Thailand
ขอบคุณภาพจาก : สำนักข่าวซินหัว
18/3/2024
กลุ่มแองโกลอเมริกันมีการวางแผนมานานแล้ว เพื่อที่จะดึงเอาอินเดียมาเป็นพันธมิตรในการเผชิญหน้ากับรัสเซียและจีนที่ไม่อาจจะเลี่ยงได้เพื่อที่จะรักษาความเป็นมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียว (unipolar world) ด้วยเหตุนี้จึงมีการส่งเสริมหรือให้โอกาสผู้ที่มีเชื้อสายอินเดียได้รับตำแหน่งระดับสูงในบริษัทยักษ์ใหญ่ สถาบันการเงิน องค์กรระหว่างประเทศ รวมท้ังในแวดวงทางการเมืองของตะวันตก เพื่อที่เอาใจคนอินเดียที่มีจำนวน1,400ล้านคนให้มองอนาคตไปยังตะวันตก (Look West)แทนที่จะมองไปที่ตะวันออก (Look East)
มันเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่การเลือกต้ังสหรัฐประธานาธิบดีในปีนี้มีผู้ที่มีเชื้อสายอินเดียมีบทบาทโดดเด่นมาก ไม่ว่าจะเป็นนิคกี้ เฮลีย์ และวิเวค รามาสวามี จากพรรครีพับรีกัน หรือกมาลา แฮร์รีส รองประธานาธิบดีสหรัฐ
เฮลีย์ เป็นลูกครึ่งอินเดีย และเคยดำรงตำแหน่งเป็นทูตสหรัฐประจำยูเอ็นมาก่อน เธอขับเคี่ยวในสนามเลือกตั้งขั้นต้นกับโดนัลด์ ทรัมป์และอยู่ในกระแสข่าวนานหลายเดือนก่อนที่จะถอนตัวออกจากสนามการแข่งขันเพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนพรรครีพับรีกันในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี
วิเวคก็เป็นคนหนุ่มไฟแรง อายุไม่ถึง40ปี แต่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมในการเมืองสหรัฐได้ด้วยลีลาการพูดที่ฉะฉาน แต่เขาถอนตัวออกจากการแข่งขันในการเลือกตั้งขั้นต้นก่อนเฮลีย์ เพราะว่าคะแนนสู้ทรัมป์ไม่ได้
ส่วนแฮร์รีสนั่งบนแท่นรองประธานาธิบดีอย่างลอยลำ ไม่ต้องออกแรงอะไรมาก เพราะว่าเป็นตัวสำรองที่มีแต่จะได้อย่างเดียว
บทบาทที่โดดเด่นของแฮร์รีส เฮลีย์ และวิเวคในการเมืองระดับชาติของสหรัฐถูกสร้างภาพให้โลก หรือจะบอกว่าอินเดียจะถูกต้องมากกว่าว่าสหรัฐไม่ได้กีดกัน หรือรังเกียจคนอินเดียในการเข้าสู่แวดวงทางการเมือง ซึ่งตามปกติแล้วจะสงวนให้คนผิวขาว หรือคนผิวดำ ในขณะที่นักการเมืองที่มีเชื้อสายอื่นๆ มีโอกาส หรือสัดส่วนน้อย มันเป็นการสร้างจิตวิทยาที่ทรงพลังให้คนอินเดียในเรื่องของAmerican Dream ว่าพวกเขามีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า หรือมีงานทำที่มีรายได้สูง ได้ตำแหน่งที่มีเกียรติในสหรัฐ โดยที่ประเทศอื่นๆ ไม่ได้ให้โอกาสแบบนี้ เมื่อระดับประชาชนคิด เชื่อหรือใฝ่ฝันเช่นนี้ มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากที่สหรัฐจะดึงเอาอินเดียออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มBRICS และให้อินเดียเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคง และด้านการทหารกับตะวันตก
อังกฤษเล่นการเมืองเชิงจิตวิทยาเหมือนกับสหรัฐ แต่ไปไกลกว่าด้วยการเปิดทางให้ริชชี่ สุนัค ผู้ที่มีเชื้อสายอินเดียนให้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สุนัคมีภรรยาชื่อ อักษตา มูรติ (Akshata Murthy) เธอเป็นบุตรสาวของดีไซเนอร์ เป็นบุตรสาวของนายนารายณ์ มูรติ (N. R. Narayana Murthy) มหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์ บิดาของเธอเป็นคนที่ก่อตั้งบริษัท อินโฟซิส (Infosys) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอที และเขาเป็นหนึ่งในตัวแทนของตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในอินเดีย ซึ่งมีอยู่10กว่าตระกูล และมีอิทธิพลสูงในการเมืองของอินเดีย
ปีที่แล้ว สุนัคได้แต่งตั้งClaire Coutinho ผู้มีเชื้อสายอินเดียเข้าร่วมครม ก่อนหน้านั้นในสมัยของบอริส จอห์นสันมีการแต่งตั้งผู้มีเชื้อสายอินเดียนสามคนเข้าครม คือ สุนัค Priti Pateและ Alok Sharma ส่วนในสมัยของลิซ ทรัสส์ มีการแต่งตั้งผู้มีเชื้อสายอินเดียนสองคนเข้าครม คือSuella Braverman และAlok Sharma
นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีของกรุงลอนดอนคือ Sadiq Khan ผู้มีเชื้อสายปากีสถาน
ย้อนกลับมาที่สหรัฐ มีการแต่งตั้งผู้ที่มีเชื้อสายอินเดียเป็นโฆษกของเพนตากอน และโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศคือ Sabrina Singh และVedant Patelตามลำดับ ทำให้มองเห็นชัดเจนว่าสหรัฐเปิดโอกาสให้คนอินเดียอย่างเต็มที่ให้เข้ามามีบทบาทสูงในแวดวงรัฐบาลสหรัฐ
สำหรับผู้ที่มีเชื้อสายอินเดียที่ได้รับตำแหน่งสูงในสาขาอื่นๆในสหรัฐมีอาทิเช่น Sundar Pichai ซีอีโอของกูเกิ้ล Rajiv Shah ประธานของRockefeller Foundation, Ajay Banga กรรมการผู้อำนวยการของธนาคารโลก, Rakesh Khurana คณะบดีของ Harvard College, Parag Agrawal อดีตซีอีโอของ Twitter, Gita Gopinath หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ International Monetary Fund, Sonny Mehta, ประธานและบรรณาธิการของ Alfred A. Knopf ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีเชื้อสายจีน หรือแม้กระทั่งคนผิวดำอเมริกันจะมีโอกาสน้อยกว่า หรือแทบไม่มีโอกาสที่จะไต่เต้าขึ้นไปดำรงตำแหน่งระดับสูงในแวดวงอาชีพต่างๆเหมือนกับผู้ที่มีเชื้อสายอินเดีย
มันจึงเป็นเรื่องไม่ยากที่ท้ังอังกฤษ และสหรัฐที่ดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันที่จะล็อบบี้ให้อินเดีย ที่มีภูมิศาสตร์ในเอเชียให้Look West เหมือนกับที่ได้ทำกับญี่ปุ่นที่ผูกผลประโยชน์ของชาติกับตะวันตกมากกว่ากับเอเชีย เพราะว่ามีการใช้แคมเปญเชิงจิตวิทยาระดับสูงให้คนอินเดียฝักใฝ่ในตะวันตกเพื่อโอกาสของชีวิตที่ดีกว่าผ่านการเปิดทางให้ผู้มีเชื้อสายอินเดียได้ตำแหน่งสูงในสังคมแองโกลอเมริกัน
เมื่อตอนที่นาเรนดรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดียขึ้นมามีอำนาจใหม่ๆ เขาประกาศนโยบายLook East เพราะเล็งเห็นชัดเจนว่าความรุ่งเรือง หรือการเจริญเติบโตของโลกในอนาคตจะอยู่ที่เอเชีย ในขณะที่ยุโรปและสหรัฐเข้าสู่ยุคขาลง แต่ไปๆมาๆ โมดีถูกล้อบบี้ให้หันทิศอินเดียกลับไปยังตะวันตกเหมือนเดิม อันเห็นได้จากข่าวที่ออกมาเป็นระยะๆถึงความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับจีน และความเป็นไปได้ที่อินเดียจะลาออกจากการเป็นสมาชิกของBRICSที่ต้องการสร้างระเบียบโลกใหม่ทางเศรษฐกิจและการเงินออกจากอิทธิพลของG7
มองดูผิวเผิน จะเห็นว่าอินเดียพยายามดำเนินนโยบายแบบเหยียบเรือสองแคม คือเลือกคบกับทั้งกลุ่มBRICS และกับตะวันตก ทำให้อินเดียได้ประโยชน์อย่างมากในการค้าขาย ได้ซื้อน้ำมันในราคาถูกจากรัสเซีย ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์กับตะวันตก และเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงไม่ได้มีผลกระทบ
แต่ในทางปฏิบัติในระยะเวลาต่อไป เมื่อความขัดแย้งระหว่างBRICS กับG7มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อินเดียจะไม่สามารถดำเนินนโยบายเหยียบเรือสองแคมได้อีกต่อไป จำเป็นต้องเลือกข้าง เพราะว่าความร่วมมือทางความมั่นคง และทหารจะลงลึก ทำให้จะวางตัวเป็นกลางไม่ได้
ถ้าจะเลือกระหว่างBRICS กับG7 คาดว่าโมดีจะเลือกG7มากกว่า อันเห็นได้จากความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นระหว่างอินเดียกับตะวันตก ในขณะที่ความสัมพันธ์กับจีนหรือBRICS กลับเสื่อมลง มีการเล่นข่าวความขัดแย้งพรมแดนระหว่างอินเดียกับจีน ทำให้ภาพรวมในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลกมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนมากขึ้น และพันธมิตรBRICSมีความอ่อนแอลงถ้าหากอินเดียเอาใจออกห่าง ในขณะเดียวกันอินเดียจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานราคาถูกจากBRICSเหมือนเดิม
By Thanong Khanthong, Editor
IMCT News
© Copyright 2020, All Rights Reserved