Thailand
“กับดักธูสิดีดิส” (Thucydides’s Trap)
07/03/2024
คำว่า “กับดักธูสิดีดิส” ได้รับการกล่าวถึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วง “การผงาดขึ้นมาของจีน” (The Rise of China) และ “การตกต่ำของสหรัฐอเมริกา” (The Decline of America) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา แต่ผู้ที่ทำให้คำนี้กลายเป็นมโนทัศน์ทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและทางนโยบาย(ต่างประเทศ)ที่ติดตลาด คงจะไม่มีใครเกิน Graham Allison ศาสตราจารย์ประจำ John F. Kennedy School of Government และอดีตผู้อำนวยการ Belfer Center for Science and International Affairs แห่ง Harvard University
“กับดักธูสิดีดิส” สะท้อน-กำกับ-กำหนดปรากฏการณ์แห่งยุคสมัยที่อำนาจโลกกำลังเปลี่ยนผ่านอย่างพลิกผัน จากมหาอำนาจเก่าสู่มหาอำนาจใหม่
ชื่อ “กับดักธูสิดีดิส” มาจากผู้ประพันธ์หนังสือ “ประวัติศาสตร์ของสงครามเพลอปปอนเนเชียน” (The History of the Peloponnesian War) นั่นคือ ธูสิดีดิส นักประวัติศาสตร์ในยุคกรีกโบราณในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล
ธูสิดีดิสศึกษาสาเหตุของสงครามว่าทำไมสปาร์ตา ในฐานะมหาอำนาจดั้งเดิม จึงเลือกตัดสินใจประกาศสงครามกับเอเธนส์ ซึ่งเป็นมหาอำนาจเกิดใหม่ ธูสิดีดิสเสนอว่า สิ่งที่ทำให้สงครามเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั้นมาจากการผงาดขึ้นมาเชิงอำนาจของเอเธนส์ ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้แก่สปาร์ตา
บทเรียนจากอดีตแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจโลกนั้นมักติด “กับดัก” ดังกล่าว ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศ จนสงครามกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง กล่าวคือ ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจโลก เรามักเห็นการเปลี่ยนผ่านที่ไร้สันติ ซึ่งส่งผลสะเทือนต่อรูปลักษณ์หรือการจัดระเบียบโลกที่ย่อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
“กับดักธูสิดีดิส” เป็นโจทย์สำคัญที่สุดประการหนึ่งในช่วงขณะใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในปัจจุบัน หลายคนคงจะได้ยินชุดคำถามทำนองนี้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นจีนจะผงาดขึ้นมาแทนที่สหรัฐฯ ได้หรือไม่ การก้าวขึ้นมานั้นจะก่อให้เกิดสงครามระหว่างประเทศหรือไม่ เช่น จะเกิด “สงครามโลกครั้งที่ 3” หรือไม่ และจะเปลี่ยนแปรระเบียบระหว่างประเทศหรือไม่ ในทิศทางไหน ระเบียบโลกจะปรับไปสู่ “ระเบียบโลกแบบอเสรีนิยม” (Illiberal World Order) หรือไม่?
