19/9/2024
เกิดเหตุวิทยุสื่อสารของกลุ่มเฮซบอลลาห์ระเบิดหลายจุดในเลบานอน เมื่อวันพุธ เพิ่มดีกรีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับอิสราเอล หลังจากเหตุเพจเจอร์สังหาร คร่าชีวิต 12 ราย บาดเจ็บเกือบ 3,000 คนไปเมื่อวันอังคาร
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า มีเหตุระเบิดจากวิทยุสื่อสารของกลุ่มเฮซบอลลาห์ระเบิดในหลายพื้นที่ บริเวณที่จัดพิธีศพสมาชิกกลุ่มเฮซบอลลาห์ 3 คน และเด็ก 1 คนที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดเพจเจอร์ 1 วันก่อนหน้า อ้างอิงจากผู้สื่อข่าวเอพีที่อยู่ในจุดเกิดเหตุ ด้านกระทรวงสาธารณสุขเลบานอน ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 ราย และบาดเจ็บกว่า 450 คน
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงเผยกับรอยเตอร์ว่า วิทยุสื่อสารเป็นอุปกรณ์ที่กลุ่มเฮซบอลลาห์เพิ่งซื้อมาใช้เมื่อ 5 เดือนก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่กลุ่มติดอาวุธนี้ซื้อเพจเจอร์มาใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน เพื่อหลบเลี่ยงการที่อิสราเอลสามารถติดตามและเก็บข้อมูลการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ของกลุ่มติดอาวุธนี้ได้
ทั้งกลุ่มเฮซบอลลาห์และทางการเลบานอนต่างกล่าวหาอิสราเอลว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีเมื่อวันอังคาร
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงเลบานอนและแหล่งข่าวอีกรายหนึ่ง ยืนยันกับรอยเตอร์ว่า หน่วยข่าวกรองมอสสาด (Mossad) ของอิสราเอล ซึ่งมีประวัติมายาวนานเกี่ยวกับการทำปฏิบัติการอันซับซ้อนในต่างประเทศ ได้ติดระเบิดไว้ภายในเพจเจอร์ที่นำเข้ามาให้กลุ่มเฮซบอลลาห์ ไม่กี่เดือนก่อนเหตุระเบิดเมื่อวันอังคาร ซึ่งคร่าชีวิต 12 คน โดย 2 คนในนั้นเป็นเด็ก และบาดเจ็บเกือบ 3,000 คน ซึ่งผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ และมีทูตอิหร่านประจำเลบานอนได้รับบาดเจ็บด้วย
ที่กรุงไคโร รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพุธว่า สหรัฐฯ ไม่รับรู้มาก่อนและไม่เกี่ยวข้องกับเหตุเพจเจอร์สังหารในวันอังคาร ขณะที่แสดงความกังวลว่าสงครามจะลุกลามขยายวงกว้างไปทั่วตะวันออกกลาง
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ บาดร์ อับเดลัตตี กล่าวที่กรุงไคโรว่า “เราย้ำชัดถึงความสำคัญของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจุยกระดับความขัดแย้ง” และขอให้ทุกฝ่ายมีความยับยั้งชั่งใจในการกระทำใด ๆ ก็ตามที่อาจทำให้ความบาดหมางรุนแรงขึ้น พร้อมประณามเหตุระเบิดในวันอังคารและการกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียวอันเป็นการละเมิด “อธิปไตยของเลบานอน” และว่า “เรากำลังเข้าใกล้สงครามเต็มรูปแบบแล้ว”
โจเซพ บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงสหภาพยุโรป กล่าวว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “น่ากังวลอย่างยิ่ง และได้หารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศเลบานอนแล้ว
ส่วนที่กรุงมอสโก โฆษกรัฐบาลทำเนียบเครมลิน ดมิทรี เพสคอฟ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพุธว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเลบานอน “กำลังนำไปสู่ความตึงเครียดที่ยกระดับขึ้นอย่างแน่นอน .. ในภูมิภาค[ตะวันออกกลาง]เองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่พร้อมปะทุได้ทุกเมื่อ .. และทุกเหตุการณ์รูปแบบนี้มีโอกาสที่จะเป็นชนวนเหตุได้ทั้งสิ้น”
