.

กลุ่ม BRICS ชูวาระหลัก AI-สาธารณสุข-ปฏิรูปการเงิน ท้าชนสหรัฐฯ
14-2-2025
บราซิล ประธานกลุ่มBRICS ประจำปี 2025 เผยเอกสารกรอบแนวคิดการประชุมสุดยอดประจำปีที่จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม โดยมีวาระสำคัญครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ การกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ความร่วมมือด้านสาธารณสุขระดับโลก และการปฏิรูปการเงิน
บราซิลระบุว่า โลกต้องการการกำกับดูแล AI ที่ยุติธรรมและเท่าเทียม โดยทุกประเทศ ไม่ใช่เพียงบรรษัทขนาดใหญ่ ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ พร้อมเน้นย้ำว่าการพัฒนา AI ไม่ควรถูกควบคุมโดยบริษัทหรือประเทศจำนวนน้อย แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประกันการเข้าถึงอย่างเป็นธรรม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และป้องกันอคติในอัลกอริทึม
กลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบด้วยประเทศตลาดเกิดใหม่ชั้นนำ อาทิ รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ จะร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นอิสระ เพื่อสะท้อนความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมของมนุษยชาติ การผลักดันดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังสหรัฐฯ ปฏิเสธลงนามในปฏิญญาระหว่างประเทศที่ส่งเสริม AI ที่ "ครอบคลุม" และ "ยั่งยืน" ซึ่งสร้างรอยร้าวระหว่างวอชิงตันกับประเทศพันธมิตรสำคัญในประเด็นการกำกับดูแลเทคโนโลยี
เจ.ดี. แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการประชุมสุดยอด AI ที่กรุงปารีสว่า การกำกับดูแลที่เข้มงวดเกินไปอาจเป็นอุปสรรคต่อนวัตกรรม พร้อมเรียกร้องให้ยุโรปมองโลกในแง่ดีมากกว่าความหวาดกลัว ขณะที่เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ยืนยันว่าจำเป็นต้องมีกฎระเบียบระดับโลกเพื่อให้ AI มีจริยธรรมและยั่งยืน โดยมีกว่า 60 ประเทศ รวมถึงจีน ร่วมลงนามในข้อตกลงส่งเสริมการเข้าถึง AI และปกป้องสิทธิมนุษยชน ยกเว้นสหรัฐฯ และอังกฤษ
การตัดสินใจของจีนในการรับรองแถลงการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดปกติ เนื่องจากปักกิ่งมักหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมข้อตกลงสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงท่าทีที่โดดเดี่ยวของสหรัฐฯ
ในด้านสาธารณสุข การประชุมสุดยอด BRICS จะมุ่งเน้นการนำ AI มาประยุกต์ใช้ โดยจะพัฒนาแพลตฟอร์มความร่วมมือใหม่เพื่อผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับระบบสาธารณสุขของประเทศสมาชิก
สำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งถือเป็นเสาหลักสำคัญในวาระการเป็นประธานของบราซิล กลุ่ม BRICSยืนยันจุดยืนในการผลักดันการปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อเพิ่มบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในตำแหน่งบริหารระดับสูง พร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบชำระเงินภายในกลุ่มเพื่อลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงท่าทีคัดค้านอย่างรุนแรง โดยขู่จะตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้า 100% กับประเทศสมาชิกบริกส์ที่พยายามเลี่ยงการใช้เงินดอลลาร์ พร้อมประกาศมาตรการภาษีใหม่กับคู่ค้าสหรัฐฯ ก่อนการพบปะกับนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ทรัมป์ย้ำว่าจะระงับการค้ากับประเทศที่ละทิ้งดอลลาร์ และหากมีการค้าใดๆ เกิดขึ้น จะถูกเรียกเก็บภาษีขั้นต่ำ 100% ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงจนประเทศสมาชิกอาจไม่กล้ายอมรับการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริกส์
นอกจากนี้ การประชุมจะหารือประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยบราซิลซึ่งจะเป็นเจ้าภาพการประชุม COP30 ในเดือนพฤศจิกายน เน้นย้ำ "ความจำเป็นทางศีลธรรม" ในการลดช่องว่างระหว่างเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศกับพันธสัญญาทางการเงิน โดยเฉพาะการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา
บราซิลยังผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างสหประชาชาติ โดยเฉพาะคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถูกมองว่า "ล้าสมัยและไร้ประสิทธิภาพ" ในการจัดการความขัดแย้งยุคใหม่ แม้จะได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย แต่จีนยังไม่แสดงจุดยืนชัดเจนเกี่ยวกับการขยายจำนวนสมาชิกถาวร ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยสหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย และจีน โดยแต่ละประเทศมีอำนาจยับยั้ง
ความท้าทายล่าสุดเกิดขึ้นในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศBRICSเมื่อเดือนกันยายน ซึ่งจบลงโดยไม่มีแถลงการณ์ร่วมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังอียิปต์และเอธิโอเปีย สมาชิกใหม่ ปฏิเสธรับรองเอกสารที่กล่าวถึงความมุ่งมั่นของบราซิลและอินเดียในการเข้าเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคง
ด้วยการขยายตัวเป็น 11 ประเทศสมาชิกและการเพิ่มประเทศพันธมิตรอีก 9 ประเทศ บราซิลเสนอปฏิรูปกระบวนการตัดสินใจภายในกลุ่ม พร้อมจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อ "ปรับปรุงขั้นตอน เพิ่มประสิทธิภาพการประสานงาน และบูรณาการสมาชิกใหม่" เข้ากับโครงสร้างBRICS
---
IMCT NEWS