บทความชิ้นนี้จะลองอ่าน “กับดักธูสิดีดิส” ว่าทำไมจึงมีความสำคัญต่อการเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 และธูสิดีดิสบอกอะไรกับเราเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านอำนาจโลก รวมทั้งเราจะก้าวข้ามกับดักธูสิดีดิสได้หรือไม่
เมื่อผู้นำโลกถกแถลง “กับดักธูสิดีดิส”
บางท่านคงคิดว่า “กับดักธูสิดีดิส” เป็นเพียงมโนทัศน์ของนักวิชาการบนยอดหอคอยงาช้างเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ แนวคิดนี้ได้รับการพูดถึงและถกเถียงกันในหมู่ผู้นำและผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศอย่างกว้างขวาง
ยกตัวอย่างเช่น ในการประชุมสุดยอดผู้นำในปี 2015 Barack Obama ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนได้สนทนากันเรื่อง “กับดักธูสิดีดิส” เป็นเวลานาน โดย Obama กล่าวว่า แม้จะมีความตึงเครียดในเชิงโครงสร้างอันเกิดจากการผงาดขึ้นมาของจีน แต่เขาเชื่อมั่นว่า “ทั้งสองประเทศจะสามารถบริหารจัดการความเห็นต่างได้” ในขณะเดียวกัน สีจิ้นผิงกล่าวว่า “ถ้าหากว่ารัฐมหาอำนาจตัดสินใจและคาดการณ์ทางยุทธศาสตร์ผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง พวกเขาก็อาจจะสร้างกับดักดังกล่าวขึ้นมาให้แก่ตัวเอง” ซึ่ง Obama เองก็เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว
“กับดักธูสิดีดิส” ได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นในวงวิชาการและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านงานของ Graham Allison เช่น บทความชื่อ “The Thucydides Trap: Are the US and China headed for War?” ในวารสาร The Atlantic ในปี 2015 หรือหนังสือเล่มล่าสุดชื่อ Destined for War: Can America and China Escape Thucydides’s Trap? (2017) เป็นต้น
ทั้งนี้ Allison ยังทำให้มโนทัศน์นี้เป็นที่นิยมในวงวิชาการและนโยบายต่างประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชน จากการไปบรรยายให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา เขายังได้สรุปประเด็นสำคัญของ “กับดักธูสิดีดิส” ให้แก่ สภาความมั่นคงแห่งชาติของ Donald Trump ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อีกด้วย
“กับดักธูสิดีดิส” ในมุมมองของ Graham Allison
Graham Allison นิยาม “กับดักธูสิดีดิส” ว่าเป็น “ความตึงเครียดเชิงโครงสร้างอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อรัฐมหาอำนาจที่กำลังผงาดขึ้นมา คุกคามที่จะท้าทายมหาอำนาจเดิม” ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อมหาอำนาจใหม่อย่างเอเธนส์ท้าทายความเป็นใหญ่ของสปาร์ตาในยุคกรีกโบราณ เรามักจะเข้าใจกันว่าสิ่งที่ทำให้สงครามเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั้น มาจากการผงาดขึ้นมาเชิงอำนาจของเอเธนส์ ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้แก่สปาร์ตา
อย่างไรก็ดี Allison เสนอว่า สงครามนั้นสามารถหลีกเลี่ยงได้ในการเปลี่ยนผ่านอำนาจโลก และมองว่าข้อเสนอของธูสิดีดิสเกี่ยวกับความไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั้นเป็นเพียง “อติพจน์” (hyperbole) กล่าวคือ เป็นเพียงการกล่าวเกินจริงเพื่อเป้าหมายของการเน้นย้ำ เขากล่าวว่า “ประเด็นของกับดักธูสิดีดิสไม่ใช่ชะตากรรมนิยม (fatalism) หรือการมองโลกในแง่ร้าย แต่มันช่วยชี้ให้เราเห็นมากกว่าพาดหัวข่าวรายวันและวาทศิลป์ของระบอบการเมือง เพื่อที่จะตระหนักถึงความตึงเครียดเชิงโครงสร้าง ซึ่งจีนและสหรัฐฯ จำต้องเข้าใจอย่างช่ำชองเพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์แบบสันติ”
