25/6/2024
หนี้ของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 34.7 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 23.3 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคม 2020 หรือเพิ่มจาก 27.6 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคม 2021
หนี้สาธารณะได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วมากจนไม่น่าจะเชื่อว่าเป็นไปได้ ในช่วง 4ปี 5เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 หนี้รัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้น 11.4 ล้านล้านดอลลาร์
คำถามคือใครเป็นผู้ถือหนี้จำนวน 34.7 ล้านล้านดอลลาร์นี้ในปัจจุบัน? เราพอจะจำแนกได้ดังนี้:
1. กองทุนของรัฐบาลสหรัฐฯ: 7.1 ล้านล้านดอลลาร์ กองทุนบำเหน็จบำนาญรัฐบาลสหรัฐฯ หลายแห่ง รวมทั้ง Social Security Trust Fund พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ถือครองโดยกองทุนรัฐบาลเหล่านี้จะไม่มีการซื้อขายในตลาด กองทุนรัฐบาลจะซื้อพันธบัตรโดยตรงจากกระทรวงการคลัง แล้วถือครองจนครบอายุกำหนดไถ่ถอนตามมูลค่าที่ตราไว้
พันธบัตรส่วนที่เหลือ 27.6 ล้านล้านดอลลาร์เป็นหลักทรัพย์ที่ “ถือครองโดยสาธารณะ”
2. ผู้ถือครองพันธบัตรต่างชาติ: 8.0 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการถือครองของภาคเอกชน และการถือครองโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆทั่วโลก
ที่เหลือ 26.9 ล้านล้านดอลลาร์ (ณ เดือนมีนาคมทีผ่านมา)เป็นการถือครองภายในสหรัฐอเมริกา
3. กองทุนรวมสหรัฐ: 4.8 ล้านล้านดอลลาร์ ที่ถือครองทั้งพันธบัตรระยะยาว และสั้น
4. Federal Reserve: 4.6 ล้านล้านดอลลาร์ เฟดถือครองพันธบัตรผ่านการทำQE คือการพิมพ์เงินดอลลาร์เข้าไปซื้อโดยตรง แต่ภายใต้โครงการ QT เฟดได้ลดการถือครองพันธบัตรลง 1.31 ล้านล้านดอลลาร์นับตั้งแต่จุดสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2022
5. บุคคลธรรมดาในสหรัฐฯ: ประมาณ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ บุคคลธรรมดาถือครองพันธบัตรรัฐบาลในบัญชีในสหรัฐอเมริกา
6. ธนาคาร: ประมาณ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในเดือนมีนาคม 2023 ธนาคารต่างๆ ซึ่งถือครองพันธบัตรระยะยาวและ Mortgage-Backed Securitiesจำนวนมากต้องประสบกับการขาดทุนทางบัญชี เนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาพันธบัตรลดลง และเมื่อผู้ฝากเงินเห็นสิ่งนี้ จึงเกิดความกลัวและพากันแห่ถอนเงินออกมา ธนาคารบางแห่งก็พังทลายลง
7. รัฐบาลของมลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น: ประมาณ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์
8. กองทุนบำเหน็จบำนาญ: ประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์
9. บริษัทประกันภัย: ประมาณ 510 พันล้านดอลลาร์ Berkshire Hathaway กลุ่มบริษัทประกันภัยของ Warren Buffett ได้เพิ่มการถือครอง T-bill เป็น 153 พันล้านดอลลาร์
10. อื่นๆ: ประมาณ 400 พันล้านดอลลาร์
การถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐค่อนข้างจะกระจายในกลุ่มนักลงทุน สถาบันการเงิน ธนาคารกลางและกองทุนต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐมีการเพิ่มหนี้อย่างรวดเร็ว และกระทรวงการคลังจำต้องออกพันธบัตรมาไฟแนนซ์การกู้เงินของรัฐบาล ทำให้ผู้ถือครองอาจต้องการอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น แต่อัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นยิ่งจะทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาลสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งจะทำให้กระทรวงการคลังต้องออกพันธบัตรเพิ่มมาจ่ายหนี้ ท้ายที่สุดแล้วเฟดอาจจะต้องกลับมาเป็นผู้ซื้อพันธบัตรเองถ้าหากอุปทานของพันธบัตรที่ออกมามีล้นเหลือ และอุปสงค์ในตลาดมีไม่พอ ซึ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลลดลงไป
IMCT News
ที่มา wolfstreet.com