ขอบคุณภาพจาก Sputnik
7.10.2024
อังกฤษและมอริเชียส ประกาศข้อตกลง เพื่อให้อังกฤษยกอำนาจการบริหารหมู่เกาะชากอสให้กับมอริเชียส แลกเปลี่ยนกับการเข้าถึงฐานทัพสำคัญทางยุทธศาสตร์ในมหาสมุทรอินเดีย ที่ ดิเอโก้ การ์เซีย แบบระยะยาว
เมื่อห้าปีที่แล้ว ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ ได้มีคำตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ ระบุว่า เขตปกครองมหาสมุทรอินเดียของอังกฤษ ที่เข้าควบคุมเหนือหมู่เกาะชากอสที่มอริเชียสอ้างสิทธิ์อยู่นั้น ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซี่งอังกฤษก็ประกาศความพร้อมที่จะยกอำนาจการควบคุมหมู่เกาะแห่งนี้ เพียงแค่รอสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการ
ภายใต้สนธิสัญญานี้ อังกฤษจะต้องยอมรับว่า มอริเชียสมีอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะชากอส ซึ่งก็รวมถึง ดิเอโก้ การ์เซีย และในเวลาเดียวกัน ทั้งสองประเทศจะต้องเห็นพ้องในสนธิสัญญา เพื่อรับประกันเรื่องการคงอยู่ของปฏิบัติการบนฐานทัพที่ดิเอโก้ การ์เซีย ในระยะยาว ซึ่งถือว่า มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคและความมั่นคงของโลก จากแถลงการณ์ร่วมของทั้งอังกฤษและมอริเชียส
ภายใต้ข้อตกลงนี้ อังกฤษจะได้รับอนุญาตให้ยังคงควบคุมดิเอโกการ์เซีย ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะชากอสไว้ได้นานถึง 99 ปี ในเบื้องต้น ส่งผลให้อังกฤษ ซึ่งควบคุมดินแดนในมหาสมุทรอินเดียมาตั้งแต่ปี 1814 สามารถข้องเกี่ยวกับฐานทัพร่วมอังกฤษ-สหรัฐฯ ที่สร้างขึ้นในดิเอโก้ การ์เซีย ช่วงทศวรรษที่ 1970 ไว้ได้ต่อไป และตามมาด้วยการบีบให้ผู้อยู่อาศัยบนเกาะต้องหนีออกไป ซึ่งกระบวนการตรงนี้ จะลามไปถึงช่วงศตวรรษที่ 22
ดิเอโก้ การ์เซีย ตั้งอยู่ที่มหาสมุทรอินเดียตอนกลาง และปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐและอังกฤษประจำการอยู่ ดิเอโก้ การ์เซีย ถือเป็นกุญแจของสหรัฐ ในการเข้ามาตั้งหลักระหว่างเอเชียและตะวันออกกลาง บนนั้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกของปฏิบัติการทางทะเลและทางอากาศ ให้สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงอ่าวเปอร์เซีย เกาะดิเอโก้ การ์เซีย จะถือเป็นจุดปล่อยยุทโธปกรณ์สำคัญทุกครั้ง ที่เกิดสงครามในตะวันออกกลางนำโดยสหรัฐ ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1991 และยังเป็นฐานที่มั่นของเครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 และ B-52 ที่สามารถติดอาวุธนิวเคลียร์ได้ และยังเป็นท่าเรือน้ำลึกด้วย
ในอังกฤษ การเสนอให้ส่งมอบหมู่เกาะชากอสคืนให้มอริเชียส ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้น โดยส.ส.ฝ่ายค้านได้โยนความผิดโดยตรงให้กับรัฐบาลของเคียร์ สตาร์เมอร์ สำหรับการ "ยอมมอบผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของอังกฤษ" ขณะที่อดีตรัฐมนตรีกลาโหมจากพรรคอนุรักษ์นิยมในอังกฤษ ได้กล่าวถึงแผนการดังกล่าวว่าเป็นแผนที่ "น่าตกตะลึงอย่างยิ่ง" และเป็น "การกระทำที่อ่อนแอและน่าเสียใจที่สุดของรัฐบาลชุดนี้"
หัวหน้าพรรค Reform UK ระบุว่า "การยอมมอบหมู่เกาะชากอสเป็นหายนะทางยุทธศาสตร์ พันธมิตรของสหรัฐฯ จะโกรธแค้นและจีนจะดีใจอย่างยิ่ง พรรคแรงงานกำลังทำให้โลกเป็นสถานที่ที่อันตรายยิ่งขึ้น" ด้าน ส.ส.อีกคนจากพรรคเดียวกันก็เน้นย้ำว่า "สตาร์เมอร์ต้องรับประกันทันทีว่าพรรคแรงงานจะไม่ยอมมอบดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษอื่นใดอีก และขอให้กระทรวงต่างประเทศยืนยันเรื่องนี้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยด่วน"
อดีตนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษก็กล่าวหาสตาร์เมอร์ว่าได้ “แยกผืนดินที่เก่าแก่แห่งสุดท้ายของอาณาจักรอังกฤษให้ออกจากกัน” และชี้ไปที่ระยะทางที่ชากอสอยู่ห่างจากเกาะมอริเชียสประมาณ 2,150 กม. ( ซึ่งอันที่จริงแล้ว ก็ยังอยู่ใกล้กว่าที่ชากอสอยู่ห่างจากหมู่เกาะอังกฤษประมาณ 9,150 กม. )
ส.ส.อีกคนจากพรรคอนุรักษ์นิยมเขียนในโพสต์โซเชียลมีเดียว่า “สตาร์เมอร์ใช้เวลาสามเดือนในการยอมจำนนต่อผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของอังกฤษ และนี่เป็นการยอมจำนนที่อันตรายที่จะมอบดินแดนของเราให้กับพันธมิตรของจีน” โดยเขาแสร้งทำเป็นไม่รู้เกี่ยวกับนโยบายความเป็นกลางทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษของมอริเชียส ซึ่งก็รวมถึงการที่มอริเชียสเป็นสมาชิกของขบวนการที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดด้วย
อดีตส.ส.พรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคเสรีประชาธิปไตยและนักวิจัยที่เกษียณอายุจากสถาบันการป้องกันประเทศแห่งอังกฤษก็กล่าวกับสำนักข่าว Sputnik เกี่ยวกับแผนการบนหมู่เกาะชากอสว่า “ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาในโลกตะวันตกคือประเด็นว่าชาวอเมริกันสามารถใช้ฐานทัพอากาศขนาดใหญ่ต่อไปได้หรือไม่” ส่วนความเห็นที่ฝ่ายค้านแสดงออกมาว่าการส่งมอบหมู่เกาะชากอสเท่ากับเป็นการ "ยอมจำนน" ต่อจีนนั้น เขากล่าวว่าเป็นการพูดเกินจริง
By IMCT NEWS