ในหนังสือ Destined for War: Can America and China Escape Thucydides’s Trap? (2017) Allison ได้ศึกษาวิจัยกรณีศึกษาในพัฒนาการของระบบระหว่างประเทศ โดยเสนอว่ามีเพียง 4 จาก 16 กรณีศึกษาในช่วงห้าร้อยปีของประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านอำนาจโลกเท่านั้น ที่เป็นไปโดยสันติ ตัวอย่างของการเปลี่ยนผ่านอำนาจโลกแบบสันติที่สำคัญมากได้แก่ กรณีอังกฤษกับสหรัฐฯ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20
สำหรับ Allison กับดักธูสิดีดิสนั้นเป็นเพียงการเปรียบเปรยทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเลนส์ในการทำความเข้าใจการเมืองโลกในปัจจุบัน โดยสหรัฐฯ และจีนสามารถที่จะหลีกเลี่ยงสงคราม บนพื้นฐานที่ทั้งสองฝ่ายต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ และตระหนักว่าสงครามเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศิลป์แห่งรัฐ (statecraft) และการนำ (leadership) เขาเสนอด้วยว่า “ธูสิดีดิสก็คงเห็นด้วยว่าสงครามระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตาก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”
“กับดักธูสิดีดิส” ในมุมมองของธูสิดีดิส
ในปี 1861 Karl Marx ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งระหว่างอ่านงาน The History of the Peloponnesian War ของ Thucydides เพื่อคลายความกังวลใจช่วงนั้น ถ้อยความตอนหนึ่งเขียนว่า “อย่างน้อย คนโบราณเหล่านี้ยังคงใหม่อยู่ตลอดกาล”
หากเราลองกลับไปอ่านตัวบทของธูสิดีดิสอย่างละเอียดลออจะยิ่งเห็นถึงความซับซ้อนของ “กับดักธูสิดีดิส”
ในย่อหน้า 1.23.6 ธูสิดีดิสกล่าวว่า การผงาดขึ้นมาของอำนาจเอเธนส์นั้นสร้างความหวาดกลัวให้แก่สปาร์ตา ซึ่ง “ถูกบีบบังคับ” ให้จำต้องเข้าสู่สงคราม ตรรกะดังกล่าวมีการกล่าวซ้ำอีกครั้งในย่อหน้า 1.88 เมื่อธูสิดีดิสเน้นย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าชาวสปาร์ตาตัดสินใจหรือ “ลงคะแนนเสียง” ที่จะเข้าสู่สงครามเนื่องจาก “พวกเขามีความจำเป็น” ในขณะนั้น เพราะว่า “พวกเขากลัว” ว่าเอเธนส์ซึ่งควบคุมบริเวณส่วนใหญ่ของกรีซ “จะเพิ่มอำนาจของตนมากขึ้นกว่าเดิม” สงครามจึงเกิดขึ้นในช่วงขณะทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากการตัดสินใจนั้นเกิดจากความจำเป็น (necessity) มากกว่าความหวาดกลัว (fear)
ดังนั้น สงครามระหว่างมหาอำนาจจึงไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตราบใดที่มหาอำนาจนั้นไม่ได้รู้สึกถูกบีบบังคับให้ต้องเข้าสู่สงคราม วิธีการคิดในลักษณะนี้สอดคล้องต้องกันกับข้อเสนอหลักของธูสิดีดิสที่เสนอไว้ในย่อหน้า 1.75.3 ว่า สิ่งที่ผลักดันมนุษย์หรือรัฐให้ตัดสินใจทำสงครามหรือสร้างสันติภาพนั้นมาจากความจำเป็น ตามมาด้วยผลประโยชน์ (interest) ความหวาดกลัว (fear) และเกียรติ (honor) ตามลำดับ
คำถามที่ตามมาคือ ใครที่รู้สึกถึงความจำเป็นดังกล่าว หรือใครที่จะตัดสินว่ามีความจำเป็นในการทำสงครามหรือไม่? คำตอบปรากฏอยู่ในย่อหน้า 1.76.2 ซึ่งธูสิดีดิสนำเสนอปัจจัยของมนุษย์ นั่นคือ การตัดสินใจทำสงครามหรือสร้างสันติภาพนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ (human nature) ซึ่งรวมถึงผลประโยชน์ ความหวาดกลัว และเกียรติ
