Thailand
ยุโรปถึงคราวต้องเลือก จะอยู่ข้างสหรัฐ หรือ BRICS
ขอบคุณภาพจาก RT
7/6/2024
Dmitry Trenin ศาสตราจารย์วิจัยประจำสถาบันเศรษฐกิจโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งยังเป็นสมาชิกสภากิจการระหว่างประเทศรัสเซีย หรือ RIAC เขียนบทความลงในสำนักข่าว RT ของรัสเซีย แสดงความเห็นว่า ท้ายสุด ยุโรปต้องเลือกว่าจะอยู่ข้างไหน ระหว่างสหรัฐ กับ BRICS เพราะในวันที่อำนาจจากภายนอกซึ่งปกคลุมยูเรเซียยุติลง ยุโรปตะวันตกจำเป็นจะต้องตื่นในไม่ช้า
ในบทความนี้ระบุว่า ยูเรเซีย หรือ ยุโรปรวมกับเอเชีย เป็นภูมิภาคที่มีอำนาจในตัวเอง อย่างจีนก็ถูกผนวกรวมเข้ากับเศรษฐกิจโลกได้อย่างชื่นมื่น อินเดียเองก็พร้อมเข้าสู่ระบบโลกาภิวัฒน์เช่นกัน ทั้งยังผูกสัมพันธ์กับสหรัฐ ส่วนรัสเซียก็มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี หลังจากเคยพังทลายเพราะการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่ทั้งหมดทั้งมวล สหรัฐก็ยังมีอำนาจในมือกุมชะตาโลกไว้ได้อยู่
จริงๆ แล้ว สหรัฐควรใช้วิธีจัดตั้งระบบโลกหลายขั้วอำนาจ โดยมีพื้นฐานมาจากการยอมรับในผลประโยชน์ของแต่ละประเทศร่วมกัน แต่ยังยอมให้สหรัฐครองความเป็นหนึ่งในระบบโลกหลายขั้วนั้น แต่ตอนนี้ สหรัฐกลับใช้วิธีดันตัวเองให้ขึ้นมาเป็นหนึ่งแล้วกดประเทศอื่นให้ต่ำลง ทั้งการขยายอิทธิพลนาโต้ให้เข้าใกล้รัสเซียมากขึ้น ปัญหาการทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน สหรัฐยังคงยั่วยุจีนในประเด็นไต้หวัน และทำสงครามการค้ากับเทคโนโลยีโจมตีจีน เพราะมองว่า เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจตัวสำคัญของสหรัฐ
ในเวลาเดียวกัน รัสเซีย อินเดีย และจีน สามชาติยักษ์ใหญ่ในยูเรเซีย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันนี้ ก็มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อีกทั้งยังประสานความร่วมมือกันมากขึ้นด้วย
รัสเซีย จีน อินเดีย และบราซิล ยังเป็นผู้ก่อตั้ง BRICS และในการประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ที่คาซาน ประเทศรัสเซียในหนนี้ จะถือเป็นครั้งแรกที่ได้รวมเอาผู้นำจากอิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ มาร่วมประชุมด้วย
อีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญก็คือ องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเริ่มต้นมีจีน รัสเซีย และประเทศในแถบเอเชียกลาง แต่ตอนนี้ได้รวม อินเดีย ปากีสถาน และอิหร่าน เข้าไปด้วย และจะยอมรับเบลารุสเข้าเป็นสมาชิกในไม่ช้า ยังมีอีกหลายประเทศในแถบยูเรเซีย ที่ต้องการจะเข้า BRICS หรือเข้าเป็นสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้
ด้านสหรัฐก็ไม่น้อยหน้า พยายามให้นาโต้แพร่ลามมาถึงแถบอินโดแปซิฟิก ทั้งยังก่อตั้งกลุ่มใหม่คือ AUKUS ในแปซิฟิกตอนใต้ และดึงอินเดียมาร่วมกลุ่ม Quad เป็นกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ประกอบไปด้วยสี่ประเทศคือ สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย กลุ่มทั้งหมดเหล่านี้มีสหรัฐเป็นแกนนำ ตั้งขึ้นมาเพื่อยับยั้งอิทธิพลของฝ่ายตรงข้าม คือ จีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ
