Thailand
15/8/2024
สื่อต่างประเทศหลายสำนัก รายงานกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทย มีมติให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฐานละเมิดมาตรฐานทางจริยธรรมในการแต่งตั้งรัฐมนตรี ตามมาด้วยความปั่นป่วนให้กับการเมืองและเศรษฐกิจไทยระลอกใหม่
รอยเตอร์ และ เอพี รายงานว่า ศาลรธน.มีมติ 5-4 ในการให้เศรษฐาพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ และว่าเป็นการ “ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง”
ด้านอัลจาซีราห์รายงานว่า นายเศรษฐา นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 4 ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งผู้นำประเทศในรอบ 16 ปี
รอยเตอร์ รายงานว่านายเศรษฐากล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลหลังคำตัดสินมีออกมาว่า “ผมเสียใจตรงที่ว่าผมจะต้องออกไปเพราะเป็นนายกฯที่ไม่มีจริยธรรม” และว่าตนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
คาดว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนการตัดสินของศาลน่าจะรับหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานี้
คำตัดสินของศาลรธน.มีขึ้นเพียง 1 สัปดาห์ หลังจากศาลรธน.เพิ่งมีคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกล พร้อมกับการตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี โดยระบุว่า การกระทำของพรรคก้าวไกล “เป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก่อนที่สมาชิกพรรคก้าวไกลจะประกาศย้ายเข้าพรรคใหม่ในอีกไม่กี่วันต่อมา
การถอดถอนนายเศรษฐา เกิดขึ้นในเวลาไม่ถึง 1 ปีที่เขาดำรงตำแหน่ง และผู้เชี่ยวชาญการเมืองบางรายมองว่าพรรคเพื่อไทยอาจยังสามารถจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ได้ โดยรศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ให้ทัศนะกับรอยเตอร์ว่า “พรรคร่วมยังคงสามัคคีกันอยู่” และว่าคำตัดสินนี้ “อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นอยู่บ้าง แต่จะเป็นเพียงแค่ระยะสั้น”
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะต้องได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสียก่อน โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร วัย 37 ปี หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และบุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหนึ่งในตัวเลือกของพรรคเพื่อไทย ซึ่งหากได้รับการเสนอชื่อ เธอจะกลายเป็นตระกูลชินวัตรคนที่ 3 ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ยังมีแคนดิเดตรายอื่น ๆ อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
ไทม์รายงานด้วยว่า การถอดถอนนายเศรษฐาออกจากตำแหน่งนายกฯ ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงว่าจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองครั้งใหญ่ให้กับประเทศไทย นักลงทุนต่างชาติแห่ถอนลงทุนจากประเทศจากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองและความล้มเหลวของรัฐบาลไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียน ที่เผชิญกับอัตราการขยายตัวต่ำกว่า 2% ต่อปีมาเป็นเวลาร่วมทศวรรษ
มติศาลรธน.ที่ให้นายเศรษฐพ้นนายกฯ ยังผลให้คณะรัฐมนตรีหลุดจากตำแหน่งยกชุด และอาจส่งผลกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลที่เป็นประเด็น ทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วง 1.3% ในการซื้อขายเมื่อวันพุธ
คริสตัล แทน นักเศรษฐศาสตร์จาก Australia & New Zealand Banking Group ให้ทัศนะกับไทม์ว่า “คำตัดสินดังกล่าวไม่ได้การตอบรับที่ดีจากตลาด เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและความเสี่ยงเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่เหตุวุ่นวายทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นได้ และความล่าช้าในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ” และว่า “เราจำเป็นต้องจับตาต่อว่าสถานการณ์จะจบลงด้วยภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ยืดเยื้อหรือไม่”
ในขณะเดียวกัน ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญลงมติ 5 ต่อ 4 ให้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินพ้นจากตำแหน่งในวันพุธ ผู้สื่อข่าววีโอเอสอบถามความเห็นเรื่องนี้ต่อกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ซึ่งติดตามการเมืองไทยอย่างใกล้ชิดตั้งเเต่สัปดาห์ที่แล้ว ที่พรรคก้าวไกลโดยศาลสั่งยุบเมื่อวันที่ 7 ส.ค.
ทีมงานของกองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตอบคำถามถึงเหตุการณ์ล่าสุดต่อนายเศรษฐา โดยระบุว่า "สหรัฐฯ รอคอยที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่ราบรื่น"
"เรายังคงยึดมั่นในการเป็นพันธมิตรระหว่างไทยและสหรัฐฯ" โฆษกของกระทรวงฯ กล่าว "สหรัฐฯ และไทยมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีผลประโยชน์ร่วมกันและมีค่านิยมร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เราเป็นนำ้หนึ่งในเดียวกันเพื่อสิ่งที่ดีต่อทั้งสองประเทศ"
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวย้ำว่า ทางการอเมริกันไม่ได้มีจุดยืนสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือนักการเมืองคนใด
กระทรวงฯ ยังคงใช้ถ้อยคำคล้ายเดิมกับการออกเเถลงการณ์กรณีพรรคก้าวใกล้ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบโดยระบุในครั้งนี้ว่า "ในฐานะที่เป็นพันธมิตรและเพื่อน ที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งยาวนาน เราขอเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการเพื่อให้เเน่ใจว่าเกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและการเมืองที่ไม่ละทิ้งคนกลุ่มใด รวมถึงระบบกฎหมายที่เป็นธรรม และปกป้องประชาธิปไตย ตลอดจนเสรีภาพพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการรวมกลุ่มกันและการเเสดงออก
ทั้งนี้ เลขาธิการสภาผู้เเทนราษฎร อาพัทธ์ สุจะนันท์ ระบุในจมหมาย "ด่วนที่สุด" ลงวันที่ 14 ส.ค. ว่าจะมีการประชุมในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. เพื่อให้สภาผู้เเทนฯ "พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี" ตั้งเเต่เวลา 10 นาฬิกาเป็นต้นไป
IMCT News
ที่มา Agencies
© Copyright 2020, All Rights Reserved