สำหรับธูสิดีดิสแล้ว นี่ไม่ใช่โชคชะตา (fate) มนุษย์ต่างหากที่เป็นผู้กำหนดชะตากรรมในมือของตนเอง มนุษย์อาจจะตกอยู่ในภาวะไร้เหตุผล (irrationality) ของสงคราม (ย่อหน้า 2.61.1) เนื่องมาจากการตัดสินใจของมนุษย์เอง กล่าวคือ มนุษย์นั้นคิดคำนวณ ดังที่ธูสิดีดิสกล่าวไว้ว่า
“ไม่มีผู้ใดถูกผลักดันเข้าสู่สงครามโดยไม่รู้ถึงผลลัพธ์ที่ตามมา และไม่มีผู้ใดจะถูกยับยั้งป้องปรามได้ด้วยความหวาดกลัว หากเขาเชื่อเสียแล้วว่าจะได้มากกว่าเสีย สงครามปะทุขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่งพิจารณาแล้วว่าผลได้ที่คาดว่าจะได้รับมากกว่าความเสี่ยง และอีกฝ่ายหนึ่งตั้งมั่นยอมเผชิญความเสี่ยง แทนที่จะอดกลั้นต่อความเสียหายโดยตรงต่อผลประโยชน์ของเขา” (4.59.2)
อย่างไรก็ดี มนุษย์ก็สามารถคิดคำนวณผิดพลาดได้ เพราะทัศนคติบางอย่างเอื้ออำนวยให้มนุษย์เลือกที่จะเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความกล้าบ้าบิ่น ความละโมบ แรงปรารถนา หรือความหวัง ในทัศนะของธูสิดีดิส ความละโมบเกิดจากความอหังการ (hubris) เพราะความเชื่อมั่นในอำนาจมากจนเกินไป ในขณะที่ความหวังตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าโชคจะช่วย ซึ่งบางครั้งอาจจะผลักดันให้มนุษย์หรือรัฐเสี่ยงที่จะใช้กำลังตัดสิน โดยประเมินกำลังของตนสูงเกินจริง และไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ใหญ่หลวงกว่านั้น เช่น เสรีภาพหรือความเที่ยงธรรม
ธูสิดีดิส กล่าวว่า
“มันเป็นไปไม่ได้และโง่เขลาอย่างยิ่งที่จะเชื่อว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่อมุ่งมาดปรารถนาที่จะทำสิ่งใด จะถูกยับยั้งได้ด้วยอำนาจของกฏหมายหรือความหวาดกลัว” (3.45.4-7)
ในมุมมองของธูสิดีดิส หากต้องการหลีกเลี่ยงสงคราม (โดยเฉพาะยิ่งภายใต้ความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์ในปัจจุบัน) สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือการที่มนุษย์โดยเฉพาะผู้นำพึงหลีกเลี่ยงทัศนคติต่างๆ ข้างต้น
นี่อาจจะเป็นกับดักที่แท้จริงของธูสิดีดิส สีจิ้นผิงเองก็เคยตักเตือนถึงกับดักที่รัฐมหาอำนาจอาจจะเป็นผู้สร้างมันขึ้นมาเอง ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้
ข้ามพ้นกับดักธูสิดีดิส?
สำหรับกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจโลกในอนาคตอันใกล้ สหรัฐฯ และจีนจะเดินหน้าเข้าสู่ “กับดักธูสิดีดิส” หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ส่งผลกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ 4 ประการ ได้แก่
ประการแรก นโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวของจีนภายใต้สีจิ้นผิง ตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 2009 เป็นต้นมา นโยบายต่างประเทศของจีนที่มีความแข็งกร้าวเพิ่มมากขึ้น ทั้งในมิติของการเพิ่มขีดความสามารถและงบประมาณทางกลาโหมและกองทัพอย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างกองทัพเรือและเรือดำน้ำที่อ่าว Yalong ที่เกาะ Hainan การพัฒนาขีดความสามารถระบบการโจมตีอย่างแม่นยำด้วยอาวุธตามแบบ (conventional precision-strike capabilities) การพัฒนาขีปนาวุธพิสัยใกล้และกลาง เพื่อป้องกันชายฝั่ง โดยมีรัศมีทำลายล้างครอบคลุมฐานทัพอเมริกันในภูมิภาค รวมทั้งการสร้างเรือบรรทุกอากาศยานในทะเลจีนใต้ เป็นต้น
