Thailand
สหรัฐ vs จีน: ใครพึ่งพาใคร? (3)
8/3/2024
ทำไมเฮ็นรี่ คิสซิงเจอร์ ( คศ.1923- คศ. 2023) จึงดำเนินนโยบายยุทธศาสตร์ที่ช็อคโลกด้วยการเคาะประตูกำแพงเมืองจีนในปีคศ 1971 เพื่อปูทางการสร้างสัมพันธไมตรีด้านการทูตระหว่างสหรัฐและจีน และเปิดทางให้บริษัทอเมริกันและบริษัทข้ามชาติย้ายฐานผลิตมาจีนเพื่อสร้างให้จีนเป็นโรงงานของโลก?
คิสซิงเจอร์เป็นยิวเยอรมัน-อเมริกันเดินทางมาอยู่สหรัฐต้องแต่เด็กโดยที่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักประโยคเดียว แต่ด้วยสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด เขาสามารถเข้าไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และสอนหนังสือที่นั่นด้านการเมืองระหว่างประเทศ ก่อนที่เข้าสู่แวดวงทางการเมือง และสามารถก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสภาความมั่งคง และรมว ต่างประเทศของสหรัฐสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด
เขามีบทบาทในการเจรจายุติสงครามเวียดนาม และได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่สำคัญ คิสซิงเจอร์เป็นผู้ที่สร้างเปโตรดอลล่าร์ โดยให้ซาอุฯและประเทศผู้ผลิตน้ำมันขายน้ำมันเป็นเงินสกุลดอลล่าร์เท่านั้นเพื่อแลกกับการที่สหรัฐให้ความคุ้มครองด้านการทหาร และขายอาวุธให้ มันเป็นข้อเสนอที่ซาอุฯปฏิเสธไม่ได้ เพราะว่ามิเช่นนั้นแล้วสหรัฐจะส่งทหารอเมริกันเข้าไปยึดบ่อน้ำมันซาอุฯเอาดื้อๆ
แต่ผลงานที่สุดยอดที่สุดของคิสซิงเจอร์คือการเปิดสัมพันธไมตรีกับจีนในยุคสงครามเย็น เพื่อ
1.ลดความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในทวีปเอเชีย เพื่อว่าสหรัฐจะได้ทุ่มทรัพยากรในการทำลายสหภาพโซเวียต
2. ปูทางให้บริษัทอเมริกันและบริษัทข้ามชาติเข้าไปลงทุนในจีนเพื่อผลิตแล้วส่งกลับไปยังตลาดสหรัฐสหรัฐ ยุโรป และทั่วโลกเพราะว่าจีนมีแรงงานถูก และต่อไปจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะว่าจีนมีประชากรมากที่สุดในโลก
3. รักษาสถานภาพการเป็นเงินสกุลหลักของโลกของดอลล่าร์โดยให้จีนเป็นที่รองรับของดอลล่าร์กระดาษ ต่อยอดจากเปโตรดอลล่าร์ที่ซาอุฯแบกรับไปแล้ว โดยที่จีนจะส่งออกสินค้าเพื่อรับเงินดอลล่าร์ แล้วเอาดอลล่าร์นั้นรีไซเกิ้ลกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อเก็บเป็นรีเสิร์ฟ ทำให้เกิดดีมานด์สำหรับดอลล่าร์
