ขอบคุณภาพจาก Wikimedia Commons
08.07.2024
จีนครองอันดับหนึ่งด้านสิทธิบัตร Generative AI หรือ GenAI มากที่สุดในโลก โดยมีจำนวนการยื่นขอสิทธิบัตร GenAI มากกว่า 38,000 รายการ ระหว่างปี 2014 ถึง 2023 ซึ่ง มากกว่าสหรัฐฯถึง 6 เท่า ข้อมูลนี้มาจากรายงานขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ในสังกัดองค์การสหประชาชาติ (UN)
รายงานระบุว่า GenAI หรือ ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง คือเทคโนโลยีล้ำสมัยที่จะเข้ามาพลิกโฉมภาคเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม และยังมีความสามารถมากกว่าการเลียนแบบการส่งข้อความของมนุษย์ โดยใช้ Chatbots
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เทคโนโลยี GenAI มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว รายงานของ WIPO เผยอีกว่า มีการยื่นขอสิทธิบัตรทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับ GenAI มากกว่า 50,000 รายการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และหนึ่งในสี่ของจำนวนการยื่นขอสิทธิบัตรทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในปี 2023 เพียงปีเดียว
การกระจายสิทธิบัตร GenAI ตามภูมิศาสตร์ ยิ่งตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำของจีนในด้านนี้ โดยจีนครองสิทธิบัตร GenAI มากถึง 38,210 รายการ ซึ่งทิ้งห่างสหรัฐฯ (6,276 รายการ) เกาหลีใต้ (4,155 รายการ) ญี่ปุ่น (3,409 รายการ) และอินเดีย (1,350 รายการ)
ทั้งหมดนี้ ยิ่งเน้นย้ำว่า จีนมียุทธศาสตร์พุ่งเป้าไปที่ AI ให้เป็นจุดหลักในการพัฒนาเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ บริษัทและสถาบันในจีนจึงเป็นผู้นำด้านการยื่นขอสิทธิบัตรในด้านนี้ โดยเทนเซนต์ โฮลดิ้งส์ ได้ยื่นขอสิทธิบัตร AI ไป 2,074 รายการ ตามมาด้วย ผิงอัน อินชัวรันส์ 1,564 รายการ และไป่ตู้ 1,234 รายการ อันดับสี่คือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งยื่นขอไป 607 รายการ ในขณะที่ IBM เป็นบริษัทที่ไม่ใช่ของจีน เพียงแห่งเดียวที่ติด Top 5 ของการยื่นขอสิทธิบัตร AI มากที่สุด โดยยื่นขอไป 601 รายการ
รายงานยังระบุว่า การยื่นขอสิทธิบัตรเทคโนโลยี GenAI ส่วนใหญ่เป็นการยื่นขอเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลด้านภาพและวีดีโอมากที่สุด คือ 17,996 รายการ ส่วนการส่งข้อความตามมาติดๆ คือ 13,494 รายการ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพูดและดนตรี อยู่ที่ 13,480 รายการ
ส่วนสิทธิบัตร GenAI ในด้านข้อมูลโมเลกุล ยีน และโปรตีน ก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และนับจากปี 2014 เป็นต้นมา มีสิทธิบัตรด้านนี้ถูกยื่นขอไปแล้ว 1,494 รายการ มีการเติบโตเฉลี่ยที่ 78% ต่อปี ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา
แม้ว่าปัจจุบัน GenAI อย่างเช่น Chatbots จะช่วยยกระดับประสบการณ์การให้บริการลูกค้าอยู่แล้ว แต่ GenAI ในอนาคตจะทำได้มากกว่านั้น ตั้งแต่การปฏิวัติวงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนายา ไปจนถึงการเปลี่ยนโฉมวงการสิ่งพิมพ์ การขนส่ง และความปลอดภัย GenAI จึงมีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลก
ในปัจจุบัน สิทธิบัตร GenAI มีสัดส่วนอยู่ที่ 6% ของสิทธิบัตร AI ทั้งหมดทั่วโลก แต่การยื่นขอสิทธิบัตรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เริ่มตั้งแต่มีการนำเสนอโครงสร้างเครือข่ายประสาทเทียมเชิงลึก (deep neural network architecture) ในปี 2017 ชี้ให้เห็นว่านี่เป็นเทคโนโลยีที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการยื่นขอสิทธิบัตร GenAI เพิ่มขึ้น 800% นับจากปี 2017
By IMCT NEWS
อ้างอิงจาก: https://interestingengineering.com/innovation/china-generative-ai-patent-filings