เหตุใด 'Iron Dome' ของทรัมป์ต้องเหนือชั้นกว่าอิสราเอล? จีน-รัสเซียคือคำตอบ!
1-2-2025
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งบริหารให้สร้าง "โดมเหล็กสำหรับอเมริกา" (Iron Dome for America) โดยยืมชื่อจากระบบป้องกันขีปนาวุธอันทรงประสิทธิภาพของอิสราเอล เพื่อปกป้องสหรัฐฯ จากภัยคุกคามจากจีนและรัสเซีย
ทรัมป์กล่าวระหว่างการพบปะสมาชิกพรรครีพับลิกันที่รีสอร์ตกอล์ฟทรัมป์ เนชันแนล โดรัล ไมอามี รัฐฟลอริดา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า "เราจำเป็นต้องเริ่มก่อสร้างโดมเหล็กที่ทันสมัยที่สุดทันที เพื่อปกป้องชาวอเมริกัน" พร้อมย้ำว่าจะผลิตในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ระบุว่าข้อเสนอ "โดมเหล็ก" ของทรัมป์ไม่ได้มุ่งลอกเลียนแบบระบบของอิสราเอล แต่เป็นคำมั่นสัญญาที่จะสร้างเครือข่ายป้องกันภัยทางอากาศขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธจากประเทศคู่แข่งอย่างจีนและรัสเซียที่กำลังเร่งพัฒนาอาวุธ
โดมเหล็กของอิสราเอลถูกพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือกับสหรัฐฯ และเงินสนับสนุนหลายพันล้านดอลลาร์จากวอชิงตัน เพื่อสกัดกั้นและทำลายภัยคุกคามระยะใกล้ไม่เกิน 70 กิโลเมตร เช่น จรวดระยะสั้น กระสุนปืนใหญ่ และโดรน ซึ่งตั้งแต่ปี 2023 อิสราเอลใช้ระบบนี้ยิงสกัดจรวดจากศัตรูในภูมิภาค ทั้งฮามาสในกาซา เฮซบอลลาห์ในเลบานอน และอิหร่าน
แต่เนื่องจากสหรัฐฯ มีพื้นที่กว้างใหญ่กว่าและความหนาแน่นประชากรต่ำกว่าอิสราเอลมาก อีกทั้งโดมเหล็กถูกออกแบบมาสำหรับภัยคุกคามระยะใกล้ ทำให้ระบบนี้ไม่เหมาะสมกับการป้องกันขีปนาวุธข้ามทวีป ซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักต่อแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ เพราะต้องครอบคลุมเครือข่ายเมือง ฐานทัพ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
คำสั่งของทรัมป์ระบุว่าขีปนาวุธแบบวิถีโค้ง ความเร็วเหนือเสียง และขีปนาวุธร่อน รวมถึงการโจมตีทางอากาศขั้นสูงอื่นๆ เป็น "ภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อสหรัฐฯ" โดยเรียกร้องให้มีระบบอวกาศขั้นสูงเพื่อตรวจจับและยิงสกัดการยิงที่มุ่งเป้ามายังสหรัฐฯ แต่ไม่ได้ระบุค่าใช้จ่ายหรือกำหนดเวลาการพัฒนา
คำสั่งระบุว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ภัยคุกคามจากอาวุธยุทธศาสตร์รุ่นใหม่ไม่ได้ลดลง แต่กลับเข้มข้นและซับซ้อนขึ้น เนื่องจากประเทศคู่แข่งระดับเดียวกันและใกล้เคียงพัฒนาระบบส่งอาวุธรุ่นใหม่และขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธแบบบูรณาการของตนเอง
ปัจจุบันสหรัฐฯ มีระบบป้องกันขีปนาวุธหลายระบบ ทั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศระดับสูง (THAAD) ระบบอีจิสบนเรือรบ และขีปนาวุธพาทริออต อย่างไรก็ตาม วอชิงตันยังคงพยายามพัฒนาโล่ป้องกันที่ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งเป็นความทะเยอทะยานที่ย้อนกลับไปถึงทศวรรษ 1980 ในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่เสนอโครงการริเริ่มป้องกันทางยุทธศาสตร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการสตาร์วอร์ส
รายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินสหรัฐฯ (GAO) ในปี 2023 ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2002 หน่วยงานป้องกันขีปนาวุธของเพนตากอนใช้งบประมาณกว่า 194,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อจัดหาระบบเซ็นเซอร์ ตัวสกัดกั้น และระบบบัญชาการและควบคุมแบบหลายชั้นให้ผู้บัญชาการภาคสนาม สำหรับตรวจจับ ติดตาม และทำลายขีปนาวุธที่กำลังจะเข้ามา
ขณะที่ทั้งจีนและรัสเซียกำลังเร่งพัฒนาโครงการขีปนาวุธ โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) เป็นครั้งแรกในรอบ 44 ปี ด้วยขีปนาวุธ DF-31AG ที่มีพิสัยไกลถึง 13,200 กิโลเมตร ครอบคลุมแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งหมด
รายงานของเพนตากอนเกี่ยวกับการพัฒนากองทัพจีนที่เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคมระบุว่า จีนมี ICBM ราว 400 ลูกในปี 2023 และ "น่าจะเสร็จสิ้น" การก่อสร้างฐานยิงเชื้อเพลิงแข็งสามแห่งในปี 2022 โดยคาดว่าคลังอาวุธนิวเคลียร์ของจีนมีหัวรบปฏิบัติการเกิน 600 หัวในปีที่แล้ว และจะเพิ่มเป็นมากกว่า 1,000 หัวภายในปี 2030 โดยส่วนใหญ่ "ถูกติดตั้งในระดับความพร้อมสูงขึ้น" หมายถึงสามารถยิงได้ทุกเมื่อ
ด้านเซอร์เกย์ คาราคาเยฟ ผู้บัญชาการกองกำลังขีปนาวุธยุทธศาสตร์ของรัสเซีย ยืนยันเมื่อเดือนธันวาคมว่าประเทศของเขากำลังพัฒนาระบบ ICBM ใหม่ที่เรียกว่า Osina
นักวิเคราะห์จากสถาบันลาวี อินสติติวต์ ระบุว่า การที่ทรัมป์ใช้คำว่า "โดมเหล็ก" เป็นเพียงการอ้างถึงชื่อที่คุ้นเคยของระบบอิสราเอล เพื่อให้ชาวอเมริกันเข้าใจง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระบบที่สหรัฐฯ ต้องการจะใหญ่กว่า แพงกว่า และทะเยอทะยานกว่าโดมเหล็กของอิสราเอลมาก ซึ่งออกแบบมาเพื่อป้องกันดินแดนขนาดเล็กจากการโจมตีด้วยจรวดระยะสั้นเทคโนโลยีต่ำเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การที่คำสั่งบริหารเรียกร้องให้มี "การพัฒนาและติดตั้งขีดความสามารถในการทำลายการโจมตีด้วยขีปนาวุธก่อนการยิงและในช่วงบูสต์" อาจส่งผลให้จีนและรัสเซียรับเอาแนวคิด "ใช้หรือสูญเสีย" มาใช้ ซึ่งในภาวะวิกฤต หากประเทศเหล่านี้กลัวว่าอาวุธนิวเคลียร์ของตนจะถูกทำลาย ก็อาจถูกล่อใจให้ยิงก่อนเชิงป้องกัน
---
IMCT NEWS