คาดเศรษฐกิจ CLMV ปี 68 ชะลอตัว เหตุแรงกดดันจาก Trump 2.0-เศรษฐกิจโลก
6-1-2025
SCB EIC ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงเล็กน้อย สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง โดยได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากนโยบาย Trump 2.0
ปัจจัยกดดันสำคัญมาจากการที่สหรัฐฯ อาจขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนและประเทศอื่นๆ ส่งผลให้สินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้าสู่ตลาด CLMV มากขึ้น นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มปรับลดน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากอุปสงค์ภายในประเทศ CLMV ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างงาน ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศได้บางส่วน ขณะที่เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตดีจะช่วยหนุนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวต่อเนื่อง
ในแง่การคาดการณ์ตัวเลขการเติบโต SCB EIC ประเมินว่า เวียดนามจะมีอัตราการขยายตัวสูงสุดที่ 6.5% (ลดลงจาก 6.8% ในปี 2567) ตามด้วยกัมพูชา 6.0% (ทรงตัวจากปีก่อน) สปป.ลาว 4.3% (ลดลงจาก 4.5%) และเมียนมา 2.2% (ลดลงจาก 2.3%)
เวียดนามยังคงโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม เนื่องจากได้ประโยชน์จากกระแสการย้ายฐานการผลิตมาสู่อาเซียน โดยมีจุดแข็งทั้งด้านห่วงโซ่อุปทานที่พร้อม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ระยะทางขนส่งไปจีนที่สั้น ตลาดในประเทศที่แข็งแกร่ง รวมถึงความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและข้อตกลงการค้าเสรี
ด้านกัมพูชา แม้จะเติบโตรองจากเวียดนาม แต่ต้องระวังผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว เนื่องจากมีการพึ่งพาจีนในหลายด้าน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานในประเทศ ขณะที่เสถียรภาพทางการคลังที่แข็งแกร่งยังเอื้อต่อการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับ สปป.ลาว ยังคงมีความเปราะบางสูง แม้จะได้อานิสงส์จากอุปสงค์ในภูมิภาคอาเซียน แต่ยังเผชิญความท้าทายทั้งด้านการคลังและเสถียรภาพภายนอก ท่ามกลางปัญหาค่าเงินกีบอ่อน เงินเฟ้อสูง ทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ และต้นทุนการกู้ยืมที่พุ่งสูงขึ้นหลังถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ Speculative
ส่วนเมียนมายังคงเติบโตต่ำสุดในกลุ่ม เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังซบเซาจากสถานการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อ ประกอบกับมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกที่กดดันอุปสงค์จากต่างประเทศ รวมถึงปัญหาเงินจัตอ่อนค่า เงินเฟ้อเร่งตัว และการขาดแคลนปัจจัยการผลิตจากการหยุดชะงักของเส้นทางการขนส่งและการค้า
นอกจากนี้ เศรษฐกิจ CLMV ยังเผชิญความเสี่ยงสำคัญหลายด้าน ทั้งความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะต่อเวียดนามที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าที่จะกดดันค่าเงินในภูมิภาค ส่งผลต่อเงินเฟ้อและภาระหนี้สาธารณะ รวมถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจกระทบภาคเกษตรและเศรษฐกิจโดยรวม
สำหรับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของ CLMV อุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับดีขึ้น และการฟื้นตัวของการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากไทยมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับลดลงและบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น
ในระยะปานกลาง SCB EIC ยังมองว่า CLMV ยังคงเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพการเติบโตโดดเด่นและน่าสนใจสำหรับธุรกิจไทยที่ต้องการขยายตลาดต่างประเทศ รวมถึงกระจายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี
---
IMCT NEWS
ที่มา https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-outlook-dec24