Thailand
ขอบคุณภาพจาก RT
21/6/2024
มีรายงานอยู่หลายชิ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อ้างว่า ระบบเปโตรดอลลาร์ได้ตายไปแล้วอย่างเงียบๆ เปโตรดอลลาร์เป็นตัวแทนของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐกับซาอุดิอาระเบีย และย้ำเตือนให้เห็นถึงความสำคัญของดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายน้ำมันดิบ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1973 ซาอุดิอาระเบียเลือกที่จะค้าขายน้ำมันทั้งหมดในรูปเงินดอลลาร์ การตัดสินใจนี้มีขึ้นในช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำมัน และรัฐบาลซาอุฯ ตกลงที่จะเอาเงินสดส่วนเกินที่ได้มาจากการขายน้ำมัน ไปลงทุนกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพสหรัฐ
แล้วข้อตกลงนี้ ก็ช่วยให้ดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นสกุลเงินสำรองของโลกมานับจากนั้น และทำให้ซาอุฯ ผงาดขึ้นมาครอบครองการขายน้ำมันโลก การซื้อขายทั้งหมดต้องเชื่อมโยงกับราคาที่เป็นดอลลาร์ แต่แล้วข้อตกลงอายุ 50 ปีนี้ ก็สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ( 2024 ) ซาอุฯ ไม่ได้ต่อสัญญาข้อตกลง และทำให้ต่อไป ซาอุฯ จะขายน้ำมันในรูปสกุลเงินใดก็ได้
มีข่าวลือว่า เงินหยวนของจีน จะเข้ามาแทนที่ระบบเปโตรดอลลาร์ และนอกเหนือจากการใช้เงินเฟียตแล้ว มีข้อเสนอมากมายให้ใช้สกุลเงินคริปโต ผ่าน Ripple หรือเครือข่ายการชำระเงินที่ใช้เทคโนโลยียล็อกเชนในการจัดเก็บข้อมูล แต่ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเพียงแค่การพูดต่อๆ กันมา แต่ข้อเท็จจริงว่า ระบบเปโตรดอลลาร์ ได้ตายไปแล้วจริง ๆ หรือไม่ ยังคงไม่ชัดเจน
ทันทีที่รายงานเกี่ยวกับการจากไปของระบบเปโตรดอลลาร์ออกมา ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจากวอลล์สตรีท ต่างเพิกเฉยกับสิ่งนี้ ในขณะที่บางคนก็มองว่า ข้อตกลงเปโตรดอลลาร์ ไม่เคยมีอยู่จริง บ้างก็มองว่า ซาอุฯ ไม่น่าจะใช้สินทรัพย์อื่นมาซื้อขายน้ำมัน
ข่าวการล่มสลายของระบบเปโตรดอลลาร์ แพร่สะพัดไปไกลราวไฟลามทุ่งตามสื่อโซเชียลมีเดีย แต่ข้อตกลงในแบบนั้น อาจไม่เคยมีอยู่จริง มันดูเหมือนเป็นข่าวใหญ่ แต่หลายคนก็สงสัยว่า เหตุใดสื่อในกระแสหลักจึงไม่เล่นข่าวนี้เลย
จุดตั้งต้นของข่าวนี้ เริ่มมาจากใน X ที่รายงานว่า ข้อตกลงเปโตรดอลลาร์ล้มแล้ว เพราะซาอุฯ ไม่ต่อสัญญา และจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐ ไม่ได้เป็นสกุลเงินสำรองของโลกอีกต่อไป จากนั้น ก็เต็มไปด้วยความเห็นอย่างมากมาย เกรงว่า จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนทางการเงินตามมา
คำค้น “ เปโตรดอลลาร์ “ ติดเทรนด์ในกูเกิ้ลแทบจะในทันที มีอัตราการค้นหาคำนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับจากปี 2004 จากการรายงานของ กูเกิ้ล เทรนด์
แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศและในวอลล์สตรีท กลับออกมาชี้แขงว่า ข้อตกลงเปโตรดอลลาร์ ไม่เคยมีอยู่จริง อย่างน้อย ก็ไม่ใช่มีเนื้อหาอย่างที่โพสต์ส่งต่อกันไปจนเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก USB Global Wealth Management ขี้ให้เห็นถึงข่าวปลอมที่สร้างความประหลาดใจไปทั่วเช่นนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนของหลุมพรางแห่งความอคติ เขาบอกว่า ข้อตกลงเปโตรดอลลาร์มีการลงนามเมื่อเดือนมิถุนายน 1974 แต่ไม่ได้มีการพูดถึงสกุลเงินใดใด เพราะซาอุฯ ยังขายน้ำมันในรูปเงินปอนด์อังกฤษได้ด้วยซ้ำ หลังข้อตกลงนี้
แต่ที่แน่นอนก็คือ มีสัญญาณบางอย่างเมื่อไม่นานมานี้ว่า ซาอุฯ เปิดช่องทางมากขึ้น ในการยอมรับสกุลเงินอื่น นอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ มาใช้ในการซื้อขายน้ำมัน วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ซาอุฯ ได้พูดคุยกับจีนหลายปีแล้ว เรื่องการยอมรับให้ซื้อขายน้ำมันในรูปเงินหยวน
และถึงแม้ซาอุฯ กับจีน จะตกลงกันได้ แต่ซาอุฯ ก็ยังมีสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทหารใกล้ชิดกับสหรัฐอยู่ดี และข้อเท็จจริงว่า ระบบการเงินโลกเกือบทั้งหมด การประกันภัย และการขนส่งน้ำมัน จำเป็นต้องใช้ดอลลาร์ จึงมีแนวโน้มที่ซาอุฯ จะเก็บดอลลาร์ไว้ในคลังสำรองต่อไป เพื่อการจับจ่าย จากการเปิดเผยของ หัวหน้าฝ่ายวางกลยุทธ์การลงทุนโลกของ Schwab
และเนื่องจากซาอุฯ มีดอลลาร์เป็นทุนสำรองอย่างมากมาย คงไม่มีทางที่จะเปลี่ยนทางเลือกสกุลเงินในเร็ววัน ข้อมูลล่าสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า สัดส่วนดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองของโลก ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่มีสกุลเงินใดที่จะมีกำลังมากพอในการท้าทายอิทธิพลของดอลลาร์สหรัฐได้ แม้ธนาคารกลางทั่วโลกจะกระจายการถือครองไปยังสกุลเงินอื่น เช่น ดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์แคนาดา และหยวนจีน ก็ตาม
By IMCT News
อ้างอิงจาก https://watcher.guru/news/is-the-petrodollar-really-dead-analyzing-the-truth
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เปโตรดอลลาร์ถูกยุบไปแล้วจริงเหรอ ? แล้วตอนนี้ โลกใช้สกุลเงินใดซื้อขายน้ำมัน?
