Thailand
ใครจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ$10ล้านล้าน?
03/03/2024
กำลังซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ$10ล้านล้านที่จะออกมาในปีนี้จะมาจากไหน?
หนี้รัฐบาลสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้นทะลุ $34ล้านล้าน กำลังถึงจุดที่จะเริ่มสร้างปัญหาใหญ่ขึ้นสำหรับฐานะการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นในปีนี้ของกระทรวงคลังที่ต้องออกพันธบัตร $10ล้านล้านเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้เก่า รวมทั้งรองรับหนี้ใหม่ในงบประมาณแผ่นดิน
นายเร ดาลิโอ ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates บริษัท เฮ็ดจ์ฟันด์ ที่มีทรัพย์สินภายใต้การบริหาร $125,000ล้าน ได้ออกมาแสดงความกังวลใจเมื่อเร็วๆ นี้กับสื่อ CNBC ว่า รัฐบาลสหรัฐมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ รวมทั้งชำระหนี้เก่า จะทำให้เกิดปัญหาทางการเงิน การเมือง และสังคมมีความรุนแรงขึ้น
“ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจหมายถึงความแข็งแกร่งทางการเงิน” ดาลิโอ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “Squawk Box” “การเงินที่แข็งแกร่งหมายถึงการที่ คุณมีรายได้มากกว่าการใช้จ่ายหรือไม่? คุณมีงบกำไรขาดทุนที่ดีในฐานะประเทศหรือไม่? และเรามีงบดุลที่ดีหรือไม่”
สหรัฐฯ มีการเพิ่มหนี้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่วิกฤติโควิด 19 ในปี 2020 ที่ตอนนั้นมีหนี้อยู่ที่$23ล้านล้าน แต่เวลานี้หนี้ได้พุ่งทะลุ $34 ล้านล้านไปแล้ว โดยที่นักการเมืองสหรัฐ รวมทั้งทำเนียบขาวไม่ได้แสดงอาการหวั่นไหวต่อฐานะการคลังที่ทรุดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเชื่อมั่นว่าดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก และยังคงเป็นที่ต้องการของนักลงทุนทั่วโลก ถ้าสถานการณ์เลวร้ายจริง ธนาคารกลางสหรัฐยังสามารถพิมพ์เงินเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้
หนี้สาธารณะโดยรวมของสหรัฐฯ เทียบได้กับเศรษฐกิจของจีน เยอรมนี ญี่ปุ่น อินเดีย และสหราชอาณาจักรรวมกัน โดยคร่าวๆ ดังที่มูลนิธิปีเตอร์ จี. ปีเตอร์สัน ซึ่งเป็นกลุ่มนโยบายการคลังที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในนิวยอร์กชี้ให้เห็น
ในปี 2024 นี้ พันธบัตรสหรัฐที่ครบอายุไถ่ถอนมีจำนวน$8.6ล้านล้าน บวกกับการขาดดุลงบประมาณ ทำให้กระทรวงคลังมีความจำเป็นต้องออกพันธบัตร$10ล้านล้าน (350ล้านล้านบาท) มาต่ออายุ หรือโรลโอเวอร์หนี้เก่า พร้อมกับรองรับการก่อหนี้ใหม่
คำถามคือกำลังซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะมาจากไหน?