โวลเคอร์ เติร์ก (Volker Türk) ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการสืบสวนอิสระเกี่ยวกับเหตุระเบิดเพจเจอร์เมื่อวันอังคาร
ด้านบริษัทเพจเจอร์ไต้หวัน โกลด์ อะพอลโล (Gold Apollo) ปฏิเสธว่าเป็นผู้ผลิตเพจเจอร์ที่จุดชนวนระเบิดในเลบานอน และว่าเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตโดยบริษัทบีเอซี (BAC) ที่มีสำนักงานอยู่ในฮังการี ซึ่งมีใบอนุญาตผลิตเพจเจอร์ของบริษัท
ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางและสหรัฐฯ ให้ข้อมูลกับสื่อสหรัฐฯ ว่าพวกเขาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่อิสราเอลขัดขวางการจัดส่งเพจเจอร์เพื่อบรรจุระเบิดเข้าไปในอุปกรณ์นี้ก่อนถึงมือเฮซบอลลาห์ในเลบานอน
โมฮานัด ฮัค อาลี จาก Carnegie Middle East Center ให้ทัศนะกับรอยเตอร์ว่า “เฮซบอลลาห์ต้องการหลีกเลี่ยงสงครามเต็มรูปแบบ แต่ด้วยขนาดของการโจมตีและผลต่อครอบครัวและผู้บริสุทธิ์แล้ว จะมีแรงกดดันให้ตอบโต้รุนแรงขึ้น”
ฝั่งอิสราเอลไม่ให้ความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเหตุเพจเจอร์ระเบิด ที่เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังอิสราเอลประกาศเพิ่มเป้าหมายใหม่ในสงครามกาซ่า ซึ่งรวมถึงการปกป้องดินแดนตอนเหนือของอิสราเอลจากการโจมตีด้วยจรวดของเฮซบอลลาห์
ในวันพุธ เฮซบอลลาห์ กลุ่มติดอาวุธที่แข็งแกร่งที่สุดที่อิหร่านให้การสนับสนุน ออกแถลงการณ์ว่า ได้ยิงจรวดโจมตีพิกัดปืนใหญ่ของอิสราเอล ซึ่งถือเป็นการโจมตีโต้กลับหลังเหตุระเบิดเพจเจอร์ ที่ทำให้นักรบเฮซบอลลาห์บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทางกลุ่มติดอาวุธนี้ยังได้ระบุว่าจะเดินหน้าต่อสู้กับอิสราเอลเพื่อสนับสนุนกลุ่มฮามาสในกาซ่าต่อไป และว่าอิสราเอลควรรอรับการลงโทษอย่างรุนแรง
จนถึงขณะนี้ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ยังมุ่งเน้นอยู่ในกาซ่า ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขกาซ่า ที่บริหารงานโดยฮามาส ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 41,000 คน แต่อิสราเอลระบุว่า ผู้เสียชีวิตจำนวนดังกล่าวมีนักรบฮามาสอยู่ราว 17,000 คน
ทว่าปัจจุบันสงครามได้ขยายวงไปที่เลบานอน เจ้าหน้าที่อิสราเอลบางส่วนเรียกร้องให้เดินหน้าปฏิบัติการภาคพื้นดินเพื่อผลักกลุ่มเฮซบอลลาห์ออกไปจากพรมแดน และเปิดทางให้ชาวอิสราเอลทางตอนเหนือของประเทศได้กลับบ้าน
แต่กลุ่มเฮซบอลลาห์ ระบุว่าจะยุติการโจมตีก็ต่อเมื่อมีข้อตกลงหยุดยิงในกาซ่าระหว่างอิสราเอลและฮามาสเกิดขึ้นแล้ว
เฮซบอลเลาะห์ประกาศเดินหน้าโจมตีอิสราเอลต่อ
กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ประกาศเดินหน้าโจมตีอิสราเอลต่อไป โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสนับสนุนฉนวนกาซา ซึ่งกำลังเผชิญกับสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากอิสราเอล พร้อมยืนยันว่าความโหดร้ายที่อิสราเอลก่อขึ้นซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตในเลบานอน จะยิ่งทำให้กลุ่มมุ่งมั่นเดินหน้าต่อสู้และต่อต้านต่อไป
“เรามั่นใจอย่างยิ่งว่าจะได้รับชัยชนะ” แถลงการณ์ของขบวนการดังกล่าวระบุในวันพุธ (18 ก.ย.) โดยมีขึ้นหลังจากเกิดเหตุระเบิดพร้อมกันหลายจุดทั่วเลบานอนเมื่อวันอังคาร (17 ก.ย.) ซึ่งรายงานระบุว่า อุปกรณ์ที่ฝังไว้ในอุปกรณ์สื่อสารไร้สายที่เรียกว่าเพจเจอร์ ถูกจุดชนวนระเบิดในสถานที่ต่างๆ พร้อมๆ กัน