21/6/2024
มีข่าวคราวมากมายเกี่ยวกับซาอุดิอาระเบีย ในข้อตกลงค้าน้ำมันอายุ 50 ปี โดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ หรือที่เรียกกันว่า เปโตรดอลลาร์ มีคนตีความข่าวนี้ ทำนองว่า ข้อตกลงได้รับการลงนามครั้งแรกในปี 1974 เมื่อซาอุฯ ตกลงที่จะยอมรับดอลลาร์สหรัฐ ให้เป็นสกุลเงินซื้อขายน้ำมันทั่วโลก
แต่รายงานล่าสุด ระบุว่า ข้อตกลงเปโตรดอลลาร์นี้ได้ยุติลงแล้ว และซาอุฯ ก็มีเสรีภาพในการถอยห่างจากดอลลาร์สหรัฐได้เช่นกัน แต่ในความเป็นจริง ไม่มีข้อตกลงลักษณะนี้อยู่ในเอกสารใดใด และข้อตกลงที่ว่า ให้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสื่อกลางในการซื้อขายน้ำมันทั่วโลก ก็เป็นเพียงการกุขึ้นของใครบางคนเท่านั้น เอกสารจากรัฐบาลสหรัฐในปี 1974 ที่ถูกปลดจากการเป็นเอกสารลับ แสดงให้เห็นว่า ไม่มีข้อตกลงเปโตรดอลลาร์เกิดขึ้นเลย
และสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ก็คือ ดอลลาร์สหรัฐยังคงถูกใช้เป็นสกุลเงินตามพฤตินัย ในการซื้อขายน้ำมัน ซาอุฯ ประกาศเมื่อสองปีที่แล้วว่า กำลังเปิดกว้างยอมรับสกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายน้ำมัน แต่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ยังคงใช้ดอลลาร์สหรัฐ เป็นสื่อกลางในการค้า ไม่ใช่สกุลเงินท้องถิ่น
ส่วนสกุลเงินท้องถิ่นของซาอุฯ คือ เงินริยาล ซึ่งถูกตรึงไว้กับดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้ซาอุฯ ต้องพึ่งพาการใช้ดอลลาร์ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สกุลเงินท้องถิ่นอื่นๆ ยากที่จะใช้แทนที่ดอลลาร์สหรัฐได้ และเปโตรดอลลาร์ ก็ยังคงใช้กันอย่างกว้างขวาง
ข้อมูลล่าสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ พบว่า ดอลลาร์สหรัฐยังเป็นสกุลเงินที่ใช้กันมากที่สุดในการซื้อขายน้ำมัน ประมาณ 59% ของการซื้อขายน้ำมันภายใต้ระบบ SWIFT เป็นการทำในรูปแบบเปโตรดอลลาร์ สะท้อนชัดถึงอิทธิพลของดอลลาร์สหรัฐ ในภาคน้ำมันและก๊าซของโลก
ส่วนยูโรตามมาเป็นอันดับสอง โดยคิดเป็นสัดส่วน 20% ของการซื้อขายน้ำมันในระบบ SWIFT และส่วนใหญ่ก็เป็นการซื้อขายน้ำมันที่มาจากฟากยุโรปเอง เงินหยวนจีนมีใช้เพียง 2% ของข้อตกลงซื้อขายน้ำมันทั้งหมด แม้ว่า เงินหยวนพยายามก้าวขึ้นมาท้าทายดอลลาร์สหรัฐและเปโตรดอลลาร์ โดยสรุปก็คือ ดอลลาร์สหรัฐยังคงเป็นสกุลเงินโดยพฤตินัยที่ใช้ซื้อขายน้ำมัน และระบบเปโตรดอลลาร์ ก็ยังคงใช้กันอยู่
By IMCTNews
อ้างอิงจาก https://watcher.guru/news/whats-happening-between-the-u-s-dollar-petrodollar
© Copyright 2020, All Rights Reserved