Thailand
ขอบคุณภาพจาก RT
29/9/2024
เซย์เยด ฮัสซัน นาสราลเลาะห์ เป็นชาวอาหรับที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในตะวันออกกลาง ถูกสังหารเสียชีวิตในวัย 64 ปี จากปฏิบัติการทางอากาศครั้งรุนแรงหลายระลอกที่โจมตีทางใต้ของกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เมื่อวันที่ 27 กันยายน
เขาเป็นผู้นำกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ และทำให้คนกลุ่มนี้ เติบโตจากกลุ่มเคลื่อนไหวติดอาวุธท้องถิ่น กลายมาเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเลบานอนเมื่อไม่นานมานี้
ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ชนะด้วยคะแนนเสียงกว่า 340,000 เสียง ถือเป็นคะแนนเสียงมากที่สุด เหนือกว่าพรรคการเมืองใดที่เคยได้รับในเลบานอน นับจากแยกตัวเป็นอิสระ
เมื่อเดือนตุลาคม 2021 นาสราลเลาะห์บอกว่า เฮซบอลเลาะห์มีนักรบ 100,000 คน เป็นองค์กรติดอาวุธหนึ่งที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก เนื่องจากมีอิทธิพลทางศาสนาหนุนหลัง จึงยิ่งทำให้กลุ่มเฮซบอลเลาะห์มีชื่อเสียงขจรขจายในโลกอาหรับ และจนถึงปัจจุบัน เฮซบอลเลาะห์ ก็เป็นเพียงกลุ่มติดอาวุธเดียวเท่านั้น ที่บีบให้อิสราเอลต้องล่าถอยจากประเทศในอาหรับได้
นาสราลเลาะห์ ได้ชื่อว่า มีความโดดเด่นในบรรดาแกนนำกลุ่มต่อต้านของอิหร่าน ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ , รัฐบาลของประธานาธิบดี บาชาร์ อัสสาด ของซีเรีย , กลุ่มเคลื่อนไหวฮามาสและอิสลามิก ญิฮัด ของปาเลสไตน์ , กลุ่มเคลื่อนไหวฮูตีในเยเมน และกลุ่มกองกำลังกึ่งทหารชาวอิรักอีกหลายกลุ่ม
แต่กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ก็ถูกตีตราว่า เป็นกลุ่มก่อการร้าย โดยสหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย แคนาดา สภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ และกลุ่มสันนิบาตอาหรับส่วนใหญ่ ตลอดจนทางฝ่ายทหารของกลุ่มสหภาพยุโรป สวนทางกับจีน และรัสเซีย รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่มีจุดยืนเป็นกลาง หรือ ยังคงติดต่อกับเฮซบอลเลาะห์
นาสราลเลาะห์ เกิดในปี 1960 ครอบครัวเป็นมุสลิมชีอะห์ผู้ยากจน ในพื้นที่ทางตะวันออกของกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เขาสนใจศาสนาตั้งแต่ยังเด็ก และได้รับแรงบันดาลใจจาก เซย์เยด มูซา ซาดร์ อิหม่ามชาวอิหร่านที่มีเชื้อสายเลบานอน ซึ่งจัดตั้งกลุ่มอามาล เพื่อให้ชุมชนชีอะห์ที่ถูกละเลยในเลบานอนมีอำนาจมากขึ้น
จนเกิดสงครามกลางเมืองในเลบานอนเมื่อเดือนเมษายน 1975 จากนั้น ซาดร์ก็ได้จัดตั้งกองพลต่อต้านชาวเลบานอน ซึ่งเป็นปีกอาวุธของกลุ่มอามาล เพื่อปกป้องเลบานอนทางใต้จากการบุกรุกของอิสราเอล และนาสราลเลาะห์ก็ได้เข้าร่วมกับกลุ่มอามาลด้วย
ในอีกหนึ่งปีถัดมา นาสราลเลาะห์ ก็ได้ย้ายไปที่อิรัก เพื่อศึกษาด้านศาสนา โดยมีจุดยืนมากขึ้นเพื่อนักการศาสนาชาวชีอะห์ จากนั้น เขาเดินทางกลับเลบานอน จนภายหลังเมื่ออุดมการณ์ไม่ตรงกับกลุ่มอามาล นาสราลเลาะห์ก็ได้แปรพักตร์ และภายใต้การสนับสนุนจากอิหร่านและซีเรีย บรรดากลุ่มที่แปรพักตร์จากอามาล ก็ได้จัดตั้งกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ขึ้นในช่วงหน้าร้อน ปี 1982 เน้นการสนับสนุนนิกายชีอะห์ และยึดหลักศาสนาตามแบบอย่างผู้นำสูงสุดอิหร่าน
และทางกลุ่มก็ใช้วิธีทำสงครามกองโจรเพื่อไล่อิสราเอลออกจากเลบานอน จนถึงปี 1985 อิสราเอลก็ถอนกำลังออกจากทางใต้ของเลบานอน ท่ามกลางการโจมตีที่ยังยืดเยื้อต่อไป อิสราเอลยังคงยึดครองหลายชุมชนใกล้กับพรมแดน แต่กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ก็ได้โจมตีฐานที่มั่นของอิสราเอลอยู่เนืองๆ
