'ปานปรีย์' ย้ำไทย เข้าร่วม BRICS เน้นเป็น หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
5-1-2025
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สัมภาษณ์ในรายการ"กรุงเทพธุรกิจ Deep talk "ว่า ช่วงที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วางนโยบายด้านการต่างประเทศ 2 ด้าน คือ
1.การเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยในช่วงนั้นไทยได้เข้าไปชี้แจงถึงเจตนารมณ์ในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ต่อสมาชิกทั้ง 38 ประเทศ ซึ่งชี้แจง ว่าทำไมเขาต้องหันมามองเอเชียและทำไมจะต้องหันมามองประเทศที่กำลังพัฒนา
ดังนั้นเวลานี้มีประเทศไทยและอินโดนีเซียที่สมัครเป็นสมาชิก OECD ซึ่งการเข้าเป็นสมาชิกจะเป็นประโยชน์ต่อไทยมากเพราะจะสร้างมาตรฐานใหม่ โดยเฉพาะความโปร่งใสในการทำธุรกิจการค้าและได้รับการยอมรับมากขึ้น การลงทุนจากฝั่งตะวันตกก็จะมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
2.การเข้าร่วมสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งมีสมาชิกทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา โดยมีความน่าสนใจเพราะมีประชากรมากที่สุดในโลกรวมอยู่ด้วย เช่น อินเดีย จีน และมีประเทศในกลุ่มเอเชียหลายประเทศ
ขณะนี้มีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างไรก็ตามในเวลานี้ทางกลุ่ม BRICS ไม่ได้มีองค์กรที่จะเข้ามาดูแลที่มีความชัดเจนเหมือนกับ OECD
"ประเทศไทยก็คงต้องรอ เพราะ BRICS เพียงแต่ให้เป็นผู้สังเกตการณ์และเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรโดยยังไม่ได้เป็นสมาชิก" นายปานปรีย์ กล่าว
นายปานปรีย์ กล่าวว่า การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ของไทย ไม่น่าจะทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ รู้สึกว่าไทยทอดทิ้งสหรัฐ เพราะไทยเองแสดงความชัดเจนในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐ
รวมทั้งหากไทยไม่แสดงจุดยืนในส่วนนี้อาจทำให้นายทรัมป์สงสัยได้ว่า ไทยให้ความสำคัญกับกลุ่ม BRICS มากกว่า เพราะในกลุ่ม BRICS มีการพูดถึงเงินสกุลใหม่ขึ้นมาแทนเงินสกุลดอลลาร์ ที่ปัจจุบันเราใช้ดอลลาร์ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันทั่วโลก
"มีบางคนพูดไปไกลอีกว่าเป็นไทยจะเลิกสนใจทางฝั่งตะวันตก อันนี้ก็ไปแรง ซึ่งตนก็คิดว่าไม่ใช่เป็นทิศทางของไทยที่จะไปแนวทางนั้นเพราะเราต้องรักษาความเป็นกลางโดยในเรื่องนี้เป็นเรื่องของการค้าไม่ใช่การเมือง ถ้าเป็นการเมืองก็จะเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้น" นายปานปรีย์ กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยมองด้านการสร้างสัมพันธ์ทางการค้าและการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยไม่ได้มองเรื่องการเมืองระหว่างชาติตะวันตกและกลุ่ม BRICS เพราะหากมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องที่ไทยต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ
นายปานปรีย์ กล่าวว่า กรณีที่ทรัมป์จะขึ้นภาษีสินค้ากับประเทศที่ไม่ใช่เงินสกุลดอลลาร์ ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน รวมทั้งนโยบายการค้าอีกหลายเรื่องยังไม่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการใช้เงินสกุลอื่นแทนเงินดอลลาร์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเงินสกุลดอลลาร์เป็นเงินที่มีเสถียรภาพ
อีกทั้งการที่จะใช้เงินสกุลใดมาซื้อขายแลกเปลี่ยนก็มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1.สกุลเงินมีเสถียรภาพ 2.มีความมั่นคง และ 3.มีการใช้อย่างแพร่หลาย
ดังนั้นการจะไปล้มเงินดอลลาร์ โดยไม่มีเงื่อนไข 3 ข้อจึงไม่ง่าย โดยกว่าจะมีเงินสกุลใหม่ต้องใช้เวลาและต้องเป็นสกุลเงินที่ได้รับการยอมรับจากชาวโลก ซึ่งเงินดอลลาร์ยังเป็นเงินสกุลหลักในการซื้อขายทั่วโลก
ขณะที่การใช้เงินสกุล BRICS คงใช้เวลาอีกนาน อย่างไรก็ตามในบางประเทศก็ใช้เงินสกุลของตัวเอง เช่น เงินหยวน เงินเยนในการค้าขายบางส่วนแต่ก็ขึ้นอยู่กับว่ากับการต่อรองระหว่างประเทศคู่ค้า การใช้อย่างแพร่หลายยังไม่เกิดขึ้น