ก่อนหน้านี้ เฮซบอลเลาะห์กล่าวว่า หลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดเกี่ยวกับการโจมตีแล้ว พวกเขาถือว่าระบอบการปกครองของอิสราเอล "ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่สำหรับการรุกรานครั้งนี้ โดยกลุ่มต่อต้านในเลบานอนจะยังคงดำเนินการต่อไป เช่นเดียวกับทุกๆ วันที่ผ่านมา โดยจะให้การสนับสนุนฉนวนกาซา ประชาชน และขบวนการต่อต้านต่อไป" พร้อมกล่าวเสริมว่า ปฏิบัติการดังกล่าวจะทำหน้าที่ "ปกป้องเลบานอน ประชาชน และอำนาจอธิปไตย" ด้วย
นอกจากนี้ เฮซบอลเลาะห์ก็ยังยืนยันด้วยว่า ปฏิบัติการสนับสนุนฉนวนกาซาที่ดำเนินการอยู่นั้น "แยกออกจากการถูกลงโทษอย่างรุนแรงที่ศัตรูที่เป็นอาชญากรต้องเผชิญสำหรับการสังหารหมู่ที่ก่อขึ้นเมื่อวันอังคาร (17 ก.ย.)" พร้อมแสดงความห่วงใยต่อผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิดแล้ว
สำหรับอิสราเอลได้เปิดฉากสงครามในฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปีที่แล้ว (2023) เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการตอบโต้ของกลุ่มต่อต้านในฉนวนกาซา การโจมตีทางทหารดังกล่าวได้คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปแล้วอย่างน้อย 41,252 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 95,497 ราย
ด้านเฮซบอลเลาะห์ได้จัดการโจมตีหลายร้อยครั้ง ทั้งเพื่อสนับสนุนชาวกาซาที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม และเพื่อตอบโต้การโจมตีของอิสราเอลที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยได้กำหนดเป้าหมายที่ดินแดนของเลบานอนตั้งแต่เริ่มสงครามในดินแดนปาเลสไตน์
ไต้หวันถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งตะวันออกกลาง หลังเหตุเพจเจอร์ระเบิดในเลบานอน
อุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สำคัญของไต้หวันถูกดึงเข้าไปเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองตะวันออกกลางโดยไม่รู้ตัว หลังจากมีการเปิดเผยว่าอุปกรณ์เพจเจอร์หลายพันเครื่องที่ระเบิดและใช้สังหารสมาชิกกลุ่มฮิซบูลเลาะห์ของเลบานอนนั้นผลิตขึ้นโดยใช้แบรนด์ของบริษัทไต้หวัน
Gold Apollo บริษัทเทคโนโลยีของไต้หวัน ปฏิเสธเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่าไม่ได้ผลิตเพจเจอร์รุ่น AR-924 ที่ระเบิดขึ้นจำนวนมากในเลบานอน โดยระบุว่าเพจเจอร์ดังกล่าวผลิตโดยบริษัทในยุโรปที่มีชื่อว่า BAC ผ่านข้อตกลงอนุญาตให้ใช้แบรนด์ดังกล่าว
Gold Apollo กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ตามข้อตกลง เราอนุญาตให้ BAC ใช้เครื่องหมายการค้าของเราสำหรับการขายผลิตภัณฑ์ในภูมิภาคที่เฉพาะเจาะจง แต่การออกแบบและการผลิตผลิตภัณฑ์นั้นดำเนินการโดย BAC ทั้งหมด” พร้อมเสริมว่า “เราให้การอนุญาตเครื่องหมายการค้าของแบรนด์เท่านั้นและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบและการผลิตผลิตภัณฑ์นี้”
กระทรวงเศรษฐกิจของไต้หวันระบุว่าไม่มีบันทึกการส่งออกเพจเจอร์โดยตรงไปยังเลบานอน และอุปกรณ์ดังกล่าวอาจได้รับการดัดแปลงหลังจากการผลิต กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันไม่ได้ตอบกลับคำขอแสดงความคิดเห็นในทันที
ด้านสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์สและสำนักข่าวรอยเตอร์ได้อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่ไม่เปิดเผยชื่อ โดยรายงานว่าเจ้าหน้าที่อิสราเอลได้ใส่วัตถุระเบิดจำนวนเล็กน้อยลงในเพจเจอร์ก่อนจะเกิดการระเบิด แต่อิสราเอลก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ
นักวิเคราะห์ในไต้หวันแสดงความสงสัยว่ารัฐบาลไต้หวันหรือ Gold Apollo นั้นเต็มใจมรส่วนร่วมในเหตุโจมตีครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งทางการเลบานอนระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 9 รายและบาดเจ็บอีกกว่า 2,700 ราย แต่เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงดึงความสนใจไปที่ไต้หวันและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์เป็นสัดส่วนที่มากที่สุดที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมดทั่วโลก
ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติไต้หวันกล่าวว่าเขา "ตกใจ" เมื่อได้ยินข่าวนี้และผู้คนบนเกาะไต้หวั่นก็รู้สึกกังวลด้วย โดยกล่าวว่า “แม้ว่าไต้หวันจะมีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ในทุกด้าน แต่ผมไม่เชื่อว่าบริษัทในไต้หวันจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับแผนการสังหารหมู่แบบนี้ เมื่อพิจารณาว่าไต้หวันเป็นสังคมเปิดและเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ การเสนอแนะแนวคิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และไม่น่าคิด” พร้อมเสริมว่า “ผมไม่คิดว่าบริษัท Gold Apollo จะไม่เป็นมืออาชีพหรือโง่เขลาถึงขนาดเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องนี้”
แม้ว่าไต้หวันไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่เหตุการณ์นี้ก็ยังคงสร้างคำถามที่ไม่สบายใจสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไต้หวันในอนาคต เนื่องจากมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายเทคโนโลยีจาก National Taiwan Ocean University กล่าวกับ Al Jazeera ว่า “เหตุการณ์นี้จะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมไต้หวั่น”
เขากล่าวด้วยว่า “อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไต้หวันเคยคิดว่าพวกเขาเป็นเพียงผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง พวกเขาทำธุรกิจของตัวเอง แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว” โดยการเปิดเผยครั้งนี้ยังนำผลกระทบจากสงครามในฉนวนกาซามาสู่ไต้หวันอีกด้วย
โดยปกติแล้ว ไต้หวันจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระดับโลกและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยกเว้นในกรณีที่เกี่ยวข้องกับจีน ซึ่งรัฐบาลของจีนในกรุงปักกิ่งอ้างสิทธิ์เกาะปกครองตนเองแห่งนี้เป็นจังหวัดหนึ่ง
ตั้งแต่สงครามในฉนวนกาซาเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ไต้หวันแทบไม่ได้เปิดเผยจำนวนผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์เลย แม้ว่าจะประณามการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมก็ตาม ไต้หวันยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล ซึ่งเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ไม่รับรองไต้หวันอย่างเป็นทางการ แต่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ
แม้ว่าไต้หวันจะเป็นหนึ่งในรัฐบาลที่โดดเดี่ยวทางการทูตมากที่สุดในโลก โดยมีพันธมิตรอย่างเป็นทางการเพียง 12 ประเทศ แต่ไต้หวันก็มีอิทธิพลในระดับโลกเหนือกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องมาจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอันทรงพลัง
IMCT News
ที่มา: วีโอเอ, รอยเตอร์, เอพี