Thailand
ทูตอินเดียเขียนบทความพูดถึงสาเหตุที่เอธิโอเปียได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างรวดเร็ว ทั้งที่เศรษฐกิจยังไม่ดี และยังไม่ผ่านเกณฑ์ที่กลุ่ม BRICS ตั้งไว้ด้วยซ้ำ แต่นี่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่อาจทำให้เอธิโอเปียได้กลับมาผงาดอีกครั้ง
ขอบคุณภาพจาก fb Ibrahim Hassan
14/3/2024
บทความ The Change Face of Ethiopia ซึ่งเขียนขึ้นโดย Gurjit Singh ทูตอินเดียซึ่งเคยประจำอยู่ในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี อินโดนีเซีย เอธิโอเปีย อาเซียนและสหภาพแอฟริกัน และเขายังเป็นประธานกลุ่มปฏิบัติการส่งเสริมช่องทางการเติบโตของเอเชียแอฟริกา หรือ AAGC ในบทความได้กล่าวถึงเอธิโอเปียในหลายมิติ รวมถึงสาเหตุที่ตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS
บทความนี้โพสต์ลงในเว็บไซต์ infobrics.org มีเนื้อหาพูดถึง เหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สร้างความประหลาดใจอย่างมากเมื่อปี 2023 ก็คือการขยายตัวของ BRICS มี 6 ประเทศได้รับเชิญให้เข้าร่วม ได้แก่ อาร์เจนติน่า อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์
แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจอย่างที่สุด น่าจะเป็นการเชิญเอธิโอเปียให้เข้าร่วม ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของแอฟริกา และมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของทวีปนี้ เอธิโอเปียมองว่า ถ้าได้เข้าร่วมกับ BRICS ก็จะสร้างเสริมโอกาสให้ตัวเองได้
อียิปต์ ประเทศเพื่อนรักเพื่อนแค้นของเอธิโอเปีย เพราะมีความขัดแย้งกันอยู่เรื่องการแย่งชิงแม่น้ำไนล์ รวมถึงโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของเอธิโอเปีย เมื่อเห็นอียิปต์สมัครเข้าเป็นสมาชิก BRICS เอธิโอเปียจึงเอาด้วย เพราะไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ถ้ามองจากบริบทกว้างๆ เอธิโอเปียเคยมีเศรษฐกิจที่ยากจน ส่วนหนึ่งมาจากสงครามกลางเมืองยืดเยื้อ ทำให้ประเทศแตกแยกกัน จนมาถึงวันที่เอธิโอเปียกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจสดใสของแอฟริกา และล่าสุด ก็กลับมาเผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอีกครั้ง การเข้าร่วม BRICS ก่อให้เกิดความหวังว่า เอธิโอเปียจะหลุดพ้นจากความยากจน เศรษฐกิจตกต่ำและเกิดความขัดแย้งภายใน
เดิมที เอธิโอเปียเคยเป็นสุดที่รักของสหรัฐและตะวันตก เพราะเข้าร่วมต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายในโซมาเลีย แต่ตอนนี้ เอธิโอเปียยังคงแยกห่างจากสหรัฐ เนื่องจากสงครามในทีเกรย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับคู่อริเก่า คือ เอริเทรีย ความล้มเหลวของนโยบายสหรัฐในการเข้าควบคุมสงครามในครั้งนั้น ตลอดจนความวิตกด้านสิทธิมนุษยชนและการขาดแนวทางแก้ปัญหา ทำให้เอธิโอเปียถูกระงับจากผลประโยชน์ใดใดที่เคยได้จากข้อกฎหมาย American Growth and Opprtunities Act หรือ AGOA เมื่อต้นปี 2022 สร้างความไม่พอใจให้เอธิโอเปียเป็นอย่างมาก เพราะข้อกฎหมายนี้ช่วยให้เอธิโอเปียส่งสินค้าไปยังสหรัฐได้มากขึ้น และหลายชิ้นไม่ต้องเสียภาษี ทั้งสิ่งทอ รองเท้าหนัง ดอกไม้และพืชผัก
ด้วยเหตุนี้ เอธิโอเปียจึงหันมาเข้าร่วมกับ BRICS ทั้งที่รู้ดีว่า เป็นกลุ่มที่จีนและรัสเซียหนุนหลังอยู่ เอธิโอเปียเลือกแล้วจะเล่นไพ่ใบนี้
ไนจีเรีย ประเทศที่มีประชากรเยอะสุดในแอฟริกา และเคนย่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีคุณสมบัติดีกว่าเอธิโอเปียในการเข้าร่วมกับ BRICS แต่เอธิโอเปียก็ได้รับการตอบรับให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก BRICS อย่างรวดเร็ว โดยการช่วยเหลือจากแอฟริกาใต้ ไม่ต้องรอให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานใดใดทั้งสิ้น
