ขอบคุณภาพจาก Facebook/Department of Tourism, Bhutan
25/5/2024
แม้หลักการ ”ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness : GNH) จะเป็นแนวทางและดัชนีชี้วัดของภูฏานที่ได้รับการกล่าวถึงไปทั่วโลกถึงการสร้างสมดุลระหว่างความเติบโตทางเศรษฐกิจกับความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมือง นับตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (Jigme Singye Wangchuck) ช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 แต่ในการอภิปรายเกี่ยวกับ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ 2.0 ” เมื่อไม่นานมานี้ นายกรัฐมนตรีเชอริง ต๊อบเกย์ ของภูฏาน ได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ภูฏาน “กำลังสั่นคลอน และเสี่ยงต่อการล่มสลาย ” ด้วยอัตราการว่างงานของเยาวชนเกือบร้อยละ 30 ซึ่งประมาณหนึ่งในแปดของประชากร ตกอยู่ในความยากจน ทำให้ภูฏานมาถึงจุดที่ถูกตั้งคำถามว่า การแสวงหาความสุขของชาติต้องเปลี่ยนแปลงหรือไม่?
“ใช่และไม่ใช่” นายกรัฐมนตรีภูฏานระบุ พร้อมให้เหตุผลว่า เพราะภูฏานต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่หลักการของ GNH จะไม่ถูกละทิ้ง เพราะภูฏานสามารถเติบโตได้อย่างสมดุล ผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เสมอภาค รวมถึงสมดุลกับความก้าวหน้าทางสังคม การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองวัฒนธรรม และธรรมาภิบาล
“เราระมัดระวังอย่างยิ่ง อนุรักษ์นิยมมาก ดังนั้นเราจึงล้าหลัง” ต๊อบเกย์กล่าว “มองไปทางหนึ่ง เราไม่ได้ล้มเหลวอย่างแท้จริง แต่หากไม่ได้วัดจากความก้าวหน้าทางสังคมแล้ว ก็ถือว่าเราล้มเหลวในเชิงเศรษฐกิจ”
“เราระมัดระวังอย่างยิ่งในการเปิดตัวเองสู่ภาคส่วนอื่นๆ ของโลก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพราะเราเป็นคนอนุรักษ์นิยมและระมัดระวังมาก” ต๊อบเกย์ย้ำ
สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภูฏานถือว่าฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย โดยเมื่อปีที่แล้ว (2023) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในภูฏาน อยู่ที่ 1 ใน 3 ของปี 2019 เท่านั้น
ภูฏานได้เปลี่ยนอัตรา ”ค่าธรรมเนียมการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่เป็นข้อขัดแย้งมาแล้วถึงสามครั้งนับตั้งแต่เปิดประเทศในเดือนกันยายน ปี 2022 โดยครั้งแรกเพิ่มเป็น 200 ดอลลาร์/ผู้ใหญ่ 1 คน/วัน ก่อนจะลดอัตราราคาลงอีกถึงสองครั้ง จนปัจจุบันอยู่ที่100 ดอลลาร์/ผู้ใหญ่ 1 คน/วัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีต๊อบเกย์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สร้างความสับสนอย่างมาก เพราะขณะที่เราระบุว่า การท่องเที่ยวกำลังเริ่มฟื้นตัว แต่กลับยังไม่ถึงระดับที่เทียบเท่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 แต่อย่างใด
แม้ว่าการท่องเที่ยวเชิงปริมาณจะมีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ภูฏานก็ยังคงดำเนินแนวทางการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูงแม้จะมีปริมาณน้อย
ต๊อบเกย์เชื่อว่า 200 ดอลลาร์/วัน เป็นค่าธรรมเนียมการพัฒนาที่ยั่งยืนที่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามายังภูฏานจำนวนมากยินดีจ่าย
อีกด้านหนึ่ง แรงงานชาวภูฏานรุ่นใหม่หลายพันคน พากันเดินทางออกนอกภูฏานเพื่อค้นหาโอกาสการจ้างงานในต่างประเทศ ตามรายงานของรอยเตอร์สในช่วง 11 เดือนก่อนหน้านี้ (พ.ค.2024) ประชากรภูฏานประมาณร้อยละ 1.5 ย้ายไปออสเตรเลียเพียงลำพัง เพื่อฝึกอบรมงานและทักษะ
“เราหวังว่านี่คือการพัฒนาชั่วคราว ซึ่งจะให้เวลาเราในการเสริมสร้างเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวรวมถึงช่องทางอื่นๆ” ต็อบเกย์กล่าว “แล้วลูกหลานของเราก็จะอยู่ที่นี่ ขณะที่ผู้ที่ไปทำงานนอกประเทศจได้รับประสบการณ์อันล้ำค่า และกลับสู่มาตุภูมิ”
IMCT News