ศก.ไทยไตรมาส 3 โต 3% แรงหนุนภาคบริการ-ท่องเที่ยว สภาพัฒน์หั่นเป้า GDP ปี 67-68 เหตุเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอ-หนี้ครัวเรือนกดดัน
18-11-2024
สภาพัฒน์เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัว 3.0% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.2% โดยมีแรงหนุนหลักจากภาคการส่งออกบริการที่พุ่งสูงถึง 21.9% โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคก่อสร้างขยายตัวโดดเด่น 15.5% จากการเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
ด้านการใช้จ่าย (C+I+G+EX-IM) พบว่าการบริโภคภาคเอกชน - (C-Consumption) ขยายตัว 3.4% จากการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนและบริการ แม้สินค้าคงทนจะชะลอตัว สะท้อนกำลังซื้อครัวเรือนที่ทยอยฟื้นตัว
-การลงทุนรวม (I-Investment) ขยายตัว 5.2% โดยการลงทุนภาครัฐพุ่งสูงถึง 25.9% จากการเร่งเบิกจ่ายโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่การลงทุนภาคเอกชนหดตัว -2.5% โดยเฉพาะในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร
-การใช้จ่ายภาครัฐ (G-Government) ขยายตัว 6.3% ตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ดำเนินการได้ตามเป้าหมาย
-การส่งออกสินค้าและบริการ (EX-Export) ขยายตัว 10.5% แบ่งเป็นการส่งออกสินค้า 8.3% และบริการพุ่งสูง 21.9% จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง
การนำเข้าสินค้าและบริการ (IM-Import) ขยายตัว 9.6% ทั้งจากการนำเข้าน้ำมันดิบ แหวนเพชร และรายจ่ายนักท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศ
ภาคการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว 8.3% และการนำเข้าขยายตัว 9.6% ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศยังคงเกินดุล โดยเฉพาะรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมาก
เมื่อพิจารณารายสาขาการผลิต พบว่าสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวสูงสุด 9.0% รองลงมาคือสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 8.4% และสาขาการค้าส่ง-ค้าปลีก 3.5% อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรกรรมหดตัว -0.5% จากผลผลิตข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และยางพารา
สภาพัฒน์ระบุปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในช่วงที่เหลือของปีและปี 2568 ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ การขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าที่มีทิศทางดีขึ้น
สภาพัฒน์ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือ 2.6% จากเดิม 2.8% และคาดปี 2568 จะขยายตัว 2.3-3.3% (ค่ากลาง 2.8%) โดยมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความเสี่ยงการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงภาวะหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและความผันผวนในภาคเกษตรทั้งด้านผลผลิตและราคา
สภาพัฒน์ได้กำหนดแนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคปี 2568 เน้นการขับเคลื่อนการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการเตรียมความพร้อมรับมือมาตรการกีดกันทางการค้า การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน การดูแลเกษตรกรและสนับสนุนการปรับตัวภาคเกษตร รวมถึงการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง
---
ที่มา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)