นายราดิโอ ยอมรับว่า พันธบัตรที่จะออกมาจะเป็นอุปทานที่มีขนาดใหญ่มาก ในขณะที่อุปสงค์ที่จะรองรับยังไม่มีความชัดเจน โดยกล่าวเพิ่มเติมว่าระหว่างปี 2024-2025 จะเป็นช่วงระยะเวลาที่ท้าทายมากสำหรับระบบการเงินสหรัฐ
นายดาลิโอ ยังเตือนด้วยว่าผู้ซื้อจากต่างประเทศซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 40% ของอุปสงค์สำหรับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ได้ถอยทัพออกไป ทำให้เกิดปัญหาความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน
ข้อมูลจนถึงเดือนมกราคมบ่งชี้ว่าการถือครองหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ จากนักลงทุนในต่างประเทศมีมูลค่ารวม $7.4 ล้านล้าน ลดลง $253,000 ล้านหรือ 3.3% จากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนได้ลดการถือครองลงอย่างมาก โดยดึงเม็ดเงินลงทุนกลับมา 17% ในช่วงเวลาดังกล่าว
นายปีเตอร์ ชีฟฟ์ นักการเงินแห่ง schiffgold.com เขียนบทความ”The World won’t buy unlimited US debt” ลงในThe Wall Street Journal (23 มกราคม 2024) ว่า “นักลงทุนต่างประเทศจะไม่มีกำลังซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่กำลังก่อหนี้ที่ไม่มีขอบเขตจำกัด โดยที่รัฐบาลสหรัฐไม่มีความตั้งใจที่จะชำระหนี้อยู่แล้ว มีแต่จะก่อหนี้ใหม่เพื่อชำระหนี้เก่า”
นายชีฟฟ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้กำลังซื้อพันธบัตรรัฐบาลภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนประกันสังคมกำลังมีเงินไหลออกมากกว่าไหลเข้าทำให้จะไม่มีกำลังซื้อพันธบัตรรัฐบาล ในขณะที่หนี้นอกงบประมาณที่มีภาระผูกพันของรัฐบาลสหรัฐที่ต้องจ่ายในอนาคตมีสูงถึง $212ล้านล้าน (จีดีพีสหรัฐมีขนาด$27ล้านล้านในปี 2023) ทำให้สหรัฐมีสถานะภาพล้มละลายทางบัญชี และความเชื่อมั่นในอนาคตของดอลลาร์จะลดลงไปเรื่อย ๆ
นักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น ซาอุดิอาราเบีย และประเทศอื่นๆ กำลังเมินการลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นทรัพย์สินที่มีความมั่นคงมากที่สุดในโลก เนื่องจากสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นฐานะการคลังที่ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วของสหรัฐ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจโลก การติดอาวุธดอลลาร์ผ่านมาตรการแซงชั่นของรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งการผงาดของกลุ่ม BRICS ที่ต้องการออกจากระบบดอลลาร์ ด้วยการหันมาค้าขายด้วยการใช้เงินสกุลท้องถิ่น
ประธานาธิบดีวราดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียได้ให้สัมภาษณ์กับ นายทัคเกอร์ คาร์ลสันในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า สหรัฐทำความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงในการใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธในการทำลายประเทศอื่นๆ ทำให้ประเทศต่างๆมีแรงจูงในในการถือครองทรัพย์สินดอลลาร์น้องลง
หลังจากรัสเซียบุกยูเครนในปี 2022 สหรัฐและยุโรปออกมาตรการแซงชั่นรัสเซีย ได้มีการยึดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียในรูปสกุลเงินดอลลาร์ และยูโรไปกว่า $300,000ล้าน
