Thailand
BRICS ผงาดแซง G7 สะท้อนอำนาจเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนขั้ว – นักวิชาการชี้สร้างระเบียบโลกใหม่ต้องใช้เวลา
11/8/2024
Wang Wen คณบดีบริหารแห่งสถาบันชงหยาง(Chongyang) เพื่อการศึกษาการเงิน มหาวิทยาลัยเหริญหมิน ประเทศจีน (Renmin University of China) เผยแพร่บทความในเว็บไซต์ news.az ว่า การสร้างระเบียบโลกใหม่เป็นกระบวนการที่ยาวนาน ปัจจุบันมีเสาหลักใหม่ๆ ผุดขึ้นมาเพื่อค้ำยันระเบียบใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงอย่างองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) กลไกความร่วมมือทางการเมืองอย่าง BRICS หรือสถาบันทางการเงินอย่างธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB)
อย่างไรก็ดี วาง เหวิน เห็นว่าเสาหลักเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะพลิกโฉมระเบียบเดิมได้ทั้งหมด แต่จะทำหน้าที่เสริมและปฏิรูประบบที่มีอยู่มากกว่า ส่วนพลังขับเคลื่อนที่แท้จริงสู่โลกหลายขั้วกลับมาจากโครงการความร่วมมือยักษ์ใหญ่อย่างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งก็ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกมาก เพราะโลกขั้วเดียวภายใต้การนำของชาติตะวันตกดำรงอยู่มานานกว่า 200 ปี แม้ว่าจะมีช่วงเวลาของการแบ่งขั้วในช่วงสงครามเย็น แต่ในขณะนี้ ภารกิจหลักคือการพัฒนากลไกการรวมกลุ่มใหม่
ขณะเดียวกัน อำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศ G7 และ BRICS ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อ 30 ปีก่อน เศรษฐกิจ BRICS มีขนาดเพียง 1 ใน 3 ของ G7 แต่ปัจจุบัน เมื่อวัดจากความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (PPP) BRICS ได้แซงหน้า G7 ไปแล้วอย่างสมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงนี้ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการพัฒนาโลก
อย่างไรก็ตาม G7 ยังคงมีรากฐานที่แข็งแกร่ง และนโยบายที่มุ่งควบคุมการเติบโตของเศรษฐกิจเกิดใหม่มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป ประเทศในกลุ่ม BRICS จึงจำเป็นต้องรักษาความถ่อมตนและระมัดระวัง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อให้สามารถแซงหน้า G7 ได้อย่างมั่นคง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบทบาทของพวกเขาบนเวทีโลก
นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้เศรษฐกิจเกิดใหม่จะมีศักยภาพสูง แต่ก็เผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งแรงขับเคลื่อนการขยายตัวในประเทศที่ยังไม่เพียงพอ และความเสี่ยงจากการล้นหลามของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นในระยะสั้น ภารกิจเร่งด่วนของเศรษฐกิจเกิดใหม่คือการเร่งปฏิรูปด้านอุปทาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร็ว และขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ผ่านความร่วมมือพหุภาคีระหว่างประเทศ เพื่อจะได้เติบโตได้ในระดับกลางถึงสูง
สุดท้าย วาง เหวิน สรุปว่า แม้ว่าจะมีการก่อร่างเสาหลักสำหรับระเบียบโลกใหม่ขึ้นมาแล้ว แต่ยังคงมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการต่อไป การพัฒนากลไกบูรณาการและการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างโลกที่มีหลายขั้วอำนาจอย่างแท้จริง เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกต่อไป
---IMCT NEWS---
ที่มา *หมายเหตุบรรณาธิการ:** Wang Wen เป็นคณบดีฝ่ายบริหารของ Chongyang Institute for Financial Studies ที่ Renmin University of China
© Copyright 2020, All Rights Reserved