ขอบคุณภาพจาก Xinhua
19/3/2024
BYD มีสำนักงานอยู่ที่เสิ่นเจิ้น ประเทศจีน ได้เข้าไปลองตลาดในหลายประเทศ ซึ่งบางประเทศก็ประสบความสำเร็จด้านยอดขายอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เพิ่งเข้าไปขายได้แค่ปีเดียว
แต่เนื่องจากความผันผวนของนโยบายกระทบกับการส่งออกรถไฟฟ้าจีนไปยังตลาดใหญ่ เช่น สหรัฐ และยุโรป BYD จึงหาทางกระตุ้นยอดขายในต่างแดน ด้วยการย้ายภาคการผลิตไปในพื้นที่ที่เป็นมิตรมากกว่านี้ จากปัจจุบันที่ BYD ก็มีโรงงานหลายแห่งในไทย บราซิล อินโดนีเซีย ฮังการี และอุซเบกิสถาน อยู่ก่อนแล้ว
นักวิเคราะห์มองว่า BYD พุ่งเป้าไปยังประเทศที่ยังไม่มีอุตสาหกรรมรถยนต์ที่แข็งแกร่งมากนัก เพราะมีแนวโน้มจะเผชิญแรงต่อต้านทางการเมืองน้อยลง หรือเจอนโยบายต่อต้านไม่มากนัก
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลสหรัฐได้เริ่มสอบสวนว่า รถยนต์ที่ทำจากจีน เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่ จึงมีความเป็นไปได้ว่า อาจมีการคุมเข้มรถจากจีน แม้สหรัฐพยายามสนับสนุนรถไฟฟ้าภายในประเทศ แต่ยอดขายก็ยังต่ำกว่าของจีน
BYD เดินเกมรุกอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มที่ไทย ซึ่งทางบริษัทคาดว่า โรงงานแห่งแรกนอกประเทศจีน จะเปิดทำการได้ก่อนสิ้นปี 2024 BYD แซงหน้าโตโยต้าไปแล้วในด้านยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในไทยเมื่อเดือนมกราคม ( 2024 ) ทั้งที่ปีก่อนหน้า BYD ยังไม่มียอดขายในไทยเลย จากข้อมูลของ Marklines
โรงงานที่ตั้งในไทย มีแนวโน้มจะให้บริการครอบคลุมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด EY คาดการณ์ว่า ตลาดรถไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ จะมียอดขายในช่วงทศวรรษหน้า ขยายตัวแตะ 80,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.8 ล้านล้านบาทต่อปี
BYD กลายเป็นแบรนด์รถไฟฟ้าที่ขายดีอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครองตลาดไปกว่า 1 ใน 3 เมื่อปี 2023 ทั้งที่เมื่อก่อนแทบจะขายไม่ได้เลย จากข้อมูลของ Counterpoint Researh
หนึ่งในข้อได้เปรียบที่เหนือกว่า เทสล่า ก็คือ BYD มีหลายรุ่นให้เลือกสรร รวมถึงรถที่ผสมกันระหว่างแบบไฮบริดกับพลังงานแบตเตอรี่ ในขณะที่เทสล่าเจาะกลุ่มตลาดพรีเมียม มีแค่รถที่ใช้แบตเตอรี่เท่านั้น แต่การมีแบบไฮบริดผสมอยู่ จะส่งผลดีต่อตลาดในกลุ่มเกิดใหม่มากกว่า ซึ่งสถานที่ชาร์จแบตยังมีจำกัด
นักวิเคราะห์มองว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นตลาดต่างแดนที่แข็งแกร่งที่สุดของ BYD ในระยะสั้น และบริษัทก็ตั้งเป้าจะเพิ่มการส่งออกรถอีกเท่าตัวเป็น 500,000 คันในปี 2024 ความคุ้มค่าด้านราคาถือเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดโซนนี้
นอกจากนี้ BYD จะลงทุนสร้างโรงงานรถไฟฟ้าอีกแห่งในอินโดนีเซีย ปี 2024 และมีแผนจะเพิ่มโชว์รูมรถให้มากขึ้นในสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ BYD มักใช้ตัวแทนจัดจำหน่ายเป็นคนท้องถิ่น หรือหุ้นส่วนการขายที่อยู่ในประเทศนั้นๆ ต่างจากเทสล่าที่ต้องดีลกับตัวแทนโดยตรง
และแม้จะเผชิญการตรวจสอบจากสหรัฐ แต่ BYD ก็ยังขยายตลาดไปยังบราซิล และเล็งต่อไปยังเม็กซิโก ซึ่งมีพรมแดนติดกับสหรัฐ BYD ยังพิจารณาแผนการสร้างโรงงานในเม็กซิโก เพื่อให้ขายรถไฟฟ้าได้มากขึ้น และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะถือเป็นการยึดหัวหาดทวีปอเมริกาเลยทีเดียว และเนื่องจากเม็กซิโกเป็นส่วนหนึ่งของ USMCA ก็จะยิ่งเปิดโอกาสให้ส่งออกรถ BYD จากเม็กซิโกไปอเมริกาเหนือได้ง่าย USMCA คือข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2020
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ กลุ่มพันธมิตรเพื่อการผลิตในอเมริกา ทำรายงานเตือนว่า การนำเข้ารถต้นทุนต่ำจากจีน อาจทำให้ภาครถยนต์ของสหรัฐถึงกับสูญพันธุ์ได้ และเรียกร้องให้สหรัฐรีบหาทางกีดกันการนำเข้ารถไฟฟ้าจีนจากเม็กซิโก หลังจากมีข่าวก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ว่า ยอดผลิตรถของ BYD แซงหน้าเทสล่าแล้ว
BYD ยังมีแผนจะเปิดโรงงานในฮังการี และภาคการผลิตจะเริ่มภายในสามปี ทั้งที่สหภาพยุโรปเพิ่งเข้าตรวจสอบที่จีนให้การอุดหนุนรถไฟฟ้าของตัวเอง BYD ยังขายรถในออสเตรเลีย ตะวันออกกลางและแอฟริกา และเพิ่งประกาศจะเปิดภาคการผลิตที่ประเทศอุซเบกิสถาน
By IMCTNews