คิสซิงเจอร์ เป็นนักภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอิทธิพลที่สุดในโลกในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เขาเป็นมือทำงานให้อิลิทโลก โดยมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐเสียอีก เขาเสียชีวิตในปีที่แล้ว โดยมีอายุรวม99ปี) ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง อังกฤษรู้ตัวดีว่าไม่สามารถรักษาอำนาจ ความเชื่อมั่นในเงินปอนด์ และอิทธิพลของจักรวรรดิได้เหมือนเดิม จึงมีการเตรียมผ่องถ่ายให้สหรัฐเป็นมหาอำนาจของโลกแทน เพื่อว่าอังกฤษจะยังคงรักษาอำนาจได้ผ่านการทำงานร่วมกับ หรือสร้างอิทธิพลทางลับเหนือสหรัฐผ่านซิตี้ ออฟ ลอนดอน หรือหน่วยงานทางความมั่นคงMI6
อังกฤษเป็นเจ้ากี้เจ้าการจัดประชุมระหว่างประเทศในปี1944ที่New Hampshireประเทศสหรัฐ เพื่อวางโครงสร้างการเงินโลกใหม่ โดยให้John Maynard Keynes นักเศรษฐศาสตร์อังกฤษที่ต่อมาเป็นเจ้าของทฤษฎีKeynesian Economicsเป็นผู้เดินเรื่อง ผลก็คือดอลล่าร์ผงาดขึ้นมาเป็นเงินสกุลหลักของโลกอย่างเป็นทางการภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่Bretton Woods โดยที่ค่าเงินดอลล่าร์ผูกกับทองคำที่อัตรา35เหรียญต่อทองคำ1ออนซ์ และประเทศต่างๆเอาเงินสกุลตัวเองผูกกับดอลล่าร์ ซึ่งจะเท่ากับผูกค่าเงินกับทองคำโดยปริยาย
ในแง่หนึ่งระบบการเงินโลกมีเสถียรภาพ เพราะว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ทำให้ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ไม่เหมือนยุคปัจจุบัน ที่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนโลกเป็นแบบลอยตัว ทำให้ตลาดการเงินผันผวนสูง และมีความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน มีการนำเอาทองคำที่ได้จากการล่าอาณานิคม การยืม การรับฝากทองคำประเภทไม่รับทวงคืนจากประเทศต่างๆ แล้วขนไปไว้ที่สหรัฐอเมริกาช่วงก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2เพื่อเป็นรีเสิร์ฟสำหรับสหรัฐในการผลักดันให้ดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก ทำให้สหรัฐมีทองคำประมาณ 20,000 กว่าตัน หรือ 2ใน 3 ของทองคำสำรองทั้งหมดของโลก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ความมั่นคงในฐานะการเงินของสหรัฐ และที่สำคัญที่สุดเพื่อหนุนเงินดอลล่าร์ให้เป็นเงินสกุลหลักของโลกแทนเงินปอนด์ของอังกฤษ
หลังสงครามโลกคร้ังที่ 2 สหรัฐสร้างองค์กรระหว่างประเทศขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นยูเอ็น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือธนาคารโลกขึ้นมารองรับระเบียบโลกใหม่ทางการเมือง และทางการเงินระหว่างประเทศ ยูเอ็นจะทำหน้าที่เหมือนรัฐบาลโลก ส่วนไอเอ็มเอฟจะดูแลเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงินโลก และดุลชำระเงินของประเทศสมาชิก และจะเป็นผู้ให้กู้ดอลล่าร์ในกรณีที่ประเทศใดเกิดปัญหาต้มยำกุ้งเหมือนประเทศไทยเคยประสบในปี 1997 ส่วนธนาคารโลกจะเน้นการปล่อยกู้เงินดอลล่าร์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อฟื้นฟูประเทศต่างๆที่ประสบกับความหายนะของสงคราม
