Thailand
ขอบคุณภาพจาก Xinhua
15/8/2024
ตอนนี้ มีอยู่สามชาติในอาเซียน คือ อินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย ที่วางกลยุทธ์แตกต่างกันในการขยายบทบาทของอาเซียนในประชาคมโลก
เห็นได้จากนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ที่ประกาศว่า มาเลเซียยื่นสมัครขอเข้าเป็นสมาชิก BRICS หลังได้พบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม
ส่วนอินโดนีเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ก็เพิ่งสมัครเข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ซึ่งก็ได้เริ่มตรวจสอบการสมัครของอินโดนีเซียแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม
ในฟากของไทย ก็ได้ยื่นสมัครเป็นสมาชิก OECD ในเดือนเมษายน และยื่นสมัครเป็นสมาชิก BRICS ในเดือนมิถุนายน
OECD ก่อตั้งเมื่อปี 1961 ประกอบไปด้วย 38 ประเทศ ส่วนใหญ่มาจากยุโรปและทวีปอเมริกา มีแค่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สองชาติเอเชียที่เข้าร่วม ส่วน BRICS ก่อตั้งเมื่อปี 2006 โดยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ที่เพิ่งเข้ามาร่วมในปี 2011 และล่าสุดมีอีกสี่ประเทศเข้าร่วม ซึ่งก็รวมถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และอิหร่าน ทำให้มีสมาชิกรวม 9 ชาติ
OECD เป็นที่รู้กันว่า เป็นกลุ่มสโมสรของประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่ BRICS มีจุดยืนคือเป็นปากเป็นเสียงให้กลุ่มซีกโลกใต้ สองกลุ่มจึงมีลักษณะต่างกันอย่างสิ้นเชิง การที่สามประเทศในอาเซียนต้องการขยายบทบาทในประชาคมโลก โดยหันไปจับคู่กับ OECD หรือ BRICS ทำให้บางคนมองว่า กำลังทำในสิ่งที่ผิดฝาผิดตัว
กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ระบุว่า มาเลเซียมีจีดีพีต่อคนต่อปี อยู่ที่ประมาณ 12,570 ดอลลาร์ ของไทยคือ 7,337 ดอลลาร์ และของอินโดนีเซียคือ 4,942 ดอลลาร์ ดังนั้น มาเลเซียจึงมีคุณสมบัติสอดคล้องกับกลุ่ม OECD มากที่สุด ในขณะที่อินโดนีเซียควรหันไปอยู่ในกลุ่ม BRICS
แต่ที่อินโดนีเซียต้องการเข้า OECD ผู้อำนวยการบริหารศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาในอินโดนีเซีย บอกว่า เพราะอินโดนีเซียเห็นว่า BRICS เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมากเกินไปและถูกขับดันด้วยผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของบางประเทศสมาชิกมากเกินไป
ส่วนสาเหตุที่อินโดนีเซียต้องการเข้า OECD ก็เพราะอินโดนีเซียต้องการยกระดับความเชื่อมั่นของประเทศตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อการเปิดรับการลงทุน และให้อินโดนีเซียเป็นห่วงโซ่อุปทานของโลก ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียชุดปัจจุบัน ก็พยายามปฏิรูปเศรษฐกิจอยู่
ด้านผู้อำนวยการ Bait Al Amanah มองว่า มาเลเซียเลือกที่จะเข้า BRICS มากกว่า OECD ก็เพราะต้องการขยายหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ กระจายไปยังกลุ่มอื่นบ้าง และลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐที่มากเกินไป
ส่วนไทย หวังควบทั้งสองกลุ่ม คือ OECD และ BRICS เพราะ OECD คือตลาดปัจจุบันที่ใหญ่มาก ส่วน BRICS กำลังจะเป็นตลาดในอนาคตที่ใหญ่เช่นกัน จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลไทย
แต่ท่าทีของสามประเทศในอาเซียนแบบนี้ ก็สะท้อนให้เห็นว่า อินโดนีเซียไปทางตะวันตก ไทยอยู่แนวกลางๆ เข้าได้ทั้งสองฝ่าย ส่วนมาเลเซียหันไปทางฝั่งจีนและรัสเซีย เห็นได้ชัดเจนว่า อาเซียนเริ่มไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และกำลังเจอแรงเหวี่ยงจากการจัดระเบียบโลกที่กำลังก่อตัวขึ้นใหม่ และอาจทำให้โลกมีหลายขั้วอำนาจมากขึ้น
By IMCT News
อ้างอิงจาก https://www.fastbull.com/news-detail/oecd-or-brics-key-members-differences-might-weaken-4300130_0
© Copyright 2020, All Rights Reserved