ขอบคุณภาพจาก RT
22/10/2024
องค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO จัดประชุมสุดยอดผู้นำที่กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน เพียงสัปดาห์เดียวก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย และจีนก็ได้รับไม้ต่อเป็นประธานหมุนเวียนกลุ่ม SCO ต่อจากปากีสถาน โดยจะรับช่วงระหว่างปี 2024 – 2025 และแน่นอนว่า การที่จีนได้เป็นประธานหมุนเวียนนี้ สิ่งที่ตามมาคือประเด็นทางธุรกิจ
จีนไม่รอช้า ที่จะส่งเสริมในหลายประเด็นร่วมกันให้เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น ทั้งประเด็นแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย หรือ EAEU ซึ่งรัสเซียคุมอยู่ รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจภาคพื้นยูเรเซีย เป็นการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับจีนให้เดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว
ด้านมองโกเลีย ในฐานะผู้สังเกตการณ์ของกลุ่ม SCO ยังไม่ใช่สมาชิกอย่างเต็มรูปแบบ ก็ได้เสนอแนวคิดปรับระเบียงเศรษฐกิจให้ทันสมัย ภายใต้ชื่อโครงการ Steppe Road มองโกเลียเสนอแนวคิดนี้ตั้งแต่ปี 2014 เป็นการเปิดช่องทางโดยสารขนาดใหญ่ หมายถึงระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน จะต้องได้รับการก่อสร้างด้วยมูลค่าการลงทุนทั้งหมดอย่างต่ำ 50,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.65 ล้านล้านบาท
ประกอบไปด้วยทางด่วนเชื่อมรัสเซียกับจีน ความยาว 997 กิโลเมตร , โครงสร้างพื้นฐานรถไฟแบบใช้พลังงานไฟฟ้า ความยาว 1,100 กิโลเมตร , การขยายเส้นทางรถไฟทรานส์-มองโกเลีย จาก เหนือไปใต้ และการวางท่อส่งพลังงาน จากเหนือไปใต้ ในมองโกเลีย
ทั้งนายกรัฐมนตรีมองโกเลีย และนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ดูจะตื่นเต้นกับโครงการนี้มาก เพราะจะช่วยสอดประสานเข้ากับโครงการระเบียงเศรษฐกิจทรานส์ - ยูเรเซีย ของรัสเซีย ซึ่งเชื่อมโยงหลายโครงการเข้าด้วยกัน คือ รางรถไฟทรานส์-ไซบีเรีย , รางรถไฟทรานส์-แมนจูเรีย , รางรถไฟทรานส์-มองโกเลีย และทางรถไฟ Baikal Amur Mainline
กลยุทธ์นี้ถือว่า มีความสำคัญ เพราะรัสเซียกับมองโกเลีย มีพรมแดนเชื่อมกันยาว 3,485 กิโลเมตร มีความสัมพันธ์ทางการทูตมายาวนานกว่า 100 ปี เมื่อปี 1921 สองประเทศเคยมีโครงการร่วมกัน คือ การสร้างท่อส่งก๊าซทรานส์-มองโกเลีย และตอนนี้ ก็ได้จีนมาเกี่ยวข้องด้วย มีการปรับปรุงเส้นทางรถไฟอูลานบาตอร์ของมองโกเลียให้ทันสมัย รัสเซียยังจัดหาเชื้อเพลิงให้กับสนามบินนานาชาติเจงกีสข่านแห่งใหม่ในมองโกเลีย และการสรางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
มองโกเลียเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า ตั้งแต่แร่หายาก คาดว่า มีมากถึง 31 ล้านตัน ไปจนถึงยูเรเนียม อาจมีมากถึง 1.3 ล้านตัน แต่ปัจจุบัน มองโกเลียจำเป็นต้องวางตัวเป็นกลาง ท่ามกลางการสอดส่องจากสหรัฐและสหภาพยุโรป ที่พยายามกดดันให้กลุ่มยูเรเซียร่วมมือกับจีนและรัสเซียให้น้อยลง
แต่ดูเหมือนว่า รัสเซียจะเหนือกว่าตะวันตกในประเด็นมองโกเลีย เพราะไม่เพียงแค่รัสเซียจะปฏิบัติต่อมองโกเลียในฐานะหุ้นส่วนที่เทียบเท่ากันแล้ว รัสเซียยังทำให้มองโกเลียมีความมั่นคงด้านพลังงานอีกด้วย ขณะที่จีนก็มองว่า แนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ถ้ามาประสานกับโครงการ Steppe Road ของมองโกเลีย ก็จะถือว่า ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ด้านนายกรัฐมนตรี หลี่เฉียงของจีน มาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ SCO ในปากีสถาน ยังได้เดินหน้าแนวคิดระเบียงเศรษฐกิจจีนปากีสถานอีกด้วย ซึ่งอยู่ในแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเช่นกัน
ระเบียงเศรษฐกิจจีนปากีสถาน มีทั้งการสร้างทางหลวงเชื่อมต่อกัน และการสร้างท่อส่งก๊าซเชื่อมกันระหว่างสองประเทศ ช่วยให้จีนลดการพึ่งพาเส้นทางขนส่งพลังงานผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งอาจถูกมหาอำนาจปิดกั้นเมื่อใดก็ได้
การประชุมสุดยอดผู้นำ SCO ในปากีสถาน ถือเป็นการรวมกันของหลายประเด็นทั้งในกลุ่ม SCO เอง และกลุ่ม BRICS สมาชิกของ SCO มีตั้งแต่ประเทศในแถบเอเชียกลางไปจนถึงอินเดียและปากีสถาน หลายคนจึงอาจพาลเข้าใจไปว่า นี่คือกลุ่มที่รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อปฏิบัติการทางทหารแบบพิเศษด้วย
การเชื่อมโยงกันทางภูมิเศรษฐศาสตร์ถือเป็นวาระหลักของรัสเซียและจีน นับจากช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 กลุ่ม SCO ได้พัฒนาจากกลุ่มต่อต้านการก่อการร้าย มาเป็นกลุ่มความร่วมมือทางภูมิเศรษฐศาสตร์ และเป็นที่ชัดเจนในการประชุมสุดยอดผู้นำในกรุงอิสลามาบัดครั้งนี้ว่า ทางกลุ่มจะไม่พลิกเป้ากลายเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารเพื่อต่อต้านนาโต้อย่างแน่นอน
และในช่วงที่ชาติมหาอำนาจต่างใช้สงครามก่อการร้าย ในหลายพื้นที่ของโลก เพื่อบ่อนทำลายการถือกำเนิดของโลกแบบหลายขั้วอำนาจ ความพยายามของ SCO ที่จะเชื่อมโยงกันในหลายประเด็น ตั้งแต่โครงการ Steppe Road ไปจนถึงระเบียงเศรษฐกิจตามเส้นทางสายไหมยุคใหม่ จึงถือเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย
By IMCT News
อ้างอิงจาก https://strategic-culture.su/news/2024/10/18/the-geoeconomic-drivers-of-sco-brics-synergy/