ขอบคุณภาพจาก RT
28/3/2024
ลองจินตนาการว่ามันจะดีซักแค่ไหน ถ้าเราขึ้นรถไฟทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน แล้วมาถึงสิงคโปร์ในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง นี่คือสิ่งที่จีนกำลังปลุกปั้นให้เป็นไปได้ โดยการดึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Belt and Road Initiative หรือ BRI เป็นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในต่างแดน ที่จีนทำมานานกว่าสิบปีแล้ว
เมื่อปี 2021 รถไฟกึ่งความเร็วสูงเชื่อมลาวกับจีน เปิดให้ผู้โดยสารได้ใช้งาน เชื่อมโยงระหว่างเมืองคุนหมิง ศูนย์กลางพาณิชย์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กับกรุงเวียงจันทน์ของลาว ภายใน 10 ชั่วโมง ครอบคลุมเส้นทางยาว 1,000 กิโลเมตร ซึ่งลาวก็อ้างว่า ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาเยอะขึ้น คนลาวก็ค้าขายดีขึ้นด้วย
ส่วนที่อินโดนีเซีย จีนก็เข้าไปช่วยให้อินโดนีเซียได้มีรถไฟหัวกระสุนครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มปฏิบัติการได้เมื่อเดือนตุลาคม 2023 หลังล่าช้าและถูกเลื่อนมานานหลายปี เชื่อมโยงระหว่างกรุงจาการ์ต้า กับ บันดุง ในชวาตะวันตก ซึ่งถือเป็นเมืองใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย และเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและศิลปะที่สำคัญ
มาที่ไทยกันบ้าง โครงการรถไฟความเร็วสูงในไทย ตั้งเป้าเชื่อมโยงทางรถไฟลาว-จีน ต่อมายังกรุงเทพ แต่ติดขัดปัญหาถูกเลื่อนและค่าก่อสร้างพุ่งสูง ล่าสุด รัฐบาลไทยคาดว่า การให้บริการอย่างเต็มรูปแบบจะมีขึ้นก่อนปี 2028 แต่รัฐบาลจีนยังไม่ลงรายละเอียดในเรื่องนี้
โครงการนี้ถูกตรวจสอบหนักมากในไทย ซึ่งรัฐบาลไทยตกลงแบกรับค่าก่อสร้างทั้งหมด 179,000 ล้านบาท ในการก่อสร้างเฟสแรก ส่วนจีนจะรับผิดชอบเรื่องการติดตั้งระบบ การออกแบบ และการจัดหาขบวนรถไฟ
ซึ่งถ้าโครงการนี้แล้วเสร็จทั้งหมด ก็มีแผนจะขยายต่อไปยังทางเหนือของมาเลเซีย โยงไปถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ ก่อนจะไปสิ้นสุดระยะทาง 350 กิโลเมตรด้วยการลงไปทางใต้ที่สิงคโปร์ แต่ล่าสุด ทางบริษัทญี่ปุ่นไม่ขอเข้าร่วมโครงการ เพราะมองว่า เสี่ยงเกินไปถ้าไม่ได้การสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลมาเลเซีย
นักวิเคราะห์มองว่า ทางรถไฟต่างๆที่สร้างกันอยู่นี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่ต้องการเยี่ยมชมประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้จบสิ้นในคราวเดียว และยังเป็นประโยชน์ในแง่ของการขนส่งสินค้าจากจีนมากระจายที่นี่ รวมถึงประเด็นความมั่นคงด้วยเช่นกัน เป็นการขยายอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างแยบยล
โครงการ Belt and Road Initiative หรือ BRI ได้รับการเปิดตัวในช่วงที่สีจิ้นผิงเพิ่งก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีจีน ซึ่งนอกจากการสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้ว จีนยังทุ่มงบหลายพันล้านดอลลาร์ ไปกับการสร้างสะพานและทางหลวงข้ามทะเล ท่าเรือ สนามบิน โรงไฟฟ้า และเครือข่ายโทรคมนาคม ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นรากฐานในการจัดทำเส้นทางสายไหมแบบใหม่ ตามที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปรารถนา
อย่างทางรถไฟจีน - ลาว ได้รับการออกแบบมาเพื่อเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ข้อมูลจากสื่อจีน ระบุว่า ทางรถไฟจีน - ลาว ใช้ขนส่งสินค้ามากถึง 4.22 ล้านตันเมื่อปี 2023 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 94.91% นักวิเคราะห์ยังแสดงความเป็นห่วงเงินที่จีนให้รัฐบาลลาวกู้ซึ่งก็จะต้องจ่ายคืนในไม่ช้า วิกฤติงบประมาณในลาวตอนนี้เป็นที่ชัดเจนว่า กำลังส่งผลกระทบทางสังคมต่อลาวด้วย
ส่วนการที่มาเลเซียมีแผนจะทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อไปยังสิงคโปร์ประเทศเพื่อนบ้าน ก็ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคน แสดงความวิตกประเด็นอำนาจอธิปไตย เกรงซ้ำรอยกับการสร้างทางรถไฟในฮ่องกงเชื่อมต่อกับจุดหมายปลายทางในจีนแผ่นดินใหญ่ถึง 44 แห่ง ซึ่งก็รวมถึงเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ทำให้กฎหมายที่ออกในจีนแผ่นดินใหญ่ ต้องนำไปใช้กับสถานีรถไฟที่ฮ่องกงด้วยเช่นกัน เหมือนเป็นการบ่อนทำลายความเป็นอิสระของฮ่องกงทางอ้อม
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงข้ามกันไปมาในหลายประเทศเช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประเด็นอธิปไตยและกฎหมาย รวมถึงต้นทุนค่าก่อสร้างมหาศาล ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะจัดการได้ง่ายนัก ดังนั้น ต้องคำนวณให้ดีว่าคุ้มหรือไม่เมื่อเทียบกับต้นทุนและผลประโยชน์ที่ได้รับ
เช่นการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมมาเลเซียกับสิงคโปร์ ซึ่งแน่นอนจะทำให้มีผู้คนเดินทางไปมาระหว่างสองประเทศมากขึ้น ดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ถ้าเทียบกันแล้ว สิงคโปร์แค่ลงทุนสร้างสถานีแห่งเดียว ในขณะที่มาเลเซียต้องลงทุนสร้างสถานีหลายแห่ง และถ้าเงินที่ใช้สร้าง ต้องมาจากการกู้ยืมประเทศจีน ก็ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนเข้าไปอีกในประเด็นนี้ การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมมาเลเซียกับสิงคโปร์อาจไม่จำเป็นเลยก็ได้ เพราะปัจจุบัน สองประเทศก็มีทางรถไฟแบบธรรมดาเชื่อมถึงกันอยู่แล้ว หรือจะนั่งเครื่องบินก็ใช้เวลาไม่ถึงสามชั่วโมง
By IMCTNews