ศึกชิง "ราชาทุเรียน" ในตลาดจีน! คู่แข่งหลายชาติรุกหนัก ไทยเสี่ยงหลุดจากตำแหน่ง
ขอบคุณภาพ: สำนักข่าวซินหัว
3/5/2024
จากข้อมูลการนำเข้าทุเรียนของจีนชี้ชัด เวียดนาม-ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย กำลังขยายตลาดทุเรียนในแดนมังกรอย่างต่อเนื่อง กัดกินส่วนแบ่งของทุเรียนไทยที่ครองความเป็นหนึ่งมาอย่างยาวนาน
สำนักข่าวซินหัว รายงานจากศุลกากรนครหนานหนิงในจีนรายงานว่า ด่านโหย่วอี้กวนหรือด่านมิตรภาพบนพรมแดนจีน-เวียดนามในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนสดในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2566 รวมทั้งสิ้น 48,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.85 พันล้านหยวน (ประมาณ 9.25 พันล้านบาท)
โดยจากปริมาณทุเรียนสดที่นำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวนนั้น เป็นทุเรียนจากเวียดนาม 35,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่า 1.28 พันล้านหยวน (ประมาณ 6.4 พันล้านบาท) ส่วนทุเรียนจากไทยนำเข้า 13,000 ตัน ลดลงร้อยละ 59.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 570 ล้านหยวน (ประมาณ 2.85 พันล้านบาท) ลดลงร้อยละ 63.5
สำหรับด่านโหย่วอี้กวนของกว่างซี ถือเป็นด่านบกขนาดใหญ่ที่สุดในการนำเข้าทุเรียนของจีน และเป็นตัวชี้วัดกระแสการบริโภคทุเรียนของตลาดจีน โดยมูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดผ่านด่านดังกล่าวในปี 2565 รวมอยู่ที่ 2.25 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 1.12 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 353 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ข้อมูลของสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่า ในปี 2565 จีนนำเข้าทุเรียนสดประมาณ 1.42 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.47 แสนล้านบาท) ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณทุเรียนที่นำเข้าทั้งหมดของจีน เป็นการนำเข้าผ่านทางด่านโหย่วอี้กวน
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้มองว่า การลดลงของปริมาณทุเรียนสดนำเข้าจากไทยผ่านด่านโหย่วอี้กวนในไตรมาสแรกของปี 2566 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ทุเรียนไทยเข้าสู่ตลาดจีนช้ากว่าปกติ รวมถึงผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศในแหล่งผลิตทุเรียนหลักของไทย
ทั้งนี้ข้อมูลการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนบ่งชี้ว่า สถานะความเป็น "ผู้นำ" ของทุเรียนไทยในตลาดจีนกำลังสั่นคลอน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการส่งออกทุเรียนไปยังจีนของแหล่งผลิตที่เริ่มพัฒนาในระยะหลัง เช่น เวียดนามและฟิลิปปินส์ ทำให้ทุเรียนไทยในตลาดจีนต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้น
ช่ายเจิ้นอวี่ ผู้จัดการบริษัท กว่างซี โอวเหิง อินเตอร์เนชันแนล โลจิสติกส์ จำกัด เผยว่า ก่อนปี 2565 บริษัทนำเข้าทุเรียนจากไทยเท่านั้น แต่ในปี 2565 ได้นำเข้าทุเรียนมากกว่า 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ เป็นทุเรียนจากไทยและเวียดนามในสัดส่วนที่เท่ากัน ตามความต้องการของผู้บริโภคทั่วจีน โดยระบุว่า การปลูกทุเรียนในไทยมักทำโดยครัวเรือนหรือชุมชน ในขณะที่การปลูกทุเรียนของเวียดนามเน้นการเพาะปลูกขนาดใหญ่ ประกอบกับข้อได้เปรียบจากระยะทางขนส่งที่สั้นกว่า ความเป็นอุตสาหกรรมระดับสูง และต้นทุนที่ต่ำกว่า ทำให้ทุเรียนเวียดนามมีโอกาสรุกคืบเข้าแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจีน
บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายประเทศได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดไปยังจีน ทำให้โครงสร้างตลาดทุเรียนของจีนเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยในอดีตทุเรียนไทยมีส่วนแบ่งตลาดในจีนมากที่สุดตลอดมา จนกระทั่งเวียดนามได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนในเดือนกันยายน 2564 ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของทุเรียนไทยในจีนปรับตัวลดลง
ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่า ในปี 2564 จีนนำเข้าทุเรียน 825,000 ตัน โดยเป็นทุเรียนจากไทยมากกว่า 780,000 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 95 แต่ในปี 2565 เมื่อจีนนำเข้าทุเรียน 1.42 ล้านตัน เป็นทุเรียนจากไทย 929,000 ตัน และจากเวียดนาม 493,000 ตัน ทำให้ส่วนแบ่งของทุเรียนเวียดนามในตลาดจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 30 ในช่วงเวลาเพียงปีเดียว และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน แม้ปริมาณทุเรียนสดที่ส่งออกจากฟิลิปปินส์ไปยังจีนจะยังไม่สูงมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยสำนักงานศุลกากรนครหนานหนิงระบุว่า ปริมาณทุเรียนที่ขนส่งด่วนผ่านท่าอากาศยานนานาชาติหนานหนิง อู๋ซวี ในไตรมาสแรกของปีนี้ รวมอยู่ที่ 1,201 ตัน ซึ่งมาจากไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยทุเรียนนำเข้าจากฟิลิปปินส์มีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สวี่เฉียง รองผู้จัดการบริษัทที่ให้บริการขนส่งทุเรียนทางอากาศ เผยว่า มีการนำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์ทางอากาศเป็นประจำทุกวัน โดยเฉลี่ยประมาณ 4 ตันต่อเที่ยวบิน ต้นทุนการขนส่งไม่สูงนัก เนื่องจากเป็นเที่ยวบินขากลับ อีกทั้งยังช่วยรักษารสชาติที่สดใหม่ด้วย
นอกเหนือจากเวียดนามและฟิลิปปินส์แล้ว ทุเรียนจากมาเลเซียก็กำลังขยายตลาดมายังจีนด้วย โดยมาเลเซียเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ทุเรียนแช่แข็งไปยังจีนตั้งแต่ปี 2554 และเริ่มส่งออกทุเรียนแช่แข็งทั้งลูกไปยังจีนในปี 2562
ข้อมูลจากหอการค้าแห่งประเทศจีนเพื่อการนำเข้าและส่งออกอาหาร ผลผลิตพื้นเมือง และผลผลิตพลอยได้จากสัตว์ ระบุว่า ปริมาณทุเรียนแช่แข็งที่มาเลเซียส่งออกไปยังจีนในปี 2565 อยู่ที่ 25,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34
นายฟาทิล อิสมาอิล กงสุลใหญ่มาเลเซียประจำนครหนานหนิง กล่าวว่า จีนกลายเป็นตลาดสำคัญสำหรับทุเรียนมาเลเซียหลังพัฒนามาหลายปี และปัจจุบันมาเลเซียกับจีนกำลังร่วมมือกันเพื่อให้มีการส่งออกทุเรียนสดจากมาเลเซียไปจีนได้
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้มองว่า ตลาดผู้บริโภคทุเรียนของจีนมีขนาดใหญ่ และความต้องการทุเรียนไทยจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป แต่ทุเรียนไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศอื่นๆ ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องเร่งรักษาข้อได้เปรียบทางการแข่งขันไว้ ด้วยการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด ยกระดับประสิทธิภาพด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อลดผลกระทบต่อสถานะ "ผู้นำ" ของทุเรียนไทยในตลาดจีน
IMCT NEWS
อ้างอิง สำนักข่าวซินหัว https://www.xinhuathai.com/china/433913_20240503