Thailand
ขอบคุณภาพจาก RT
17/7/2024
การผลิตก๊าซนอกชายฝั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่า จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการลงทุนที่คาดว่า จะพุ่งแตะ 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท ก่อนปี 2028 จากการเปิดเผยของบริษัทข่าวสารพลังงานและการวิจัยอิสระ Rystad Energy ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์
ตัวเลขการลงทุนนี้ ถือว่า เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จากมูลค่า 45,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ตามแผนการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายระหว่างปี 2014 – 2023
การขยายตัวอย่างรวดเร็วที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เป็นผลมาจากโครงการในน้ำลึก การประสบความสำเร็จเมื่อไม่นานมานี้ ในการค้นพบแหล่งก๊าซในอินโดนีเซียและมาเลเซีย และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนไว้อย่างถาวรในชั้นหินใต้ดินหรือใต้ทะเล
หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังหารือพุ่งเป้าไปยังอนาคตการพัฒนาภายในประเทศและการจำกัดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซ พวกเขาต่างเป็นห่วงในประเด็นความมั่นคงด้านพลังงาน และการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญคือ การสร้างสมดุลด้านความมั่นคงพลังงาน มีการจัดหาพลังงานที่สามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสมและให้ประชาชนใช้ได้ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
แต่ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาก๊าซนอกชายฝั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นไปอย่างล่าช้า บางจุดก็ล่าช้าไปนานกว่า 20 ปี เพราะติดขัดปัญหาระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่อำนวย และการเมืองในภูมิภาค แต่การผุดขึ้นมาของศูนย์ดักจับและกักเก็บคาร์บอนในมาเลเซียและอินโดนีเซีย จะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป เพราะจะได้เงินจากต่างชาติเข้ามาสนับสนุนโครงการนี้ ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียต่างเร่งสำรวจ หลุมเก็บก๊าซธรรมชาติ ที่ดูดก๊าซออกไปจนหมดแล้ว เพื่อจะนำหลุมตรงนั้นมากักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปริมาณก๊าซที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ แต่นำมาเก็บไว้ในหลุมเหล่านี้แทน และทำให้โครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งมีความคืบหน้ามากขึ้นด้วย
By IMCT News
อ้างอิงจาก https://energynews.pro/en/offshore-gas-market-in-southeast-asia-over-usd-100-billion-by-2028/
© Copyright 2020, All Rights Reserved