เราเห็นความพยายามของจีนในการขยายอิทธิพลทางทะเลในเอเชีย-แปซิฟิก หรือย่านแปซิฟิกตะวันตก ได้แก่
การขยายเขตอิทธิพลจาก First Island Chain ซึ่งครอบคลุมทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้ ไปยัง Second Island Chain ซึ่งครอบคลุมหมู่เกาะ Marianas
การกำหนดยุทธศาสตร์ต่อต้านการเข้ามา/ปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ หรือ A2/AD (Anti-Access/Area Denial strategy) ซึ่งกำหนดเขตอิทธิพลที่จีนมีบทบาทในการกีดกันไม่ให้กองกำลังทหารของมหาอำนาจเข้ามาในบริเวณดังกล่าว และจำกัดประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์ forward defense ของสหรัฐฯ ซึ่งขยายแนวป้องกันประเทศออกมาภายนอกภูมิภาคเพื่อรับมือกับภัยคุกคาม และรักษาความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วยฐานทัพอเมริกันในภูมิภาค (ได้แก่ ฐานทัพเรือที่ Okinawa) เรือบรรทุกอากาศยาน และระบบสารสนเทศทางการทหารแบบ C4ISR (command, control, communications, computers, intelligence, surveillance, and reconnaissance systems) เป็นต้น โดยในปัจจุบัน จีนได้พัฒนาระบบการโจมตีอย่างแม่นยำด้วยอาวุธตามแบบเป็นเครื่องมือสำคัญในการตอบโต้กับการเข้ามาของกองกำลังต่างชาติในเขตอิทธิพลของจีน
การประกาศให้ทะเลจีนใต้เป็น “ผลประโยชน์หลัก” (core interests) ของจีน นอกเหนือไปจากประเด็นปัญหาไต้หวัน ธิเบต และซินเจียง เป็นต้น
การจัดตั้งเขตป้องกันภัยทางอากาศหรือ ADIZ (Air Defense Identification Zone) ในทะเลจีนตะวันออก เหนือหมู่เกาะ Diaoyudao/ Senkaku ซึ่งจีนและญี่ปุ่นอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะดังกล่าว
ประการที่สอง ความพยายามในการสร้างระเบียบโลกที่นำโดยจีนขึ้นมาคู่ขนานและอาจจะ bypass ระเบียบโลกดั้งเดิมแบบเสรีนิยมที่นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งออกอาการว่าไม่ทำงานหรือชะงักงัน และ/หรือ ไม่มีความชอบธรรมในสายตาของรัฐในซีกโลกใต้ดังเดิม
ทุกวันนี้เราเห็นการก่อตัวของการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคที่เข้ามาจัดระเบียบระหว่างประเทศใหม่โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน โดยจีนมีบทบาทนำในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการสร้างกลไกระหว่างประเทศใหม่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางสายไหม (Silk Road Infrastructure Fund: SRIF) รวมทั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ภายใต้กลุ่ม BRICS เป็นต้น ซึ่งสั่นสะเทือนระเบียบโลกแบบเสรีนิยมแบบเดิม รวมทั้งอำนาจนำของสหรัฐฯ
ประการที่สาม ความอ่อนแอของการนำ (leadership) ของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาล Donald Trump ยิ่งทำให้ประเด็น “ความตกต่ำของสหรัฐฯ” นั้นทวีความชัดเจนมากขึ้น และสร้างความไม่แน่นอนให้แก่ระบบพันธมิตรภายใต้สหรัฐฯ บรรดาผู้นำโลกเสรีที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ต่างเริ่มกังขาต่อภาวะการนำของสหรัฐฯ