และในปี 1985 นั่นเอง ที่นาสราลเลาะห์ ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าสภาบริหารของกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ เขาเดินทางไปอิหร่านหลายครั้งเพื่อปรึกษาและแจ้งความคืบหน้าของสงครามอิหร่านและอิรัก เนื่องจากเขาพูดภาษาเปอร์เซียได้ดีกว่าสมาชิกคนอื่นในกลุ่ม
และในเวลาต่อมา เขาก็ได้ขึ้นเป็นผู้นำกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ภายใต้การนำของเขา กลุ่มนี้มีจรวดพิสัยไกลไว้ใช้ ทำให้ยิงโจมตีหลายพื้นที่ทางเหนือของอิสราเอลได้มากขึ้น นาสราลเลาะห์เห็นว่า การปกครองแบบสาธารณรัฐอิสลามคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเลบานอน แต่ทางกลุ่มก็ไม่เคยยื่นข้อเสนอนี้ แก่ทางการเลบานอน หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
แล้วพอถึงปี 1992 กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ก็ได้ลงเลือกตั้งสมาชิกสภา ได้มา 12 ที่ แล้วนับจากนั้น กลุ่มนี้ก็ได้ลงสนามเลือกตั้งสมาชิกสภาในเลบานอนทุกครั้ง
นับจากก่อตั้งมาในปี 1982 ไม่เคยมีปีไหนที่กลุ่มเฮซบอลเลาะห์และอิสราเอลว่างเว้นจากการยิงจรวดหรือยิงปืนใส่กัน จนถึงกลางปี 2000 ที่อิสราเอลถอนกำลังออกจากทางใต้ของเลบานอน และเป็นครั้งแรกที่อิสราเอลได้ยุติการยึดครองดินแดนของโลกอาหรับ โดยไม่ต้องมีสนธิสัญญาใดใด แต่พอถึงปี 2006 ทั้งสองฝ่ายก็กลับมาสู้กันใหม่ กลายเป็นสงครามนาน 33 วัน ชาวเลบานอนเสียชีวิต 1,200 คน และอิสราเอลเสียชีวิต 160 คน แต่นั่นก็ทำให้ชื่อเสียงของเฮซบอลเลาะห์ขจรขจายกว่าเดิม
จนถึงช่วงปลายปี 2023 ที่กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์บุกโจมตีทางใต้ของอิสราเอล คร่าชีวิตไปกว่า 1,100 คน ดันให้อิสราเอลต้องประกาศสงคราม จนทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปกว่า 35,000 คน นับจากนั้น
ด้านกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ก็ได้แสดงความร่วมแรงร่วมใจกับชาวปาเลสไตน์ ด้วยการระดมยิงใส่ฐานที่มั่นอิสราเอล ตามแนวพรมแดนอิสราเอล - เลบานอน จนกลายเป็นเหตุโจมตีข้ามแดนรายวัน และทวีความรุนแรงตามลำดับ และมีชาวเลบานอนเสียชีวิตไปแล้ว 1,500 คน จนเมื่อไม่กี่วันมานี้ ที่การต่อสู้รุนแรงมากขึ้น มีชาวเลบานอนอพยพออกจากถิ่นฐานกว่า 118,000 คน ท่ามกลางปฏิบัติการทางอากาศที่อิสราเอลระดมโจมตีในเลบานอน ท้ายสุด ก็มีข่าวออกมาว่า นาสราลเลาะห์ ผู้นำกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ถูกสังหารเสียชีวิต
ในสายตาชาวเลบานอนส่วนใหญ่ พวกเขาชื่นชมการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของนาสราลเลาะห์ ซึ่งแตกต่างจากผู้นำและนักการเมืองชาวเลบานอนคนอื่นๆ เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เงินเดือนของเขาไม่ถึง 1,300 ดอลลาร์ หรือไม่ถึง 42,000 บาท แต่ชาวเลบานอนบางส่วนก็มองว่า นาสราลเลาะห์ ทำให้กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ กลายเป็นรัฐเล็กๆ ที่คอยกัดเซาะอำนาจของรัฐบาลในเลบานอน แล้วปล่อยให้อิหร่านมามีอิทธิพลเหนือประเทศนี้ ทั้งที่เลบานอนควรจะผูกสัมพันธ์กับชาติอาหรับผู้มั่งคั่งมากกว่า เพื่อช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
By IMCT News
อ้างอิงจาก https://www.middleeasteye.net/news/explainer-who-hezbollah-leader-hassan-nasrallah-profile-lebanon
© Copyright 2020, All Rights Reserved