นายปานปรีย์ กล่าวว่า บทบาทของ BRICS ในระยะต่อไปนั้นมองว่า นโยบายของนายทรัมป์จะทำให้กลุ่ม BRICS มีความแข็งแรงขึ้นเนื่องจากหลายประเทศรู้สึกว่าประเทศของตัวเองจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ โดยเฉพาะการขึ้นภาษีและนโยบาย “อเมริกาเฟิร์ส”
ทั้งนี้ ในอนาคตการค้าการลงทุนตามนโยบายของทรัมป์จะกลับไปสู่ที่สหรัฐ ซึ่งทำให้หลายประเทศมีความรู้สึกว่า การลงทุนอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีจะย้ายกลับไปอยู่ที่สหรัฐทำให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนารู้สึกสูญเสียความมั่นใจ จึงเป็นแรงผลักให้เกิดการเกาะกลุ่มประเทศขึ้นใหม่ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศตนเองเดินหน้าต่อไปได้
"ในลักษณะนี้ก็จะทำให้โลกเข้าไปสู่โลกแบ่งขั้ว (Decoupling) ได้สำหรับไทยควรจะวางตัวให้เหมาะสมเป็นที่ยอมรับทั้งจีนและสหรัฐเพื่อการค้าการลงทุนของประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้" นายปานปรีย์ กล่าว
สำหรับนายปานปรีย์ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 11 ก.ย.2566 ถึงวันที่ 28 เม.ย.2567 หลังจากนั้นนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 โดยสรุปประโยชน์และผลกระทบต่อประเทศไทย 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน
ทั้งยังช่วยเพิ่มบทบาทของไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกิจระหว่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง
นอกจากนี้การเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ช่วยเพิ่มโอกาสให้เทศไทยร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ที่กลุ่มประเทศตลาดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทสำคัญ มีความครอบคลุมและไม่มุ่งต่อต้านกลุ่มใด
2.ความร่วมมือกลุ่ม BRICS แบ่งเป็น 3 เสาได้แก่ เสาด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ เสาด้านเศรษฐกิจและการเงิน เสาด้านมนุษยธรรมและวัฒนธรรม
นอกจากจะมีการประชุมระดับผู้นำของ BRICS แล้วแต่ละเสายังมีการประชุมระดับต่างๆ เช่น คณะทำงาน เจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี รวมกันประมาณ 200 การประชุมต่อปี และเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการต่างๆ ในลักษณะคล้ายกรอบอาเซียน
ดังนั้น หากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยมีความพร้อม การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะเป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการหารือกับประเทศสมาชิก ประเทศหุ้นส่วนและประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมในกลไกของกลุ่ม BRICS
เพื่อขยายความร่วมมือด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย ยุติธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม สาธารณสุข การคลัง การค้าและเศรษฐกิจ การจัดการภาษี การคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว การส่งเสริมบทบาทของเยาวชนและสตรี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
3.ในสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปัจจุบัน ซึ่งยังคงมีความขัดแย้งระหว่างประเทศตะวันตกกับรัสเซียและการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศตะวันตกกับจีนที่มีความเข้มข้นขึ้น
อาจจะมีความเสี่ยงที่ประเทศสมาชิกขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตกและพันธมิตรมีแนวโน้มที่จะต่อต้านนโยบายของรัสเซียและจีน ซึ่งเป็น 2 ประเทศหลักที่ริเริ่มความร่วมมือและมีอิทธิพลในกลุ่ม BRICS
ทั้งนี้ แม้ว่าจุดประสงค์ของ OECD จะเป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเพื่อจะพัฒนามาตรฐานและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันก็ตาม
4.กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวบนหลักการของการดำเนินการทูตอย่างสมดุลและยืดหยุ่นในภาวะที่มีการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์มีความเข้มข้นขึ้น
และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทั้งในด้านการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการเมืองกับกลุ่มประเทศกลุ่ม BRICS และความมั่งมั่นที่จะพัฒนามาตรฐานด้านต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1160508?anf=