นายจามี ไดมอน ซีอีโอของธนาคารเจพี มอร์แกน เชส ได้ออกมาเตือนเหมือนกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังมุ่งหน้าสู่วิกฤติเนื่องจากหนี้ของประเทศจำนวนมากยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในการให้สัมภาษณ์กับ Fox News เมื่อเร็วๆนี้ เขาบอกว่า สถานการณ์นี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนโดยรัฐบาล ก่อนที่จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ “มันคือหน้าผา เราเห็นหน้าผา” ไดมอนกล่าว “อีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า เราจะเดินทางด้วยความเร็ว 60 ไมล์ต่อชั่วโมง (มุ่งหน้าสู่มัน)”
ความจริง วิกฤติการเงินสหรัฐจะเกิดเร็วกว่า10 ปี ถ้าหากรัฐบาลสหรัฐยังคงเดินหน้าก่อหนี้$1ล้านล้านต่อไตรมาส หรือ $4 ล้านล้านต่อปี ตามการคาดการณ์ของนายชีฟฟ์ที่ได้เขียนลงไปในแพลตฟอร์มX
อย่างไรก็ตาม นางเจเน็ต เวลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ พยายามเรียกร้องความเชื่อมั่นในฐานะการคลังของรัฐบาล โดยกล่าวว่า แม้ว่าตัวเลขหนี้จะดูน่ากลัว แต่จนถึงตอนนี้ กระทรวงคลังยังคงสามารถจัดการได้ค่อนข้างมาก พร้อมเรียกร้องให้มีขั้นตอนในการลดการขาดดุลงบประมาณให้ลงมาอยู่ระดับที่บริหารจัดการได้
ส่วนนายเจโรม แพลแวลล์ ประธานของธนาคารกลางสหรัฐออกมาเตือนว่า ได้เวลาที่จะต้องการมีการพูดคุยกับแบบผู้ใหญ่คุยกันแล้วเกี่ยวกับปัญหาหนี้ของรัฐบาลสหรัฐที่นอกจากจะสร้างแรงกดดันของเงินเฟ้อแล้ว ยังทำให้การบริหารนโยบายการเงินของธนาคารกลางมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนขึ้น
ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว โดยคงดอกเบี้ยระยะสั้นที่5.25%-5.50% เพื่อสกัดเงินเฟ้อให้ลงไปอยู่ที่เป้าหมายที่อัตรา2% โดยนายเพาแพลล์ส่งสัญญานว่าอย่าได้คาดหมายว่าเฟดจะรีบเร่งที่จะลดดอกเบี้ย
ก่อนหน้านี้ ตลาดการเงินมองว่าเฟดน่าละลดดอกเบี้ยลงไป 6ครั้งในปีนี้ โดยจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากปัญหาเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลายลง แต่ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่ออกมาในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปรากฎว่าดีดตัวสูงขึ้น0.3% ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่3.1% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมหมวดพลังงานและอาหารที่เฟดให้ความสำคัญในการบริหารนโยบายการเงินอยู่ที่3.9%
นายโมฮัมหมัด เอล-อีเรียน ที่ปรึกษาของAllianz และอธิการบดีของ Queen's College มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ออกมาเตือนนักลงทุนว่า อย่าเพิ่งลิงโลดใจเกินควรว่าเฟดจะรีบลดดอกเบี้ยทำให้ตลาดหุ้นดีดตัวขึ้นแรงในช่วงที่ผ่านมา เพราะว่าความเสี่ยงของเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ เขาคาดการว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงเพียง3 ครั้งในปีนี้ และจะไม่เริ่มลดดอกเบี้ยจดกว่าจะถึงเดือนมิถุนายน
ถ้าหากว่าเฟดไม่ลดดอกเบี้ยจะทำให้ภาระการชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐอยู่ในระดับที่สูง เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ระบบแบงค์และตลาดอสังหาฯมีปัญหาในขณะเดียวกันถ้ารีบลดดอกเบี้ย จะทำให้เกิดภาพว่าเฟดยกธงขาวยอมแพ้ในการต่อสู้กับเงินเฟ้อที่ไม่มีท่าว่าจะกดดลงไป ความเชื่อมั่นในดอลลาร์จะได้รับผลกระทบ
นายชีฟฟ์เชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้ว เฟดไม่มีทางเลือก ต้องอุ้มฐานะการคลังของรัฐบาล โดยจะย้อนกลับมาทำคิวอี หรือการพิมพ์เงินดอลลาร์จากกลางอากาศเพื่อเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพื่ออุดช่องโหว่ของอุปสงค์ที่มีไม่เพียงพอในการซื้อพันธบัตรที่กำลังออกมาในจำนวนมหาศาลเป็นประวัติการณ์
By Thanong Khanthong
IMCT News
© Copyright 2020, All Rights Reserved