แม้จะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก BRICS แต่เอธิโอเปียก็ยังต้องดิ้นรนกับปัญหาเศรษฐกิจของตัวเอง เมื่อปลายปี 2023 เอธิโอเปียเป็นประเทศที่ผิดนัดชำระหนี้เป็นรายที่สามในแอฟริกา ความอ่อนแอทางการเงิน เนื่องจากผลกระทบของโรคระบาด และสงครามกลางเมืองยาวนาน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศทรุด
เอธิโอเปียยังติดหนี้ต่างชาติเป็นวงเงินสูงมาก และครึ่งหนึ่งในนี้ คือการติดหนี้ประเทศจีน แต่ธนาคารพัฒนาแอฟริกัน ก็คาดว่า เอธิโอเปียอาจมีจีดีพีขยายตัว 5.8% ในปี 2023 และ 6.2% ในปี 2024 เกิดจากภาคอุตสาหกรรม การบริโภคและการลงทุน เงินเฟ้อเคยสูงถึง 34% เมื่อปี 2022 และเนื่องจากหมดเงินไปกับการจับจ่ายทางการทหาร ส่วนรายได้ก็มีน้อยลง จึงขาดดุลงบประมาณ 4.2% ของจีดีพี ในปี 2022 และนับจากเอธิโอเปียปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2021 ระดับเครดิตของประเทศก็ร่วงลงมาอยู่ที่ CCC ซึ่งตามปกติ ประเทศที่มีเศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ BRICS อยากให้เข้าเป็นสมาชิก
แต่ BRICS ก้เลือกที่จะปิดหูปิดตา ไม่สนใจต่อปัญหาเศรษฐกิจและสงครามกลางเมืองภายในเอธิโอเปีย และกลับเปิดรับให้เข้าเป็นสมาชิก สมัยที่รักกันดีกับตะวันตก เอธิโอเปียก็มีค่ากับตะวันตกแค่ในเรื่องที่ช่วยต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายในโซมาเลียเท่านั้น
แต่ทันทีที่เอธิโอเปียได้เข้าร่วมกับ BRICS พวกเขาก็หวังอยากได้ช่องทางออกสู่ทะเลแดงอีกครั้ง เพราะนับจากเอริเทรียแยกตัวจากเอธิโอเปียในปี 1993 ก็ทำให้เอธิโอเปียกลายเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เดิมที เอธิโอเปียก็ยังคงใช้ท่าเรือของเอริเทรียได้ แต่พอสองประเทศเข้าสู่สงครามในปี 1998 เอธิโอเปียจึงไม่สามารถเข้าสู่เมืองท่าของเอริเทรียได้อีกต่อไป
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เอธิโอเปียจึงลงทุนอย่างหนักในจิบูตี สร้างถนนและทางรถไฟเชื่อมต่อกับจิบูตีเพื่อนำไปสู่ท่าเรือ จิบูตีจึงกลายเป็นจุดสำคัญในเส้นทางออกสู่ทะเลแดง ทั้งยังได้รับการลงทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์และจีน จนสร้างความไม่พอใจให้แก่เอธิโอเปีย เพราะเห็นว่า เส้นทางขนส่งในจิบูตีตอนนี้แออัดและแพงมาก
ล่าสุด เอธิโอเปีย ตัดสินใจเลือกผูกสัมพันธ์กับโซมาลีแลนด์แทน ผู้นำทั้งสองได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024 โดยโซมาลีแลนด์ จะให้เอธิโอเปียเช่าชายฝั่งติดทะเลแดงความยาวกว่า 19 กิโลเมตร รอบเมืองท่า Berbera เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่เอธิโอเปียจะต้องยอมรับโซมาลีแลนด์ว่า เป็นรัฐอิสระในอนาคต ซึ่งเอธิโอเปียก็จะเป็นสมาชิกยูเอ็นชาติแรกที่ทำเช่นนั้น แต่ข้อตกลงนี้ ถูกประณามและต่อต้านจากโซมาเลียและอียิปต์ โซมาเลียถึงกับให้ทูตของเอธิโอเปียกลับประเทศเพื่อประท้วง
เอธิโอเปียทำเช่นนี้ เพราะต้องการสร้างความได้เปรียบด้านภูมิรัฐศาสตร์ขึ้นมาอีกครั้ง และเบี่ยงประเด็นปัญหาภายในประเทศ โดยชูจุดยืนเรื่องการได้ช่องทางออกสู่ทะเลแดง
เอธิโอเปียในตอนนี้ ยังจำเป็นต้องหนุนเรื่องการพัฒนา ปลดเปลื้องภาระหนี้สิน และรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การเข้าเป็นสมาชิก BRICS จึงหวังว่า จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ ซึ่งเป็นคู่แข่งธนาคารโลก และความช่วยเหลือจากจีน รัสเซีย อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และซาอุดิอาระเบีย และหวังว่า การทำเช่นนี้ อาจดึงให้สหรัฐกลับมาสนใจเอธิโอเปียอีกครั้ง โดยผ่อนปรนให้ได้สิทธิ์ตามข้อกฎหมาย AGOA และเพิ่มความช่วยเหลือด้านการพัฒนา
By IMCTNews
อ้างอิงจาก https://infobrics.org/post/40374
© Copyright 2020, All Rights Reserved