แต่เดิม อย่างน้อยก็ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เป้าประสงค์สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ คือ ความพยายามในการธำรงรักษาอำนาจนำหรือ hegemony ในการเมืองโลก โดยไม่ต้องการให้มีมหาอำนาจใดหรือกลุ่มของมหาอำนาจใดก้าวขึ้นมาท้าทายหรือต่อต้านอำนาจนำของสหรัฐฯ แต่ยุทธศาสตร์หรือการไร้ยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดี Donald Trump ในเอเชีย-แปซิฟิกส่งสัญญาณให้เห็นถึงความไม่แน่นอนว่าสหรัฐฯ ดำเนินยุทธศาสตร์เช่นใดต่อทั้งการผงาดขึ้นมาของจีน และต่อความสัมพันธ์กับพันธมิตรดั้งเดิม
ประการที่สี่ ปัญหาความขัดแย้งร้าวลึกในระดับภูมิภาคของเอเชีย-แปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคาบสมุทรเกาหลีและการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ปัญหาทะเลจีนใต้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัญหาทะเลจีนตะวันออกหรือปัญหาทางการตีความทางประวัติศาสตร์กับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นต้น
ปัญหาเหล่านี้อาจจะปะทุขึ้นมาได้จากการเผชิญหน้าระหว่างรัฐต่างๆ ในภูมิภาค หรือมีแนวโน้มที่อาจจะขยายเป็นความขัดแย้งระดับภูมิภาคที่ชักนำรัฐมหาอำนาจต่างๆ เข้ามาได้ ปัญหาดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบและสั่นคลอนเสถียรภาพและระเบียบภายในภูมิภาคนี้อย่างมีนัยสำคัญ
เราคงไม่อาจทำนายทายทักได้อย่างชัดแจ้งว่าอะไรจะเกิดขึ้นในการเปลี่ยนผ่านอำนาจโลก แต่อย่างน้อยที่สุดเราเห็นแล้วว่ามหาอำนาจชั้นนำของโลก คือ สหรัฐฯ และจีน จะเป็นตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการจัดระเบียบโลกในศตวรรษที่ 21 แม้ว่าจะมีความอสมมาตรทางอำนาจในเชิงเปรียบเทียบ และความแตกต่างของบทบาทของทั้งสองมหาอำนาจต่อการสรรสร้างปทัสถานและกติกาในระดับโลก
ทั้งนี้ สหรัฐฯ จะยังคงมีบทบาทนำเหนือกว่าจีนในทั้งสองมิติในอนาคตอันใกล้นี้ แต่จีนเองก็พยายามลดช่องว่างทางสถานะ อำนาจและกติกาต่างๆ ผ่านการเพิ่มขีดความสามารถในด้านกลาโหมและเศรษฐกิจ รวมทั้งการออกแบบสถาบันระหว่างประเทศใหม่
ในศตวรรษที่ 21 ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด และมีสีสันมากที่สุดประการหนึ่งในพลวัตเชิงอำนาจในการเมืองโลก
ยุทธศาสตร์ที่ผู้นำสหรัฐฯ จะกำหนดและนำนโยบายไปปฏิบัตินั้นขึ้นอยู่กับ “การมอง” (การผงาดขึ้นมาของ)จีนว่าจะเป็น “มิตร” “คู่แข่งขัน” หรือ “ศัตรู” ของสหรัฐฯ กันแน่ ถ้าหากว่าสหรัฐฯ มองว่าจีนเป็น “ศัตรู” และหวาดระแวงการผงาดขึ้นมาทางอำนาจของจีน ดังเช่นกรณีระหว่างสปาร์ตากับเอเธนส์ สหรัฐฯ ก็จะดำเนินยุทธศาสตร์การสกัดกั้นหรือการเผชิญหน้า ซึ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจอาจจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อผนวกกับความขัดแย้งร้าวลึกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ความเสี่ยงของสงครามระหว่างรัฐมหาอำนาจอาจจะเป็นโศกนาฏกรรมแห่งศตวรรษที่ 21
โจทย์สำคัญที่สุดประการหนึ่งของระเบียบโลกในศตวรรษที่ 21 จึงอยู่ที่ประเทศมหาอำนาจจะสามารถก้าวข้าม “กับดักธูสิดีดิส” ได้หรือไม่และอย่างไรนั่นเอง
โดย จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หมายเหตุ: บทความนี้เขียนในปี 2017 แต่ยังคงมีความทันสมัยกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน
IMCT NEWS
อ้างอิง : https://www.the101.world/thucydides-trap/
© Copyright 2020, All Rights Reserved