ในขณะที่ BRICS และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมา โดยไม่มีชาติใดเป็นหัวหน้าหรือแกนนำอย่างแท้จริง BRICS ขยายชาติสมาชิกเมื่อไม่นานมานี้ โดยบอกว่า ไม่ได้จะเลียนแบบกลุ่ม จี 7 ของตะวันตก ซึ่งล้วนแต่เป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ส่วนองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ก็มีชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์เข้าร่วมไม่ถึง 4 ประเทศ แต่ละประเทศล้วนมีนโยบายต่างประเทศเป็นอิสระ ไม่อิงกับใคร และตั้งเป้าที่ผลประโยชน์ของประเทศตัวเองเป็นหลัก
ทั้ง BRICS และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ เป็นการรวมตัวของประเทศที่เคารพในผลประโยชน์ของชาติซึ่งกันและกัน ให้คุณค่าทางอารยธรรม และฉันทามติร่วมกัน ทั้งยังไม่มีจุดยืนต่อต้านอเมริกา หรือ ต่อต้านตะวันตก พวกเขามุ่งเน้นไปที่ประเด็นของกลุ่ม มากกว่าประเด็นภายนอก
ทั้งรัสเซีย จีน อินเดีย อิหร่าน และประเทศอื่นในกลุ่ม ยืนยัน ไม่ต้องการให้ภายนอกเข้ามาแทรกแซง และไม่ต้องการให้ใครมาสั่ง พวกเขาไม่ต้องการครอบครองภูมิภาคยูเรเซีย พวกเขาแค่อยู่ตรงนั้น เพราะมันคือบ้าน อย่างประเด็นยูเครน ซึ่งรัสเซียถือว่า เป็นความมั่นคงของชาติ รัสเซียไม่ได้ต้องการผงาดขึ้นมาเป็นจักรพรรดิในพื้นที่นั้น หรือประเด็นไต้หวัน จีนมีจุดยืนแค่อยากรวมชาติ แบบเดียวกับฮ่องกง แต่บางชาติที่อยู่ไกลโพ้นออกไป ก็พยายามเข้ามายุ่งด้วยให้ได้
ก็จริงอยู่ที่สหรัฐจะมีเหตุผลในการกลัวรัสเซียเข้าไปมีอิทธิพลชี้นำยูเครน แต่สิ่งที่ทำอยู่ มันบ่งชี้ให้เห็นว่า สหรัฐต้องการเป็นเจ้าโลก สหรัฐคว่ำบาตรรัสเซีย 16,000 รายการแล้วในตอนนี้ ทั้งยังทุ่มงบมหาศาลในสงครามยูเครน สหรัฐและพันธมิตรพยายามงัดข้อกับ BRICS และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ และต้องการบ่อนทำลายผู้นำประเทศที่ตนเองไม่ชื่นชอบ
สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนว่า สหรัฐกำลังทำอยู่ คือการบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดีย และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย กับรัสเซีย อ่อนแอลงด้วย แต่ตอนนี้ ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะคนอินเดียส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างชาติ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาประเทศตนเองอย่างเต็มกำลัง อินเดียมองตัวเองเป็นมหาอำนาจชาติหนึ่ง และไม่ใช่เครื่องมือของใคร ความภาคภูมิใจของอินเดียพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ยากที่จะจินตนาการว่า อินเดียจะทำตามที่สหรัฐต้องการ
ประเทศในแถบยูเรเซีย แทบไม่ต้องกลัวเลยว่า รัสเซียจะบรรลุวัตถุประสงค์ในยูเครน หรืออย่างในองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ที่สมาชิกล้วนให้เกียรติซึ่งกันและกัน และยิ่งเวลาผันผ่านไป กลุ่มนี้ก็จะยิ่งมั่นคงมากขึ้น ทั้งในด้านความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ ความมั่นคงในภูมิภาค หรือความเสี่ยงในด้านการก่อการร้าย
ส่วนการจัดเตรียมการเงินแบบใหม่ในกลุ่ม BRICS ก็จะทำให้การค้าระหว่างสมาชิกมีความปลอดภัยขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาดอลลาร์ เส้นทางการขนส่งในภูมิภาคยูเรเซีย จะช่วยให้มีการเชื่อมต่อกันได้ดีขึ้น ในทวีปที่มีความหลากหลายและกว้างใหญ่ที่สุดในโลก และท้ายที่สุด ประเทศในแถบยุโรปตะวันตก จะต้องเลือกเอาว่า จะอยู่เป็นบริวารของสหรัฐต่อไป ซึ่งสหรัฐก็มีอำนาจน้อยลงทุกวัน หรือจะเข้ามาเป็นส่วนร่วมของโลกใบใหม่ที่อยู่ใกล้ๆ กันนี่เอง
By IMCT News
อ้างอิงจาก https://www.rt.com/news/598816-europe-choice-us-brics/
© Copyright 2020, All Rights Reserved