BRICS คิดใหม่ทำใหม่ปฏิรูปเศรษฐกิจโลก
หลายคนอาจคิดว่า BRICS คือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจแบบที่เห็นทั่วไปในสังคมโลก แต่จริงๆ แล้ว BRICS มีความลึกซึ้งมากกว่านั้น เพราะนอกจากจะช่วยเหลือกันในด้านการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกแล้ว องค์กรนี้ยังมีส่วนช่วยกำหนดเศรษฐกิจโลกแบบใหม่ในอนาคตอีกด้วย
ขอบคุณแฟ้มภาพจาก fb BRICS
15/3/2024
บทความของ Soumya Bhowmick ผู้เชี่ยวชาญจาก Observer Research Foundation ซึ่งโพสต์ลงใน infobrics.org ระบุว่า ในสภาวการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่ความเปลี่ยนแปลง BRICS ถือเป็นหมากสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนี้ เราจะมาเจาะลึกในด้านการค้า การลงทุน และการเงินของ BRICS
ต้นกำเนิด BRICS น่าจะนับย้อนไปได้ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 เมื่อบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน รวมกลุ่มกันแบบหลวมๆ ภายใต้ชื่อ BRIC แล้วในปี 2009 แอฟริกาใต้ก็เข้ามาร่วมด้วยอีกชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์เศรษฐกิจโลก และให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา หรือ เศรษฐกิจเกิดใหม่ มีปากมีเสียงกันมากขึ้น
สิ่งหนึ่งที่ BRICS เริ่มทำคือการจัดตั้ง New Development Bank หรือ NDB ในปี 2013 โดยมีทุนเริ่มต้น 50,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.75 ล้านล้านบาท เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการให้ประเทศสมาชิกได้กู้ยืมเงิน นอกเหนือจากสถาบันการเงินอื่นๆ ที่คงอยู่ NDB มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
ถ้ามาดูในแง่การค้าและการลงทุน โดยพุ่งไปที่จีนกับอินเดีย สองสมาชิก BRICS การค้าระดับทวิภาคีระหว่างอินเดียกับจีน พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 135,980 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2022 โดยอินเดียขาดดุลการค้ากับจีน ทะลุ 100,000 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก จีนยังมีจีดีพีมากกว่าเป็นเท่าตัว เมื่อเทียบกับจีดีพีของชาติสมาชิกที่เหลือของ BRICS รวมกันเสียอีก ก็สะท้อนให้เห็นว่า จีนมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของกลุ่ม โดยหวังว่า จะทำให้ BRICS สามารถงัดกับอิทธิพลของสหรัฐในเวทีโลก และส่งเสริมให้โลกเกิดหลายขั้วอำนาจ
แต่ความหลากหลายของชาติสมาชิกใน BRICS ก็เป็นความท้าทายสำคัญในการลงมติตัดสินใจประเด็นต่างๆ ยิ่งกลุ่ม BRICS ขยายตัว ความซับซ้อนก็ยิ่งตามมา แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของอินเดีย ก็ทำให้ BRICS แข็งแกร่งขึ้นในด้านการเงินและศักยภาพ ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม BRICS มีพื้นที่รวมกันประมาณ 26% ของพื้นที่โลกที่อยู่บนบก ครอบคลุมประชากร 42% ของทั้งหมดทั่วโลก มียอดส่งออกสินค้าคิดเป็น 18% ของโลก และตัวเลขนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้น อัตราการขยายตัวของการส่งออกระหว่างชาติสมาชิก BRICS แซงหน้าโลกโดยเฉลี่ยไปแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเชิงลึกระหว่างกลุ่ม BRICS
กลยุทธ์ของ BRICS คือการปรับตัวให้เข้ากับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ พุ่งเป้าส่งเสริมมูลค่าการค้าของพวกเขา และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้มากขึ้น ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา ประเทศกลุ่ม BRICS มีสายสัมพันธ์ทางการค้าและร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในหลายมิติ ครอบคลุมทั้งข้อตกลงการค้าเสรี และยุทธศาสตร์การส่งออก รวมถึงการงดเว้นภาษี ลดภาษี และการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งในภาคสินค้าและบริการ ก่อให้เกิดการขยายตัวทางการค้า และมีตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกสมาชิก การจัดตั้งกลุ่ม BRICS จึงสำคัญกับเศรษฐกิจโลก
จากข้อมูลของ UNCTAD หรือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา พบว่า ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติภายในกลุ่ม BRICS มีเพิ่มขึ้นจาก 27,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2010 เป็น 167,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 โดยมีจีนเป็นหัวหอกสำคัญ เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ในการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติระหว่างสมาชิก BRICS ยิ่งไปกว่านั้น บราซิลกับอินเดียก็มีการลงทุนขยายตัวจากบรรดาเพื่อนสมาชิก BRICS เว้นแค่รัสเซียที่มีการขยายตัวแบบกลางๆ และแอฟริกาใต้ที่การลงทุนขยายตัวลดลงเล็กน้อย
ชาติสมาชิก BRICS ยอมรับถึงความจำเป็นที่ต้องร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุนให้แข็งแกร่ง เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในระดับโลก และระบบห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาค พวกเขาพุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการลงทุนในภาคการผลิตและคมนาคม โดยยอมรับว่า เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สมาชิก BRICS เป็นที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ แม้ในยามที่เกิดโรคระบาด กลุ่มสื่อสารในด้านเศรษฐกิจการค้าของ BRICS ก็ได้เรียกร้องให้เพิ่มมาตรการเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดการพัฒนาในด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน ทั้งยังรวมถึงข้อริเริ่มให้เกิดการปรับปรุงอย่างโปร่งใสและต้องทำตามได้อย่างง่ายๆ สำหรับกระบวนการบริหารและข้อกำหนดเบื้องต้นของชาติสมาชิก
แม้การลงทุนในกลุ่มสมาชิกจะมีมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ก็ยังจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพให้มากขึ้นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลค่าการค้าในภูมิภาค ความร่วมมือกันในลักษณะนี้ จะช่วยให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดหาเงินทุนให้มากขึ้น อำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนเทคโนโลยี และให้เกิดโอกาสในการจ้างงาน ทั้งยังจำเป็นต้องจัดตั้งเครือข่ายไซเบอร์ให้มีความมั่นคงและยืดหยุ่นสำหรับการติดต่อสื่อสารกันภายในสมาชิก BRICS ตลอดจนสมาชิกขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย
โดยสรุปก็คือ BRICS เป็นกลุ่มที่นำร่องให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจโลก การค้า การลงทุนและความก้าวหน้าทางการเงิน โดยเน้นย้ำความสำคัญของกลุ่มในฐานะกองกำลังที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การจัดตั้ง New Development Bank หรือ NDB และความร่วมมือทางเศรษฐกิจเชิงลึกระหว่างชาติสมาชิก ส่งสัญญาณให้เห็นความพยายามของกลุ่มที่จะปรับระบบโลกเสียใหม่ BRICS จึงไม่ใช่แค่การรวมกลุ่มกันแบบธรรมดา แต่เป็นการรวมกลุ่มเพื่อกำหนดอนาคตเศรษฐกิจระหว่างประเทศ BRICS ยังเป็นเหมือนโอกาสในการพัฒนาสำหรับชาติสมาชิกในกลุ่มซีกโลกใต้อีกด้วย
By IMCTNews
อ้างอิงจาก https://infobrics.org/post/40672