Thailand
ขอบคุณภาพจาก RT
18/9/2024
ในช่วงที่เงินได้มาอย่างง่ายๆ สินทรัพย์เสี่ยงเช่น หุ้น ก็มีแนวโน้มจะให้ผลตอบแทนที่ดี เพราะบรรดานักลงทุนต่างไล่ซื้อหุ้นกันอย่างสนุกสนาน แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคือง สินค้าโภคภัณฑ์ก็จะกลายมาเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย สำหรับนักลงทุนจำนวนมาก และตอนนี้ มันก็ถึงช่วงขาขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์แล้ว
สองครั้งหลังสุดที่เราเห็นการพุ่งขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์ก็คือเมื่อปี 1971 และ 2000 จากการทวีตของผู้ก่อตั้ง MN Consultancy ซึ่งระบุว่า สินค้าโภคภัณฑ์และคริปโตถูกประเมินราคาต่ำเกินไป และตอนนี้ ก็มีแนวโน้มว่า สินค้าโภคภัณฑ์และคริปโตกำลังเข้าสู่ช่วงขาขึ้นยาวนาน 10 ปี
สินค้าโภคภัณฑ์ในปัจจุบัน มีมูลค่าต่ำกว่าในยุคฟองสบู่ดอทคอมเมื่อปี 2000 และในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินเมื่อปี 2008 เสียอีก และถ้าประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง สินค้าโภคภัณฑ์ก็จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะบรรดานักลงทุนถอยหนีจากตลาดหุ้นที่ร้อนแรงเกินไป
บรรดานักวิเคราะห์จาก Bank of America ก็มองแบบนี้เช่นกัน โดยบอกว่า การพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เพิ่งแค่เริ่มต้นเท่านั้น และแนะนำให้บรรดานักลงทุนควรกระจายพอร์ตมาที่สินค้าโภคภัณฑ์ แทนที่ตราสารหนี้ ในอัตราส่วน 60/40
พวกเขายังมองว่า สินค้าโภคภัณฑ์ดีดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2020 เป็นแค่การเริ่มต้น โดยมีปัจจัยมาจากหนี้ การขาดดุล ข้อมูลประชากร การตีกลับของกระแสโลกาภิวัฒน์ เอไอ นโยบายที่ให้ควบคุมอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และปัญหาเงินเฟ้อ
ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา สินค้าโภคภัณฑ์ให้ผลตอบแทนกลับมา 116% ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ทำให้เงินหายไป 39% ผลตอบแทนจากดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ต่อปี มีตั้งแต่ 10% - 14% แม้เงินเฟ้อจะร่วงลง หรือ เฟดคงอัตราดอกเบี้ยต่ำก็ตาม
ประธานและซีอีโอของ United Educators มองว่า วงจรขาขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์ มักจะยาวนานเกิน 5 ปี บางช่วงก็ยาวนานหลายสิบปี
วงจรขาขึ้นมักเกิดขึ้นในช่วงที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่งสัญญาณว่าจะขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนในปริมาณของที่มีอยู่ แต่สินค้าโภคภัณฑ์แต่ละอย่างก็มีรูปแบบต่างกันไป วงจรจะเริ่มเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์มีเข้ามา และท้ายสุด ความต้องการซื้อก็จะแซงหน้าปริมาณที่มีอยู่ นำไปสู่ราคาที่พุ่งขึ้น และเนื่องจากบรรดาผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ก็ไม่ได้แน่ใจว่า ราคาที่พุ่งขึ้นนี้ จะอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่ พวกเขาจึงยังไม่เร่งการผลิต ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างความต้องการซื้อ กับ ปริมาณของที่มีอยู่ ถ่างขึ้นเรื่อยๆ ราคาจึงยิ่งดีดขึ้นไม่หยุด
และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ราคาที่สูงขึ้น จะดึงดูดให้ผู้ผลิต ลงทุนเพิ่มเพื่อผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น จากนั้น ช่องว่างระหว่างอุปสงค์กับอุปทานจะเริ่มแคบเข้า และเมื่ออุปทานแซงหน้าอุปสงค์ ราคาก็จะเริ่มร่วงลง และแม้ราคาจะเริ่มดิ่งลงแล้ว แต่อุปทานก็จะยังมีเพิ่มขึ้นต่อไป เพราะผู้ผลิตได้ลงทุนผลิตเพิ่มไปแล้ว ดังนั้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็จะดิ่งลงสักระยะหนึ่งเช่นกัน เข้าสู่วงจรขาลง
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้นมากสุดในปี 1996 และ 2011 จากความต้องการวัตถุดิบที่มีเข้ามามาก เพราะอุตสาหกรรมขยายตัวรวดเร็วในตลาดหลายแห่ง เช่น บราซิล อินเดีย รัสเซีย และโดยเฉพาะจีน
ส่วนการที่กลุ่ม G-20 ต้องการให้เปลี่ยนผ่านพลังงานเข้าสู่ยุคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็มีผลกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์เช่นกัน เช่นรถไฟฟ้า ทำให้ความต้องการทองแดงมีเข้ามามาก คาดว่า จะขยายตัว 53% มาอยู่ที่ 39 ล้านตันก่อนปี 2040 จากข้อมูลของ BloombergNEF โลหะที่ใช้ทำแบตเตอรี่ เช่น ลิเธียม โคบอลต์ และนิกเกิ้ล ก็ขยายตัวเร็วขึ้นเช่นกัน ความต้องการที่มีเข้ามา จะเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ก่อนปี 2030 โดยเฉพาะลิเธียมที่มีความต้องการพุ่งเร็วสุดถึง 7 เท่า
แต่วงจรขาขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์ ก็อาจก่อปัญหาเงินเฟ้อได้ ธนาคารกลางสหรัฐจึงต้องทำบางสิ่งเพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และคุมเข้มการเงินด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งแม้เฟดได้ทำเช่นนั้นแล้ว โดยให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ประมาณ 5% ผลตอบแทนตราสารหนี้สูงขี้น และดอลลาร์แข็งค่า แต่สินค้าโภคภัณฑ์ก็ยังมีราคาขาขึ้นอยู่ดี โลหะเงินและทองคำมีราคาพุ่งขึ้น 20% แล้วในปีนี้ ทองแดงตอนนี้ มีราคาร่วงลงมาจาก 5 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 4.22 ดอลลาร์ ต่อปอนด์ แต่เจ้าของเหมืองก็ยังได้กำไรอยู่ดี และหากเฟดเริ่มลดดอกเบี้ย ดอลลาร์ก็จะอ่อนค่าลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมดก็จะยิ่งพุ่งขึ้น
By IMCT News
© Copyright 2020, All Rights Reserved