อังกฤษถอยไปอยู่หลังฉาก ค่อยๆปล่อยประเทศภายใต้อาณานิคมได้รับเอกราช แล้วทำการปฏิรูประบบจักรวรรดิ ที่ไม่สามารถจะรักษาความยั่งยืนต่อไปได้ แทนที่จะใช้ทหารไปยึดครองและส่งตัวแทน (Governor)ไปปกครองดินแดนอาณานิคมเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติ อังกฤษปล่อยให้อาณานิคมได้รับอิสระภาพ แล้วให้ประเทศเหล่านี้กลับมาเป็นสมาชิกของเครือจักรภพอังกฤษ (British Common Wealth) แทน
ในระบบเครือจักรภพ อังกฤษคาดว่าจะยังคงรักษาอิทธิพลเหนือประเทศอาณานิคมเดิม ผ่านอุดมการณ์ความความเชื่อ การศึกษา โครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเงิน หรือสังคมระบบกฎเกณฑ์ที่อังกฤษวางเอาไว้ เพื่อครอบงำโดยที่ประเทศอาณานิคมเดิมไม่รู้สึกตัว
ในปัจจุบันเครือคอมมอนเวลท์มีสมาชิก 54 ประเทศและมีประชากรรวมกัน 2,400 ล้านคน โดยมีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของคอมมอนเวลท์ ช่วงสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ อังกฤษมีความคิดจะดึงเอาสหรัฐให้เข้าไปเป็นสมาชิกของบริตทิส คอมมอนเวลท์ เพราะว่าสหรัฐเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และได้รับอิสรภาพตั้งแต่ปี 1776 แต่เรื่องนี้ดูเงียบหายไป
สหรัฐเข้าสู่ยุคทองของการสร้างประเทศหลังจากเป็นประเทศผู้ชนะสงครามโลกคร้ังที่ 2 เศรษฐกิจสหรัฐมีขนาดใหญ่ที่สุด และมีความแข็งแกร่งที่สุดในโลก แต่สหรัฐกลับนำพาประเทศเข้าสู่สงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต เพื่อล้มคู่แข่ง และก่อสงครามเวียดนามเพื่อทดลองอาวุธ
ประธานาธิบดีเคนาดี้ไม่เห็นด้วยกับสงครามเวียดนาม และต้องการล้มรัฐบาลเงาที่ครอบงำสหรัฐในเบื้องหลัง รวมท้ังต้องการยกเลิกระบบธนาคารกลางสหรัฐที่อยู่ภายใต้การควบคุมของWall Street เขาจึงถูกลอบสังหารในปี 1963
หลังจากนั้น สหรัฐเดินหน้าใช้จ่ายแบบเกินตัว ท้ังภาระงบประมาณทางทหารและสวัสดิการสังคม ทำให้ขาดดุล และมีการพิมพ์เงินเกินทองคำสำรอง หลายประเทศที่ถือดอลล่าร์ในรีเสิร์ฟมีการเอาดอลล่าร์ไปขึ้นทองคำ ส่งผลให้ทองคำสำรองของสหรัฐร่อยหรอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส ที่มองว่าสหรัฐได้เปรียบประเทศอื่น
หรือมีสิทธิพิเศษ (exorbitant privilege) เนื่องจากมีดอลล่าร์เป็นเงินรีเสิร์ฟของโลก สหรัฐไม่ต้องห่วงว่าจะพิมพ์เงินออกมาเท่าใดก็ได้เพื่อไฟแนนซ์การขาดดุล โดยไม่ต้องกลัวว่าดุลชำระเงินจะล้มละลายจากเงินทุนไหลออก เพราะว่าพิมพ์ดอลล่าร์ออกมาทุกประเทศยอมรับหมด
ส่วนประเทศอื่นๆ กว่าจะหาทองคำ หรือดอลล่าร์มาใช้ได้ต้องขายทรัพยากรธรรมชาติ หรือออกแรงทำงานหนัก ทำให้สหรัฐพิมพ์เงินเกินสำรองทองคำของตัวเอง
