สมัครสว.67 ต้องทำอย่างไร
6/5/2024
อยากสมัครสว. 2567 ต้องทำอย่างไร IMCT รวบรวมรายละเอียดจาก เว็บไซต์ iLaw ที่รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามานำเสนอ
ล่าสุดหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันรับสมัคร สว. ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 iLaw นำเสนอข้อมูลสำหรับผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งสว. เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงสมัคร โดยระบุว่า ในระยะเวลาที่รับสมัคร ผู้ประสงค์สมัคร สว. จะต้องไปรับเอกสารใบสมัครที่ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต แล้วแต่กรณี โดยผู้สมัครจะได้รับเอกสารในวันที่ไปรับใบสมัครทั้งสิ้นสามรายการได้แก่
1. แบบใบสมัคร (สว. 2)
2. แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว. 3)
3. แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4)
เมื่อได้รับเอกสารมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการยื่นใบสมัคร ในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) ข้อ 51 กำหนดให้ ผู้สมัครจะต้องยื่นเอกสารและหลักฐานประกอบการการสมัครด้วยตนเองต่อผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอกำหนด และต้องไม่เกินกรอบระยะเวลารับสมัคร
โดยเอกสารที่จะต้องนำไปยื่นในวันที่สมัครไม่ได้มีเพียงแค่เอกสาร 3 รายการที่ได้รับ ผู้สมัครจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานประกอบเพิ่มเติมด้วย เอกสารทั้งหมดที่จะต้องยื่นในวันที่ไปสมัคร มีดังนี้
- แบบใบสมัคร (สว. 2) รับได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ /สำนักงานเขต
- แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว.3) รับได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ /สำนักงานเขต
- แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4) ยกเว้นสองกลุ่มที่ไม่ต้องใช้เอกสารนี้ ได้แก่ (1) กลุ่มสตรี (2) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ๆ เอกสารดังกล่าว ต้องมีผู้รับรองและพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อยืนยันว่าผู้สมัครมีคุณลักษณะเช่นนั้นจริงและต้องมีสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับรองและพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องมาด้วย ทั้งนี้สำหรับหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว.4) ไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้รับรองและพยาน ผู้รับรองและพยานจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถรับรองได้ว่าผู้สมัครมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี
อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) มาตรา 75 กำหนดว่า ผู้ใดรับรองหรือเป็นพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานใช้ประกอบการสมัครอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยสำหรับรูปแบบของใบรับรองแพทย์ ผู้สมัครสามารถเลือกใช้ใบรับรองแพทย์ของสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานพยาบาลเอกชนได้ โดยจะต้องออกโดยแพทย์ผู้ได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับใบอนุญาตจากแพทย์สภาเท่านั้น
สำหรับรูปแบบของใบรับรองแพทย์ ผู้สมัครสามารถเลือกใช้ใบรับรองแพทย์ของสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานพยาบาลเอกชนได้ โดยจะต้องออกโดยแพทย์ผู้ได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับใบอนุญาตจากแพทย์สภาเท่านั้น
- รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตาดำ ขนาดกว้างประมาณ 8.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13.5 เซนติเมตร จำนวนคนละสองรูป สำหรับปิดแบบข้อมูล สว. 3
- หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับอำเภอที่ผู้สมัครเลือกสมัคร ได้แก่
- หลักฐานที่แสดงว่าผู้สมัครเกิดในอำเภอที่สมัคร เช่น สูติบัตร
- หลักฐานที่แสดงว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครไม่น้อยกว่าสองปี เช่น ทะเบียนบ้านที่เคยมีชื่ออยู่
- หลักฐานที่แสดงว่าทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี เช่น หลักฐานการรับราชการของหน่วยงานต้นสังกัด หรือหนังสือรับรองการทำงานจากบริษัทที่ผู้สมัครรับเลือกเคยทำงานเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือก หากผู้สมัครประกอบอาชีพอิสระ เช่น ค้าขาย สามารถใช้หลักฐานการเสียภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในเขตอำเภอที่สมัครรับเลือกได้
- หลักฐานที่แสดงว่าเคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี เช่น ทะเบียนบ้านที่เคยมีชื่ออยู่
- หลักฐานที่แสดงว่าเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา เช่น วุฒิการศึกษา
- หลักฐานอื่นๆ เช่น
เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
หลักฐานการลาออกกรณีเป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
- เงินค่าธรรมเนียมการสมัคร คนละ 2,500 บาท โดยการชำระเงินค่าสมัคร ผู้สมัครสามารถชำระเป็นเงินสด หรือตั๋วแลกเงินหรือแคชเชียร์เช็ค แล้วแต่กรณี
- สำเนาหลักฐานอื่นที่ผู้สมัครนำมาแสดงตนว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือก และไม่เป็นผู้ถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
การสมัครชิงตำแหน่ง สว. นั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 20 กลุ่มตามลักษณะของแต่ละอาชีพ ซึ่งต้องระบุตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครว่า ผู้สมัครต้องการจะสมัครในกลุ่มใด เนื่องจากในขั้นตอนการคัดเลือก หรือที่เรียกกันว่า “เลือกกันเอง” ผู้สมัครจะต้องถูกแบ่งไปเลือกกันเองตามกลุ่มอาชีพที่ได้ลงสมัครไว้แต่แรก โดยทั้ง 20 กลุ่มประกอบด้วยกันดังต่อไปนี้
- กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย
- กลุ่มการศึกษา เช่น เช่น ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา
- กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท พยาบาล เภสัชกร
- กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก
- กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
- กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมาย (SME) และ ผู้ประกอบกิจการอื่นๆ
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากข้อ (9)
- กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม
- กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มสตรี
- กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
- กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง
- กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
- กลุ่มนักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม
- กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
- กลุ่มอื่นๆ
คุณสมบัติของผู้สัมครสว. จะต้อง
-
- ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
- ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันที่สมัครรับเลือก
- มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ไม่นับรวมผู้สมัครกลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
- ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
- เคยทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
- เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
- เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สองปีการศึกษา
IMCT News
ที่มา : เว็บไซต์ iLaw