Thailand
ส่งออกไทย มี.ค.ลด 10.9% ผลพวงทองคำ-ยานยนต์ ไทยฟื้นช้ากว่าหลายชาติด้วยปัญหาเชิงโครงสร้าง
30/4/2024
ส่งออกไทยโดนกระทบจากเทียบฐานสูงในเดือนมี.ค. ทำให้หด 10.9% เทียบปีก่อน เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และรถยนต์เป็นสินค้าที่หดตัวหนัก ทำให้ภาพรวมส่งออกของ Q1 อยู่ที่ -0.2% ประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งในตลาดโลกหลายสินค้าในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าผลของฐานสูงจะจางลง และการส่งออกจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่รายงานข้อมูลการส่งออกของไทยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2567 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยลดลง 10.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะการส่งออกทองคำในเดือนมีนาคม 2566 ที่มีมูลค่าสูงถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้การส่งออกทองคำในเดือนมีนาคม 2567 หดตัวถึง 75% อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่รวมทองคำ การส่งออกไทยในเดือนมีนาคม 2567 หดตัว 7.1%
นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายรายการก็หดตัวลงในเดือนมีนาคม 2567 โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อน และการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากความต้องการในตลาดอาเซียนที่ลดลง เมื่อพิจารณาตามตลาดส่งออก พบว่าการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญของไทยหดตัวเกือบทั้งหมด ยกเว้นสหรัฐฯ ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกไทยในไตรมาส 1/2567 หดตัว 0.2%
โดยในปี 2567 การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2565) ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดการส่งออกสินค้าหลายประเภทในตลาดโลก ทั้งจากความต้องการที่ลดลงในสินค้าบางรายการ เช่น HDD และรถยนต์ รวมถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในสินค้าเกษตร เช่น ข้าว และทุเรียน ที่คู่แข่งอย่างเวียดนามมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
แนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ผลกระทบจากฐานที่สูงในปีก่อนน่าจะลดลง ทำให้การส่งออกมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสที่เหลือ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงประมาณการการส่งออกไทยในปี 2567 ไว้ที่ 2.0%
IMCT NEWS
อ้างอิง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
© Copyright 2020, All Rights Reserved