26/3/2024
นักวิเคราะห์มองว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันต้องตื่นตัวกับข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือนจากต่างประเทศ ภัยคุกคามที่เรียกว่า “ปฏิบัติการแทรกแซงข้ามชาติ” (influence operations) ที่มุ่งเป้าสร้างคลื่นรบกวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ด้านข่าวกรองกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อปกป้องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากการแทรกแซงจากต่างชาติในทางที่ไม่ดี แต่ความพยายามในการแทรกแซงการเลือกตั้งด้วยการใช้ข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือนนั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ในทัศนะของนักวิเคราะห์
ฌอน ไมเนอร์ (Sean Minor) นักวิเคราะห์อาวุโสด้านภัยคุกคามข่าวกรอง จากบริษัทด้านข่าวกรองเอกชน Recorded Future กล่าวกับวีโอเอว่าการใช้ข้อมูลเหล่านี้มาแทรกแซง “เพื่อพยายามแบ่งขั้ว(การเมือง)ให้มากขึ้น เพื่อทำลายความเชื่อมั่นในสถาบันประชาธิปไตยสหรัฐฯ และสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นไปในรูปแบบโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ที่ท้าทายระบอบประชาธิปไตย .. เช่น ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ผู้ก่อการที่เป็นชาวต่างชาติ(foreign actor)รู้สึกว่าไม่สร้างประโยชน์ให้กับบทบาทด้านภูมิรัฐศาสตร์ของพวกเขา เราจะเห็นการเคลื่อนไหวที่พยายามทำลายความน่าเชื่อถือของคนเหล่านั้น”
เทคโนโลยีเกิดใหม่ได้ช่วยให้ผู้ก่อการที่ไม่ประสงค์ดีเผยแพร่คำลวงได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน ในทัศนะของคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ สว.มาร์ค วอร์เนอร์ ระหว่างการรับฟังการให้ข้อมูลของคองเกรสเมื่อไม่นานมานี้
สว.วอร์เนอร์ กล่าวว่า “เรามีระบบปัญญาประดิษฐ์เกิดขึ้นมา มันได้ทำให้แทรกแซง ให้ข้อมูลเท็จ ให้ข้อมูลบิดเบือนอย่างมหาศาลและรวดเร็ว .. ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องทำให้ดีกว่านี้ในการให้ความรู้กับชาวอเมริกันว่าปัญหานี้ยังไม่หมดไป”
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่าพวกเขารับรู้ถึงภัยคุกคามนี้ แต่ยอมรับว่าเป็นความท้าทายของแต่ละคนในการแยกแยะความจริงจากข้อมูลข่าวปลอม โดยเฉพาะบนสื่อสังคมออนไลน์
เคย์ลอน เวเธอร์ส ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันจากรัฐเทนเนสซีที่ย้ายมาอยู่รัฐเวอร์จิเนีย บอกกับวีโอเอว่า “พวกเขาใช้ซอฟต์แวร์เอไอเพื่อสร้างความสับสนหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่บุคคลพูดออกไปได้จริง ๆ”
ด้านชีลา เดโบนิส ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันอีกราย บอกกับวีโอเอว่า “มันเป็นสิ่งที่ยากเพราะบ่อยครั้งที่ผู้รับสารไม่ได้คิดวิเคราะห์ และเชื่อในสิ่งที่ได้ยินจากแพลตฟอร์มบางอย่างไปอย่างสนิทใจ”
อย่างไรก็ตาม วิธีในการรับมือกับความท้าทายเรื่องนี้ในหมู่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ยังมีความแตกต่างกันไป
โจ จัดจ์ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกัน บอกกับวีโอเอว่า “ผมคิดว่ามีความจำเป็นที่หน่วยงานอิสระต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการตรวจสอบข้อมูลนี้ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะเชื่อใจกลุ่มคนหรือแพลตฟอร์มเหล่านี้ในการให้ข้อมูลที่แม่นยำต่อไป”
โคล โธมัส ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกัน บอกว่า “ฉันไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรได้เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยไม่ต้องเซนเซอร์อินเตอร์เน็ต ดังนั้น ฉันคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่จะเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่รู้รอบเช่นกัน”
ตอนนี้มีความพยายามในการสร้างความเชื่อมั่นในการต่อสู้กับข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือน
ทางสำนักงานความมั่นคงทางไซเบอร์ของสหรัฐฯ (Cybersecurity and Infrastructure Security Agency - CISA) บอกกับวีโอเอในแถลงการณ์ว่า ได้ออกแบบเว็บเพจ “Rumor vs. Reality” ที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐฯ ไว้ในที่เดียว
ด้านองค์กรไม่แสวงผลกำไร News Literacy Project มีแหล่งข้อมูลเพื่อช่วยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในการแยกแยะความจริงกับข่าวปลอม
ปีเตอร์ อดัมส์ รองประธานอาวุโสด้านการวิจัยและออกแบบ ของ News Literacy Project บอกกับวีโอเอว่า “วิธีของผู้เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อและผู้ก่อการที่ไม่ประสงค์ดีบนโลกออนไลน์ คือการเผยแพร่ข้อมูลเท็จและสร้างความเข้าใจผิดเพื่อตรึงอารมณ์ของคุณ ดังนั้น เมื่อคุณเห็นบางสิ่งที่มันรุนแรงเกินไป นั่นคือจังหวะที่ควรต้องหวาดกลัว และเป็นแนวคิดที่ดีในการหยุดและถามตัวเองสองสามคำถามว่ามีหลักฐานที่ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่”
คริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ (FBI) เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ที่กล่าวกับสภาคองเกรสเกี่ยวกับประเด็นนี้ เขาแนะว่าภาคประชาสังคมที่มีความคิดวิเคราะห์แยกแยะมากขึ้น พ่วงด้วยความพยายามระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน จะมีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือน ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อขัดขวางการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนนี้
IMCT News
ที่มา: วีโอเอ