ขอบคุณภาพจาก : wikipedia
12/4/2024
“นายกฯ” แนะ ธปท.ดูผลกระทบของประชาชน หลัง กนง.คงดอกเบี้ย 2.5% ชี้ เป็นองค์กรอิสระได้แต่ต้องคำนึงความลำบากของประชาชน ยืนยันลดดอกเบี้ยส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าคง ส.อ.ท.เผยผลสำรวจ ระบุ ดอกเบี้ยปัจจัยกระทบธุรกิจอันดับ 1
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ในช่วงที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ส่งสัญญาณถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาอย่างต่อเนื่องผ่านการให้สัมภาษณ์และการโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่ 2.50%
รวมถึงล่าสุดก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 1 วัน นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเห็นย้ำอีกครั้งว่า ต้องการให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และควรลดลงในอัตรา 0.5% เพราะมีการอั้นมานาน แต่การประชุม กนง.วันที่ 10 เม.ย.2567 มีมติ 5:2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5%
การคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว กนง.ประเมินว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นระดับที่เอื้อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว รวมทั้งได้มองปัจจัยสำคัญให้คงอัตราดอกเบี้ย 4 ปัจจัย ประกอบด้วย
1.เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจากปี 2566 ซึ่งมีแรงสนับสนุนต่อเนื่อง แต่ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะชะลอตัวลงจากปีก่อน ในขณะที่การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นทั้งจำนวนนักท่อเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน
2.อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทานและมาตรการภาครัฐ แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในปลายปีนี้
3.ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ยังขยายตัว ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและครัวเรือนรายได้น้อยเผชิญภาวะการเงินตึงตัว
4.อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพในระยะยาว
นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์วันที่ 11 เม.ย.2567 ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจซื้อบ้าน เพราะล่าสุด กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ย และเป็นประเด็นหนึ่งที่กดอัตราการซื้อ จึงคิดว่าจุดยืนของนายกฯ ชัดเจนเรื่องอัตราดอกเบี้ย
“เดี๋ยวจะหาว่าผมไปกดดันผู้ว่าฯ ธปท.อีก เพราะมีอิสระ แต่ก็ฝากไว้ว่าความเป็นอิสระ มันไม่ได้อิสระจากความลำบากของประชาชน ขอให้นึกถึงความลำบากของประชาชนด้วย วันนี้ผมไม่ได้กดดันอะไรแล้ว แต่ผลที่ออกมาเชื่อว่าประชาชนจะตัดสินเอง ว่าควรจะต้องลดหรือไม่ไม่ต้องลด ขณะเดียวกันนักวิชาการทั้งหมดก็เห็นด้วยในการลดอัตราดอกเบี้ย” นายเศรษฐา กล่าว
นอกจากนี้ ในประเด็นเมื่อลดอัตราดอกเบี้ยแล้วเชื่อว่าผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจจะเป็นบวกมากกว่าลบ ไม่ว่าจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยดีขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 60% ของจีดีพี
รวมถึงส่งผลต่อต่อภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 20% ของจีดีพี ซึ่งการที่เงินบาทอ่อนค่าลงจะทำให้เงิน 1 ดอลลาร์ สามารถแลกได้ 36-38 บาท จะส่งผลต่อเงินที่จับจ่ายใช้สอยในประเทศ
IMCT News
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1121971#google_vignette