เหตุใดเป้าหมายถอยห่างดอลลาร์ของกลุ่ม BRICS จึงยังอยู่ไกลเกินเอื้อม ?
ขอบคุณภาพจาก RT
6/11/2024
กลุ่ม BRICS ยังคงเดือดเกี่ยวกับประเด็นยุติการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซียหนนี้ แม้ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ผลักดันอย่างหนักให้ถอยห่างจากดอลลาร์ แต่ผู้เข้าร่วมประชุม กลับได้รับการแจ้งเตือนให้นำเงินดอลลาร์ หรือ เงินยูโร มาใช้ก็ได้ เพราะบัตรเครดิตต่างๆ ที่ไม่ใช่ของรัสเซีย ไม่สามารถใช้ได้ที่นี่ การพกเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการมาแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่รัสเซีย
และแม้สมาชิกกลุ่ม BRICS ต้องการจะยุติการใช้ดอลลาร์ แต่ดอลลาร์ก็ยังเป็นเงินที่ทุกคนมีติดกระเป๋า ความฝันของปูตินที่จะถอยห่างดอลลาร์ จึงยังเผชิญแรงต้านทานที่ยากลำบาก นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ดอลลาร์ก็ล็อกสถานะตัวเองให้เป็นทุนสำรองระดับโลก
รัฐมนตรีคลังรัสเซีย ประกาศแผนการชุดใหม่ที่จะหลีกเลี่ยงแพลทฟอร์มของตะวันตก แต่การจะยุติการพึ่งพาดอลลาร์ ยังคงทำได้ไม่ง่ายนัก แม้กลุ่ม BRICS จะเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจ แต่โครงสร้างพื้นฐานที่ทำมาเพื่อดอลลาร์สหรัฐ ยังคงปักหลักแน่นหนา
เป้าหมายของปูติน คือการสร้างโลกหลายขั้วอำนาจ ฟังดูยิ่งใหญ่ แต่การจะรวมประเทศที่มีความเห็นแตกต่างกันทางการเมือง กลับเป็นเรื่องยาก รัสเซียต้องการให้ BRICS เป็นศัตรูกับตะวันตก แต่อินเดียกลับต้องการผูกสัมพันธ์ทั้งตะวันตกและ BRICS
อินเดียเข้าร่วม BRICS เพราะต้องการรักษาสายสัมพันธ์กับรัสเซีย แต่ก็ยังไม่ได้ตัดขาดจากตะวันตก BRICS ยังได้รับความสนใจจากตุรกีและอินโดนีเซีย สองประเทศที่มีสารพัดเหตุผลที่ไม่อยากจะผูกสัมพันธ์กับตะวันตกแน่นเกินไป ในขณะที่ซาอุดิอาระเบีย ในท้ายสุด ก็ปฏิเสธการเข้าร่วม BRICS อย่างเป็นทางการ
ในส่วนของอินเดีย การเข้าร่วม BRICS จะได้ประโยชน์ทางการทูต อินเดียสามารถผ่อนคลายความตึงเครียดด้านพรมแดนกับจีน โดยการพบปะกับประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน ด้วยท่าทีแบบกลางๆ ทั้งคู่ได้เจอกันที่การประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ที่เมืองคาซาน หลังเกิดความตึงเครียดมานาน 2 ปี BRICS ช่วยให้อินเดียยังคงรักษานโยบายเป็นเอกเทศ และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดได้ อินเดียจึงเป็นพันธมิตรกับ BRICS แต่ก็ยังไปจับมือกับกลุ่ม Quad ในอินโด-แปซิฟิก กับสหรัฐ
ตอนนี้ BRICS มีอยู่สามทางเลือก คือ ใช้สกุลเงินท้องถิ่น , ใช้สกุลเงินดิจิทัล หรือพึ่งพาเงินหยวนของจีน แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ก็ล้วนแต่ปวดหัวด้วยกันทั้งสิ้น สกุลเงินท้องถิ่นมีสภาพคล่องต่ำ ส่วนบิทคอยน์ก็ผันผวนเกินไป และเงินหยวนจีนก็คงไม่ได้อีก เพราะจีนต้องการให้เงินหยวนใช้กันทั่วโลก แต่ก็อยากคุมเข้มในเวลาเดียวกัน
จีนไม่พร้อมที่จะพิมพ์เงินหยวนออกมาให้พอเพียงกับรัสเซีย หรือสมาชิก BRICS อื่นๆ และปัจจุบัน ผู้นำจีนก็เรียกร้องให้เพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้มากขึ้น และสร้างความแข็งแกร่งให้กับธนาคาร New Development Bank ซึ่งเป็นเครื่องมือการปล่อยกู้ของ BRICS แต่ธนาคารนี้ก็มีบทบาทจำกัดในด้านการเงินแบบหลายขั้วอำนาจและไม่พร้อมจะเป็นคู่แข่งกับระบบของตะวันตก
ในฟากของตะวันตก ก็ยังชูดอลลาร์ต่อไป สหรัฐยังคงใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธ ในขณะที่ปูตินออกโรงให้ยุติการพึ่งพาดอลลาร์ แต่ทางสหรัฐและสหภาพยุโรปก็ถือโอกาสนี้หารือกัน ที่จะใช้ทรัพย์สินรัสเซียที่ถูกอายัดเอาไว้ มาช่วยยูเครนให้มากขึ้น
John Connally อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ เคยระบุว่า “ ดอลลาร์คือสกุลเงินของพวกเรา แต่มันคือปัญหาของพวกคุณ “ และตอนนี้ สหรัฐก็ยังเป็นประเทศเดียวที่สามารถจัดหาดอลลาร์มาใช้แลกเปลี่ยนกับสกุลเงินอื่นของพันธมิตรได้ในยามที่พวกเขาต้องการ
BRICS พยายามจะแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า ด้วยการเพิ่มจำนวนสมาชิก เพื่อสร้างเสริมอิทธิพล แต่เส้นทางแห่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเงินยังอีกยาวไกล บรรดานักวิจารณ์ฝ่ายตะวันตกเคยมองข้ามกลุ่ม BRICS มานานหลายปี แต่การขยายชาติสมาชิกล่าสุด ก็ทำให้พวกเขาต้องหันมาจับตา
การประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ที่เมืองคาซานหนนี้ มี 36 ประเทศ และเลขาธิการยูเอ็นเข้าร่วม BRICS ต้องการที่จะสร้างชื่อในเวทีโลก
อินเดีย แม้จะเอนเอียงไปทางตะวันตก แต่ก็ยังได้ประโยชน์จากการเติบโตของ BRICS เพราะอินเดียถ่วงนโยบายไม่เข้าข้างใครได้ดี ทำให้อินเดียแผ่อิทธิพลไปทั่วเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา โดยไม่ต้องถูกดึงไปอยู่ค่ายใดค่ายหนึ่ง
By IMCTNews
อ้างอิงจาก https://www.cryptopolitan.com/brics-de-dollarization-goal-out-of-reach/