ในปี 1965 ประธานาธิบดีชาร์ลส เดอ โกลของฝรั่งเศสบอกว่าสหรัฐเล่นพิมพ์เงินดอลล่าร์ใช้จ่ายเกินตัวแบบนี้ ฝรั่งเศสขอเอาดอลล่าร์จากรีเสิร์ฟไปแลกทองคำคืนฝรั่งเศสส่งเรือรบข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อเอาดอลล่าร์ไปแลกทองคำ และขนทองคำกลับมายังฝรั่งเศส แต่สหรัฐไม่ยอม
อย่างไรก็ตาม ทองคำสำรองของสหรัฐร่อยหรอลงมาอย่างรวดเร็ว จาก 20,000 กว่าตัวเหลือ 8,000 กว่าตัน จนกระทั่งมาถึงปี 1971 สมัยของประธานาธิบดีนิกสัน สหรัฐทนไม่ไหว ประกาศยกเลิกการแลกดอลล่าร์เพื่อทองคำ เท่ากับว่าสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ และเป็นการปิดฉากระบบ Bretton Woodที่มีอายุขัยเพียง21ปี
ตั้งแต่นั้นมาดอลล่าร์กลายเป็นกระดาษ fiat moneyที่ไม่มีทองคำหรือทรัพย์สินอะไรรองรับ ในขณะที่ประเทศต่างๆ ต้องสำรองทองคำ และต้องจำใจรับดอลล่าร์เป็นเงินทุนสำรองเพื่อหนุนเงินธนบัตรของตัวเอง เพราะว่าเงินสกุลส่วนมากไม่เป็นที่ยอมรับในการทำการค้า หรือทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ
ดอลล่าร์กระดาษจะอยู่ยงคงกระพันได้ไม่นาน ถ้าไม่มีทรัพย์ิสนอะไรหนุนหลังเพื่อสร้างความมั่นใจ คิสซิงเจอร์จึงคิดเอาบ่อน้ำมันซาอุและทั้งตะวันออกกลางมาการันตีดอลล่าร์ อันนำไปสู่การสร้างเปโตรดอลล่าร์ โดยบีบให้ซาอุฯและประเทศผู้ผลิตน้ำมันต้องขายน้ำมันในรูปสกุลเงินดอลล่าร์เท่านั้น เพื่อแลกกับการการรันตีความมั่นคงให้ ประเทศต่างๆจำต้องสำรองดอลล่าร์ต่อไปเพื่อซื้อน้ำมันที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ต่อจากนั้น คิสจิงเจอร์เดินเกมสร้างจีนให้เป็นลูกไล่ทางเศรษฐกิจ เหมือนกับที่ได้สร้างเยอรมันนีและญี่ปุ่นประเทศผู้แพ้สงครามโลกก่อนหน้านี้ให้เป็นลูกไล่ทางเศรษฐกิจโดยที่จีนจะกลายเป็นฐานผลิตของโรงงานบริษัทอเมริกันและต่างชาติ เมื่อผลิตสินค้าออกมาแล้วก็ส่งออกกลับไปยังตลาดสหรัฐและตลาดทั่วโลก
เมื่อจีนได้เงินดอลล่าร์จากการส่งออก จีนจะต้องเอาดอลล่าร์นั้นมารีไซเกิ้ลซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากดอลล่าร์กับธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ วิธีการนี้ช่วยสหรัฐในการไฟแนนซ์การขาดดุลงบประมาณส่วนจีนใช้ดอลล่าร์หนุนฐานะการเงิน หรือค่าเงินหยวน ซึ่งในตอนแรกไม่มีเสถียรภาพ หรือไม่เป็นที่ยอมรับในระบบการเงินระหว่างประเทศ เพราะเครดิตจีนยังไม่ดี
สหรัฐยกย่องคิสซิงเจอร์ที่สามารถใช้น้ำมันของซาอุฯ และระบบการผลิตของจีนเพื่อหนุนความน่าถือของดอลล่าร์ ท้ังๆที่ดอลล่าร์เป็นเงินกระดาษที่ในตัวมันเองไม่มีค่าอะไร เพราะว่าไม่ได้มีทรัพย์สินอะไรหนุนหลัง เป็นเงินกระดาษที่ธนาคารกลางสหรัฐเสกออกมาจากกลางอากาศเปล่าๆ
By Thanong Khanthong, Editor
IMCT News
© Copyright 2020, All Rights Reserved