Thailand
12/5/2024
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวสนับสนุนการหารือกันระหว่างแบงก์ชาติและรัฐบาล ทั้งนี้เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่นโยบายการเงินและการคลังของประเทศต้องไปในทิศทางเดียวกัน ฝั่งหนึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาอีกฝั่งหนึ่งเป็นเรื่องเสถียรภาพ
ซึ่งบางช่วงเวลาต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพ บางช่วงเวลาต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการเติบโต การพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้สิ่งสำคัญคือการที่ทั้งสองส่วนต้องมีการพูดคุยกัน ต้องปรับจูนเข้าหากัน ทั้งนี้การที่คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ท่านใหม่จะไปคุยกับ ธปท.ในรายละเอียดกันก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะต้องมีการพูดคุยกันซึ่งจะทำให้การทำงานในช่วงถัดไป มีความสอดคล้องกันมากขึ้น
ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่าแนวทางการบริหารเศรษฐกิจจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกันระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลาง ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเห็นธนาคารกลางและรัฐบาลประเทศไหนออกมาตอบโต้กันไปมา แบบที่เกิดขึ้น แบงก์ชาติกับรัฐบาลควรที่จะประสานการทำงานกันได้ ซึ่งควรมุ่งไปที่การสร้างการเติบโตเศรษฐกิจมากขึ้นและการกินดีอยู่ดีของประชาชน
“ทั้งนี้ความเป็นอิสระของธปท.นั้นรัฐบาลเข้าใจ และเห็นถึงความสำคัญแต่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นสำคัญ จะยืนยันแค่ความเป็นอิสระเพื่อเอาไว้ตอบโต้กับรัฐบาลแบบนี้คงไม่เหมาะสมเพราะไม่เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจของประเทศ และความเดือดร้อนของประชาชน โดยธปท.ก็ไม่ควรพอใจแค่ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจแค่2- 3% ต่อปี โตแบบกระท่อนกระแท่นแบบนี้เศรษฐกิจไทยเราไม่มีทางจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้เลย ”
ทั้งนี้การลดดอกเบี้ยนโยบายถือว่ามีความจำเป็นที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างถ้วนหน้า โดยการลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% นั้นสามารถช่วยลดหนี้สินของประชาชน หนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ 16 ล้านล้านบาทได้กว่า 4.05 หมื่นล้านบาท ขณะที่หนี้ภาครัฐที่มีอยู่กว่า 11 ล้านล้านบาท ก็จะสามารถลดลงได้กว่า 3 หมื่นล้านบาท รวมแล้วเป็นผลดีกับระบบเศรษฐกิจกว่า 7 หมื่นล้าน
นอกจากนี้การลดดอกเบี้ยลงธปท.ไม่ควรกังวลเรื่องของค่าเงินบาทที่จะอ่อนเพราะตอนนี้หลายประเทศค่าเงินอ่อนกว่าไทย เช่น มาเลเซียค่าเงินอ่อนไปถึง 4.7 ริงกิตต่อดอลลาร์ และอินโดนิเซียค่าเงินอ่อนไปถึง 1.6 หมื่นรูเปียห์ต่อดอลลาร์ ซึ่งค่าเงินอ่อนไปกว่าตอนที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ว่ายังสามารถมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าไทย ซึ่งนโยบายที่ผ่านมาของ ธปท.ก็ต้องยอมรับว่ามีความผิดพลาดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายด้วยเช่นกัน
จะเห็นว่านอกจากช่องทางตามกฎหมายที่กำหนดให้กระทรวงการคลัง และ ธปท.ต้องมีการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินร่วมกันก่อนเสนอ ครม.พิจารณา การหารือระหว่างรัฐบาลและธปท.เพื่อปรับจูนกันให้เป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโต ควบคู่ไปกับการมีเสถียรภาพจะสามารถสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ประชาชน ตลอดจน สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและนักลงทุนได้ในที่สุด
IMCT News
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
© Copyright 2020, All Rights Reserved