6/6/2024
ธนาคารกลางทั่วโลกกลับมาตุนทองคำเพิ่มอีกครั้งในเดือน เม.ย. สะท้อนความเชื่อมั่นของนานาประเทศที่มีต่อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังผ่อนแรงซื้อไปในเดือน มี.ค. ที่หลายประเทศรวมถึงไทยทยอยขาย
หลังจากแรงซื้อ “ทองคำ” ชะลอตัวลงในเดือนมีนาคม ล่าสุดในเดือน เม.ย. ธนาคารกลางทั่วโลกกลับมาซื้อทองคำสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างคึกคักอีกครั้ง โดยมีการซื้อสุทธิอยู่ที่ 33 ตัน ตามข้อมูลจากสภาทองคำโลก (WGC)
ตัวเลขล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจากเดือน มี.ค. ที่พบว่ามีการซื้อสุทธิเพียง 3 ตัน และยังมีบางประเทศที่มีปริมาณทองคำสำรองลดลงอย่างมีนัยสำคัญในเดือนมีนาคม ได้แก่ อุซเบกิสถาน ไทย และจอร์แดน
มีรายงานว่าไทยขายทองคำ 10 ตันในเดือนมีนาคม
สำหรับยอดตุนทองคำที่ฟื้นตัวในเดือนเมษายน มี “ธนาคารกลาง 5 ประเทศ” ที่สะสมทองคำเข้าคลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเห็นได้ชัด ดังนี้
1. ตุรกี เป็นผู้ซื้อทองคำ “รายใหญ่ที่สุด” ในเดือนเมษายน โดยเพิ่มทองคำเข้าไปในคลังสำรองอีก 8 ตัน ที่ผ่านมา ตุรกีซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 11 เดือนติดต่อกันแล้ว หลังจากที่เคยขายทองคำออกไป 160 ตันในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2566 จนถึงขณะนี้ ตุรกีสามารถเพิ่มปริมาณทองคำสำรองได้ 38 ตัน ในปี 2567
2. อินเดีย ยังคงเดินหน้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มทองคำเข้าไปในคลังสำรองอีก 6 ตัน และได้ซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2560 ตลอดระยะเวลานี้ ธนาคารกลางอินเดียสามารถเพิ่มปริมาณทองคำสำรองได้มากกว่า 260 ตัน
นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Times of India ว่า แรงผลักดันในการสะสมทองคำนั้น มาจากทั้งเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจ เขาชี้ว่า "ความน่าเชื่อถือ" ของดอลลาร์สหรัฐ "ลดลง" โดยสังเกตเห็น "การลดลงอย่างเห็นได้ชัด" ของความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ที่เป็นดอลลาร์
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อีกรายให้สัมภาษณ์กับ Times of India ว่า การลงทุนในทองคำนั้นสมเหตุสมผลอย่างมาก เนื่องจากความผันผวนที่เพิ่มขึ้นในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในสหรัฐ และธนาคารกลางในแต่ละประเทศต้องการกระจายประเภทสินทรัพย์ที่ใช้สำรองเงินตราต่างประเทศด้วย
3. คาซัคสถาน เพิ่มทองคำเข้าไปในคลังสำรองอีก 6 ตัน โดยเริ่มกลับมาสะสมทองคำสำรองอีกครั้ง หลังจากที่ขายทองคำออกไปหลายเดือน ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางคาซัคสถานมีแนวโน้มสลับการซื้อขายทองคำไปมาอยู่หลายครั้ง
4. โปแลนด์ เป็นที่คาดว่ากำลังเดินหน้าขยายการซื้อทองคำสำรองอีกครั้ง โดยเพิ่มทองคำเข้าไปในคลังสำรองอีก 1 ตันในเดือนมีนาคม และตามมาด้วยการซื้อทองคำอีก 5 ตันในเดือนเมษายน
โปแลนด์ ถือเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่เป็นอันดับสองในปี 2566 โดยธนาคารกลางโปแลนด์ซื้อทองคำไป 130 ตัน จนมีสัดส่วนทองคำในคลังสำรองขึ้นถึง 57% ทำให้ในปัจจุบัน โปแลนด์มีทองคำสำรองอยู่ทั้งสิ้น 359 ตัน
5. จีน รายงานว่า การซื้อทองคำของจีนในเดือนเมษายนนั้นชะลอตัวลงอย่างมาก โดยเพิ่มปริมาณทองคำสำรองเพียงไม่ถึง 2 ตัน อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกันที่จีนมีการเพิ่มปริมาณทองคำสำรอง โดยจีนได้เพิ่มทองคำเข้าไปในคลังสำรองกว่า 300 ตัน นับตั้งแต่ที่จีนกลับมารายงานการซื้อทองคำอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2565
ทั้งนี้ แบงก์ชาติจีน เคยเพิ่มปริมาณทองคำสำรองอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2545 ถึง 2562 สะสมไปทั้งหมด 1,448 ตัน แต่หลังจากนั้น ก็ไม่มีการรายงานข้อมูลการซื้อทองคำอีก จนกระทั่งกลับมารายงานอีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2565 มีการคาดการณ์กันว่า จีนอาจยังคงสะสมทองคำเพิ่มเข้าไปในคลังสำรองอยู่เรื่อย ๆ เพียงแต่ไม่ได้รายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากธนาคารกลางของ 5 ประเทศที่ตุนทองอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ธนาคารกลางอีกหลายแห่งก็หันมาซื้อทองคำเพิ่มในเดือนเมษายน ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ตุนทองคำเพิ่ม 4 ตัน รัสเซีย ตุนทองคำเพิ่ม 3 ตัน และสาธารณรัฐเช็ก ตุนทองคำเพิ่ม 2 ตัน
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สภาทองคำโลกกล่าวว่า การซื้อทองคำที่แข็งแกร่งในเดือนเมษายน น่าจะเป็นสัญญาณว่า ภาวะชะลอตัวในเดือนมีนาคมเป็นเพียงกรณีพิเศษ
"แม้จะมีการชะลอตัวลงในเดือนมีนาคม แต่การเพิ่มขึ้นเบื้องต้นของการซื้อสุทธิในเดือนเมษายน อาจชี้ให้เห็นว่า ธนาคารกลางได้ตัดสินใจซื้อทองคำเพิ่มเติม ไม่สนราคาทองที่ปรับตัวสูงขึ้น และยังคงเดินหน้าตามแผนซื้อทองคำเชิงกลยุทธ์ต่อไป"
"เมื่อปีที่แล้ว ธนาคารกลางให้ความสำคัญอย่างมากกับคุณค่าของทองคำในการรับมือวิกฤติ จุดเด่นในแง่การกระจายความเสี่ยง และรักษาความมั่งคั่ง แม้ในปี 2567 จะผ่านไปไม่กี่เดือน แต่สถานการณ์โลกก็ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งหมายความว่า เหตุผลในการถือครองทองคำเหล่านี้ ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่ง" สภาทองคำโลกกล่าว
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จากธนาคาร ANZ คาดการณ์ว่า การซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกจะยังคงคึกคักต่อไปอีกอย่างน้อย 6 ปี โดยมองว่า ความเชื่อมั่นที่ลดลงในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้สหรัฐ และการแข็งค่าของสกุลเงินสำรองอื่น ๆ นอกเหนือจากดอลลาร์ ก็เป็นอีกปัจจัยสนับสนุนการซื้อทองคำของธนาคารกลาง
IMCT News
ที่มา bangkokbiznews.com