Thailand
ขอบคุณภาพจาก Asia News Network
24/8/2024
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รัฐบาลที่นำโดย Pushpa Kamal Dahal สั่งห้าม TikTok โดยอ้างว่ามีผลกระทบเชิงลบต่อความสามัคคีในสังคม
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเนปาลที่นำโดย Pushpa Kamal Dahal เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (22 ส.ค.) ได้มีคำสั่งยกเลิกการสั่งห้ามบนแพลตฟอร์มโซเชียลแชร์วิดีโอยอดนิยมอย่าง TikTok หลังจากสั่งห้ามมาเกือบเก้าเดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (2023) โดยอ้างว่ามีผลกระทบเชิงลบต่อความสามัคคีในสังคม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเนปาล Prithvi Subba Gurung ซึ่งเป็นโฆษกของรัฐบาล ระบุว่า รัฐบาลได้ขอให้บริษัท TikTok ปฏิบัติตามเงื่อนไขบางประการในขณะที่ใช้งานแอปในเนปาลภายในระยะเวลาสามเดือน โดย TikTok ต้องมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเนปาล ลงทุนในการทำให้ผู้คนตระหนักถึงความปลอดภัยทางดิจิทัล ยกระดับคุณภาพการศึกษาสาธารณะ และมีความละเอียดอ่อนในขณะที่ใช้ภาษาในแอป
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศได้หารือกันนานหนึ่งชั่วโมงในวันอังคารที่ผ่านมา (20 ส.ค.) เพื่อตัดสินชะตากรรมของ TikTok ในเนปาล ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่าปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลกและเป็นศูนย์กลางของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของแอปพลิเคชัน TikTok ได้ส่งอีเมลถึงรัฐมนตรี Gurung เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (ส.ค.2024) เพื่อขอให้ยกเลิกการแบน เนื่องจากจะเป็นไปตามกฎและข้อบังคับทั้งหมดของประเทศ โดยจดหมายดังกล่าวแสดงความมุ่งมั่นที่จะลงทะเบียนกับหน่วยจัดการโซเชียลมีเดียของเนปาล และดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายของประเทศ
สำหรับบริษัทโซเชียลมีเดียทุกแห่งที่ดำเนินงานในประเทศเนปาลจะต้องลงทะเบียนตามข้อบังคับกับหน่วยงานนี้ภายใต้กระทรวงและรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี Pushpa Kamal Dahal อนุมัติคำสั่งดังกล่าวเมื่อสามวันก่อนที่ TikTok จะบังคับใช้คำสั่งห้ามเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (2023)
แม้จะมีการแบน แต่ผู้ใช้ในเนปาลยังคงเข้าถึง TikTok ผ่าน VPN และ DNS แบบเปิด ซึ่งตามข้อมูลของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในเนปาล ปริมาณการใช้แบนด์วิธระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น และส่งผลเสียต่อรายได้ของพวกเขา
ตัวแทนจาก Ncell เปิดเผยต่อสาธารณะว่า การห้าม TikTok ส่งผลให้สูญเสียรายได้เกือบ 600 ล้านรูปีต่อเดือน
สำหรับการยื่นคำร้องคัดค้านการแบน TikTok ในเนปาล มีการยื่นคำร้องแยกกันถึงสิบสี่คำร้องในศาลฎีกา Asia Internet Coalition (AIC) ซึ่งตัวแทนของบริษัทโซเชียลมีเดีย เช่น Google, Apple, Meta, Amazon, Yahoo, LinkedIn, Rakuten และ Spotify ได้ส่งจดหมายสองฉบับถึงรัฐบาล โดยโต้แย้งว่าการห้าม TikTok โดยไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายที่เหมาะสมและการตรวจสอบแอปอื่นๆ ในเวลาต่อมา ขัดต่อหลักปฏิบัติสากล
IMCT News
© Copyright 2020, All Rights Reserved