Thailand
ขอบคุณภาพจาก RT
26/10/2024
ห่วงโซ่อุปทานและการได้มาซึ่งสินแร่หายาก หรือ rare earth กลายเป็นสมรภูมิด้านภูมิรัฐศาสตร์สำหรับชาติมหาอำนาจต่างๆ ในโลก เพื่อนำสินแร่ประเภทนี้ มาใช้ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เศรษฐกิจโลกที่เน้นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงจำเป็นเร่งผลิตโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด ตั้งแต่แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม ไปจนถึงแบตเตอรี่ลิเธียมไออ้อน เพื่อเป็นแหล่งเก็บพลังงานป้อนรถไฟฟ้า และทั้งหมดนี้ ล้วนแต่ต้องใช้สินแร่หายากที่เรียกว่า rare earth ทั้งสิ้น
จริงๆ แล้ว สินแร่หายากเหล่านี้ ไม่ได้ขาดแคลนเลย เพียงแต่ว่าปริมาณการผลิตทั่วโลกมีค่อนข้างจำกัด เมื่อเทียบกับความต้องการที่มีเข้ามามาก การได้มาซึ่งสินแร่เหล่านี้ จึงถือเป็นก้าวย่างสำคัญ ในการคงศักยภาพการแข่งขัน เพื่อให้อุตสาหกรรมขยายตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และจนถึงตอนนี้ จีนก็เตรียมที่จะให้ได้มาซึ่งสินแร่ rare earth หวังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันจนคนอื่นตามไม่ทัน
จีนเข้าไปทำสัญญากับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั่วโลกมานานหลายปีแล้ว จนปัจจุบัน จีนมีสินแร่ rare earth มากถึง 34% ของทั้งหมดในโลก และครอบครองการทำเหมือง rare earth ถึง 70% ของโลกเมื่อปี 2022 และครองกระบวนการผลิตสินแร่ rare earth ให้เปลี่ยนเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในภาคการผลิตอย่างน้อย 85% ของโลก
จีนถือเป็นผู้ผลิตสินแร่ rare earth รายใหญ่แต่เพียงผู้เดียวบนโลกใบนี้ เป็นผลจากการลงทุนมานานหลายสิบปี การควบคุมการส่งออก ค่าแรงถูก และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่ำ จากรายงานของสถาบันพลังงานศึกษาอ๊อกซ์ฟอร์ด เมื่อปี 2023 จึงทำให้จีนเป็นผู้นำในสินแร่ประเภทนี้และการออกนโยบายต่างๆ
แต่การที่จีนมีบทบาทด้านนี้อย่างหาใครมาเทียบไม่ได้ ก็นำมาซึ่งความต้องการพึ่งพาสินค้าจีนจนอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย การจะแข่งกับจีนได้ และสร้างสมดุลให้กลับคืนมา จำเป็นที่ชาติมหาอำนาจอื่นจะต้องไปทำสัญญากับประเทศที่มีสินแร่เหล่านี้
สหรัฐและจีนถือเป็นคู่แข่งกันแล้ว ในการเข้าครอบครองสินแร่ rare earth ในแถบละตินอเมริกา แต่สหรัฐกลับไม่ประสบความสำเร็จ ในการได้มาซึ่งแหล่งลิเธียมในอาร์เจนติน่า ชิลี และโบลิเวีย แอฟริกาก็เป็นแหล่งสินแร่ rare earth แห่งสำคัญเช่นกัน แต่เนื่องจากเกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองและคอร์รัปชั่น จึงทำให้ไม่ค่อยมีใครเข้าไปลงทุน ดังนั้น สมรภูมิสินแร่ rare earth ที่ร้อนแรงแห่งใหม่ จึงอยู่ที่กลุ่มประเทศในแถบเอเชียกลาง
คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน และทาจิกิสถาน อุดมไปด้วยสินแร่ rare earth มากมาย ทั้งยังมีเงื่อนไขทางการเมืองและเศรษฐกิจในแบบที่ตะวันตกกำลังมองหา แต่สิ่งที่ต่างจากตะวันตกก็คือ หลายประเทศในแถบเอเชียกลาง มุ่งเน้นการนำ rare earth ขึ้นมาสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศจริงๆ
คาซัคสถาน ได้วางกลยุทธ์ที่จะเป็นฐานที่มั่นสำหรับตลาดแบตเตอรี่รถไฟฟ้าโลก ด้วยการเพิ่มผลผลิตโลหะที่สำคัญ ประธานาธิบดีคาซัคสถานถึงขั้นเรียกวัตถุดิบเหล่านี้ว่า เป็นน้ำมันแบบใหม่ ซึ่งก็หมายถึงว่า สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเทียบเท่ากับทรัพยากรน้ำมัน คาซัคสถานยังลงนามสัญญาหลายฉบับกับสหภาพยุโรปและอังกฤษ และอาจจะเป็นหุ้นส่วนการค้ากับสหรัฐด้วย
แต่ปัญหาเดียวที่เกิดกับมหาอำนาจตะวันตกเหล่านี้ก็คือ ไม่ใช่แค่พวกเขาที่เข้ามาเจาะแหล่งทรัพยากรในเอเชียกลาง จีนกับรัสเซียก็อยากเข้าถึงตลาดนี้บ้างเช่นกัน ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ สองฝ่ายจึงแย่งชิงกันอยู่ แต่ถ้าคำนึงจากประวัติศาสตร์ สภาพภูมิศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม และการพึ่งพิงอื่นๆ หลายประเทศในแถบเอเชียกลางจะใกล้ชิดกับรัสเซียและจีนมากกว่า แต่กลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเหล่านี้ ก็อยากที่จะเป็นตัวของตัวเองมากกว่า จึงพยายามหลีกหนีจากการควบคุมของรัสเซีย
By IMCT News
© Copyright 2020, All Rights Reserved