นตัวแทนของแอฟริกา แอลจีเรียได้หารือในประเด็นการเข้ากลุ่ม BRICS แล้ว โดยชูจุดขายตรงที่เป็นประเทศสำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกา
BRICS ยังอาจเห็นเวเนซุเอลามาเข้าร่วมด้วย แม้ความไม่มั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ อาจกระทบกับโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมในไม่ช้านี้
แม้กลุ่ม BRICS กำลังขยายชาติสมาชิก แต่ก็มีความท้าทายบางประการ ซึ่งทำให้ต้องชะลอหรือทำให้กระบวนการรับสมาชิกใหม่ยุ่งยากขึ้น เช่น บางประเทศที่อยากเข้ากลุ่ม BRICS มีความบาดหมางกับบางชาติในกลุ่ม BRICS
เช่นในกรณี ซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน ก่อนหน้านี้ BRICS ได้เชิญให้ทั้งคู่เข้าเป็นสมาชิก ทั้งที่สองประเทศนี้ มีความตึงเครียดระหว่างกันลงลึกในระดับรากเหง้ากันเลยทีเดียว จากศาสนาและการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ท้ายสุด อิหร่านได้เข้าเป็นสมาชิก ส่วนซาอุฯ ยังไม่ตัดสินใจมาจนบัดนี้
อียิปต์กับเอธิโอเปีย ก็มีความขัดแย้งเป็นการส่วนตัวเช่นกัน เพราะโครงการสร้างเขื่อน Grand Ethiopian Renaissance Dam ของเอธิโอเปีย ที่นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับอียิปต์ ซึ่งมองว่า เขื่อนแห่งนี้ คุกคามการจัดหาน้ำในประเทศของพวกเขา
นอกจากนี้ ยังมีช่องว่างทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิก BRICS ซึ่งจีนดูจะเป็นพี่ใหญ่ภายในกลุ่ม เพราะขนาดเศรษฐกิจ จึงไปบดบังความสำคัญของประเทศสมาชิกอื่น เช่น เอธิโอเปีย และอียิปต์
BRICS จะเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเหนียวแน่นได้ ก็ต้องทุ่มเทความพยายามไปที่การสร้างสมดุลของผลประโยชน์ทั้งประเทศใหญ่และเล็กภายในกลุ่มให้ดี ถ้าไม่ทำเช่นนี้ BRICS ก็เสี่ยงที่จะกลายเป็นเพียงแค่สนามเด็กเล่นของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำภายในกลุ่ม ทิ้งให้ประเทศเล็กๆ แห่งอื่น ที่มีอิทธิพลน้อยกว่า ไม่ได้มีปากเสียงมากเท่าไหร่ ในการตัดสินใจภายในกลุ่ม
ความแตกต่างด้านนโยบายต่างประเทศของบรรดาสมาชิก BRICS ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ซับซ้อนเช่นกัน เพราะมีบางประเทศในกลุ่ม BRICS ที่ผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตะวันตกยิ่งขึ้น เช่น อินเดีย ซึ่งก็ได้เป็นสมาชิกของ Quad เป็นกลุ่มหุ้นส่วนทางการทูตที่ประกอบไปด้วยสหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ส่วนบราซิลก็มีสายสัมพันธ์กับชาติตะวันตกเช่นกัน
กลุ่ม BRICS ยังไม่มีโครงสร้างอย่างเป็นทางการที่ใช้ในการตัดสินใจ จึงทำให้ทางกลุ่มบรรลุข้อตกลงในประเด็นสำคัญได้ยากขึ้น
By IMCT News
อ้างอิงจาก https://www.cryptopolitan.com/cuba-wants-in-on-brics-as-a-partner-country/
© Copyright 2020, All Rights Reserved