Thailand
ขอบคุณภาพจาก RT
22/9/2024
ดอลลาร์สหรัฐยังคงผันผวน ความผันผวนของตลาดสร้างแรงกดดันต่อมูลค่าและสถานภาพของดอลลาร์สหรัฐ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นการปูทางไปสู่เงินสกุลอื่น โดยเฉพาะสกุลเงินอาเซียนและเอเชีย ให้แข็งค่าขึ้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?
สกุลเงินเอเชียยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ การแข็งค่าขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ มีชนวนเหตุมาจากการผ่อนคลายนโยบายและธนาคารกลางสหรัฐ ตัดสินใจลดดอกเบี้ย 0.50% ถือเป็นการกดมูลค่าดอลลาร์สหรัฐให้ต่ำลง และทำให้สกุลเงินอาเซียนและเอเชียแข็งค่าอย่างรวดเร็ว
รูเปี๊ยะอินโดนีเซียแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หนึ่งดอลลาร์สหรัฐแลกได้ 15,160 รูเปี๊ยะ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทั้งที่เมื่อ 30 วันก่อนหน้า หนึ่งดอลลาร์ยังแลกได้ถึง 15,484 รูเปี๊ยะ
ส่วนเงินริงกิตมาเลเซียก็แข็งค่าขึ้นมากเช่นกัน หนึ่งดอลลาร์สหรัฐแลกได้ 4.20 ริงกิตเมื่อวันศุกร์ ทั้งที่เมื่อ 30 วันก่อนหน้า หนึ่งดอลลาร์ยังแลกได้ถึง 4.37 ริงกิต เช่นเดียวกับดอลลาร์สิงคโปร์และเปโซฟิลิปปินส์ก็แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน เงินบาท ก็แข็งค่าขึ้น จาก 34.29 บาทต่อดอลลาร์เมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว มาอยู่ที่ 32.90 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
นอกเหนือจากสกุลเงินในเอเชียแล้ว เงินแรนด์แอฟริกาใต้ ก็แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นักวางกลยุทธ์ของ Barclays Plc คาดว่า จะได้เห็นหลายสกุลเงินแข็งค่าขึ้นอีกเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยเฉพาะสกุลเงินในเอเชีย ที่จะแข็งค่าต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสสี่ของปีนี้ เพราะดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าต่อเนื่อง แต่คาดว่า ในปีหน้า คือ 2025 สถานการณ์จะกลับกัน
ภูมิภาคอาเซียนและเอเชียกำลังขยายตัว ต้อนรับเงินทุนต่างชาติก้อนใหญ่ที่หลั่งไหลเข้ามารวมถึงกองทุนต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตที่มีเข้ามา ภูมิภาคนี้ผงาดขึ้นมากลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและการผลิต ดึงดูดยักษ์ใหญ่ด้านการเงินระดับโลกให้มาจัดตั้งฐานที่นี่
ประธาน ซีอีโอ และกรรมการบริษัท Ayala Corporation มองว่า ปัจจัยการผลิตเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งในขณะที่สิงคโปร์มีความทันสมัยมากๆ แต่ถ้าอาเซียนรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน และมีเศรษฐกิจเกาะเกี่ยวกันอย่างสมบูรณ์ โอกาสก็จะยังมีอีกมากในภูมิภาคนี้
การที่อาเซียนผูกสัมพันธ์กับอินเดียและจีนมากขึ้น ก็ยิ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภูมิภาค และอาจทำให้อาเซียนมีอิทธิพล และบรรลุเป้าในด้านการเงินและการค้าที่ตั้งไว้
หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราเอเชียประจำ Royal Bank of Canada ในสิงคโปร์ มองว่า ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราในเอเชียยังขยายได้อีก แต่มันก็มีทั้งคนได้และคนเสีย เพราะการเติบโตและนโยบายในประเทศต่างๆ แถบเอเชียมีแนวโน้มแตกต่างกัน ส่งผลให้ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราก็มีการเติบโตแตกต่างกันไปด้วย มีแนวโน้มว่า เงินหยวนจีนและเงินรูปีอินเดีย จะมีการเติบโตตามหลังสกุลเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสียอีก
By IMCT News
อ้างอิงจาก https://watcher.guru/news/why-are-asean-and-asian-currencies-rising-against-the-us-dollar
© Copyright 2020, All Rights Reserved