Thailand
ขอบคุณภาพจาก RT
5/11/2024
เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บรรดาผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดวอลล์สตรีทของสหรัฐ ต่างมุ่งหน้าไปเข้าร่วมประชุมประจำปี Future Investment Initiative หรือ FII ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงริยาดห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เพราะข้อเสนอในด้านการลงทุนของซาอุฯ ค่อนข้างเย้ายวนใจ รวมถึงกองทุนการลงทุนสาธารณะของซาอุฯ ที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 33 ล้านล้านบาท ส่งผลให้โรงแรมสุดหรูหลายแห่งในกรุงริยาดห์ ห้องพักถูกจองเต็ม
แนวคิดมาจากแผนการของซาอุฯ ที่หวังจะเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศ ลดการพึ่งพาน้ำมัน และส่งเสริมภาคอื่นให้มากขึ้น พวกเขาจึงจัดการประชุม FII ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2017 หวังขยายอิทธิพลของซาอุฯ แม้จะเกิดความตึงเครียดในภูมิภาคมากขึ้น
แต่การประชุมในปีนี้ ให้บรรยากาศต่างออกไป เพราะการเงินในซาอุฯ ตึงตัว และความขัดแย้งยืดเยื้อในตะวันออกกลาง ที่เกรงจะคุกคามโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมัน ทำให้นักลงทุนต้องหยุดชะงัก
ซาอุฯ พุ่งเป้ามายังการลงทุนในประเทศมากขึ้น อยากดึงให้ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐเข้ามาลงทุนมากขึ้นในอนาคต
การประชุมเมื่อปีที่แล้ว มีขึ้น หลังเกิดเหตุกลุ่มฮามาสบุกอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม อิสราเอลโต้กลับด้วยการบุกกาซ่าในเวลาต่อมา พาลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ สหรัฐ และอิสราเอล
กลุ่มผู้บริหารชาวตะวันตกจำนวนมาก ยังหลีกเลี่ยงการประชุม FII หลังเกิดเหตุสังหารนักข่าว เมื่อปี 2018 ซึ่งหน่วยข่าวกรองสหรัฐชี้นิ้วไปที่มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นผู้ทำ
นับจากนั้น มกุฎราชกุมารซาอุฯ พยายามจะกอบกู้ชื่อเสียงกลับมาใหม่ ในสายตาประชาคมโลก โดยเรียกร้องให้หยุดยิงในกาซ่า และเลบานอน ท่ามกลางเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งเกรงว่า จะกระทบกับความมั่นคงของซาอุฯ เช่นกัน
ผู้บริหารในสหรัฐบางคน ที่เข้าประชุม FII เมื่อปีที่แล้ว ก็เปิดตัวว่า หนุนอิสราเอล ในขณะที่ เจมี่ ไดม่อน ซีอีโอของเจพี มอร์แกน เชส แนะนำซาอุฯ อย่าละทิ้งแนวคิดสร้างสันติภาพกับอิสราเอลที่สหรัฐเป็นแกนนำ ซาอุฯ ต้องการให้ภูมิภาคมีความมั่นคง เพราะเชื่อว่าจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและผู้เชี่ยวชาญ
กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับอย่าง ซาอุฯ ยังจับจ้องไปที่การทำเหมืองในแอฟริกา เพราะพวกเขาต้องการกระจายการสร้างรายได้ไปยังส่วนอื่น นอกเหนือจากน้ำมัน ซึ่งกองทุนการลงทุนสาธารณะของซาอุฯ ก็เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยผุดมาหลายโครงการ ตั้งแต่โครงการสร้างเมือง NEOM ไปจนถึงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสุดหรู เช่น Red Sea Global
แต่เมื่อซาอุฯ ตรวจสอบงบการเงินของตัวเอง บางโครงการจึงต้องถูกเลื่อน หรือลดรายจ่าย และในขณะที่ภาครัฐมุ่งเน้นไปยังแนวคิด Vision 2030 ก็ทำให้กองทุนการลงทุนสาธารณะของซาอุฯ ต้องมองหาบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมหัวจมท้ายด้วย แทนที่จะส่งแค่เงินมา
ซาอุฯ ตั้งเป้าจะดึงเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 3.3 ล้านล้านบาท ก่อนปี 2030 คิดเป็นเกือบ 6% ของจีดีพีซาอุฯ มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามามากขึ้น แต่เมื่อแนวคิด Vision 2030 มาถึงครึ่งทาง ซาอุฯ ก็รู้ตัวว่า ยังยากลำบากกว่าจะถึงเป้าหมาย
กองทุนการลงทุนสาธารณะของซาอุฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางหาเงินป้อนแนวคิด Vision 2030 ได้เป็นหุ้นส่วนกับต่างชาติในหลายโครงการ ตั้งแต่เมืองอนาคต NEOM ไปจนถึงเมืองบันเทิง Qiddiya แต่เนื่องจากราคาน้ำมันร่วงลง รายได้ของซาอุฯ จึงน้อยลงด้วย ภาครัฐจึงเริ่มตรวจสอบการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ และลดขนาดลง
แรงกดดันจึงมาตกอยู่กับบริษัทต่างชาติ ซึ่งก็อยากให้ซาอุฯ หนุนข้อตกลงต่างๆ แลกกับการให้งบกับโครงการในซาอุฯ
ซาอุฯ ยังขยายการเชื่อมโยงทางการเงินกับต่างชาติ ด้วยการเปิดกองทุนรวมดัชนี ETFs สองแห่งในตลาดหุ้นริยาดห์ ให้นักลงทุนซาอุฯ ไปซื้อหุ้นในฮ่องกงได้ และซาอุฯ ยังเล็งกระชับความสัมพันธ์กับจีน แต่เมื่อไม่นานมานี้ ทุกอย่างดูจะชะงักลง เพราะความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านแรงมากขึ้น
แม้ซาอุฯ จะรวยน้ำมัน แต่รัฐบาลก็คาดว่า หลายโครงการที่ทำอยู่ จะทำให้ประเทศขาดดุลงบประมาณไปจนถึงปี 2027 เป็นอย่างต่ำ และทำให้โครงการภายใต้แนวคิด Vision 2030 ต้องถูกเลื่อนออกไปด้วย
By IMCT News
© Copyright 2020, All Rights Reserved