ขอบคุณภาพจาก RT
30/5/2024
กองทัพเรือสหรัฐเชื่องช้าและล้าสมัยเกินกว่าที่จะรับมือกับการผงาดขึ้นมาของกองทัพเรือจีน จากรายงานหลายชิ้นที่ได้ข้อสรุปตรงกันในเรื่องนี้
เรือของกองทัพเรือสหรัฐ มีไม่ถึง 40% ที่ได้รับการซ่อมแซมได้ตรงตามเวลา ในขณะที่การออกแบบก็ล้าสมัยเมื่อเทียบกับจีนที่ตอนนี้กลายเป็นผู้นำด้านการสร้างเรือไปแล้ว
การซ่อมเรือที่ไม่ทันการ บวกกับการออกแบบที่ล้าสมัย ทำให้กองทัพเรือสหรัฐเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น ในการคงความพร้อมและรักษาศักยภาพให้เทียบเคียงกับจีนที่มีความก้าวหน้าด้านการต่อเรืออย่างรวดเร็ว
รายงานของ USNI News ระบุว่า สำนักงานตรวจสอบของรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยว่า มีเรือของกองทัพเรือไม่ถึง 40% ที่ได้รับการซ่อมแซมเล้วเสร็จตรงตามเวลา ทั้งที่อู่ต่อเรือก็มีพื้นที่มากพอ
โครงการ Shipyard Infrastructure Optimization หรือ SIOP ของกองทัพเรือสหรัฐ ตั้งเป้าจะยกระดับคุณภาพอู่ต่อเรือ สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ แต่ยังขาดการประเมินต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกอย่าง และตารางเวลา จากการรายงานของ USNI
กองทัพเรือสหรัฐทำงานร่วมกับอู่ต่อเรือทั้งของภาครัฐและเอกชน เพื่อลดความล่าช้าในการซ่อมบำรุงลง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนผ่านการวางแผนมาอย่างดี ได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากแรงงานที่มีทักษะความสามารถ แต่ก็ยังประสบปัญหา การซ่อมเรือได้ไม่ตรงตามเวลาอยู่ดี รวมถึงเรื่องงบประมาณ
ยิ่งไปกว่านั้น Naval Technology รายงานว่า กระบวนการออกแบบเรือของกองทัพเรือสหรัฐ ช้าเกินไป และคาดเดาไม่ค่อยได้ เนื่องจากกระบวนการออกแบบที่ใช้เวลานานเกิน ทั้งที่อุตสาหกรรมกองทัพเรือสหรัฐควรต้องส่งมอบงานให้ทันตามเวลา ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์
ถ้าเป็นเรือพาณิชย์ ทั้งผู้ซื้อ และผู้ต่อเรือ ต่างต้องการระยะเวลาในการดำเนินการที่สั้นลง การออกแบบและระยะเวลาการก่อสร้างที่คาดเดาได้ เพราะทุกอย่างต้องทำแข่งกับเวลา แต่กระบวนการออกแบบเรือของกองทัพเรือสหรัฐ ใช้เวลานานมาก ต้นทุน ตารางงาน และผลที่ออกมาล้วนคาดเดาไม่ค่อยได้ จากการรายงานของ Naval Technology
กองทัพเรือสหรัฐขาดเทคนิคการออกแบบที่ทันสมัย สำนักงานตรวจสอบของรัฐบาลสหรัฐพบว่า การสร้างเรือของกองทัพเรือใช้เครื่องมือที่มีข้อจำกัดมากกว่าบริษัทที่สร้างเรือในเชิงพาณิชย์ เพราะในขณะที่บริษัทเอกชนใช้เทคนิคทางดิจิทัลมาช่วยในการออกแบบ ทางกองทัพเรือสหรัฐยังคงใช้ข้อมูลการออกแบบในแบบสองมิติ ตอนนี้ ประสิทธิภาพการสร้างเรือของจีน แซงหน้าสหรัฐไปถึง 232 เท่า
หัวหน้ากองบัญชาการอินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐ เคยเสนอว่า ถ้าสหรัฐสร้างเรือสู้จีนไม่ได้ ก็ควรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ เพื่อมาชดเชยในเรื่องนี้ รอยเตอร์ รายงานว่า กองทัพเรือสหรัฐ มีความพยายามจะสร้างฝูงเรือไร้คนขับ แต่แนวคิดนี้ก็สะดุด เพราะกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ยังอยากจะดันโครงการสร้างเรือลำใหญ่
รอยเตอร์รายงานว่า ยูเครนใช้เรือผิวน้ำไร้คนขับแบบติดระเบิด ทำให้ฝูงเรือรบทะเลดำของรัสเซีย จมหายไปได้ เช่นเดียวกับกลุ่มฮูตี ก็ใช้เรือประเภทนี้ ในทะเลแดง ต่อต้านเรือพาณิชย์ของตะวันตก ซึ่งสหรัฐควรเรียนรู้บทเรียนจากทั้งทะเลดำ และทะเลแดง เพื่อรับมือกับจีนในแปซิฟิก
แต่เนื่องจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐ จัดงบให้บริษัทรับเหมาไปสร้างเรือขนาดใหญ่และเรือดำน้ำแล้ว จึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาฝูงเรือไร้คนขับ นอกจากนี้ กองทัพเรือสหรัฐ มีงบเพียง 172 ล้านดอลลาร์ ในปีนี้ หรือประมาณ 6,300 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาโดรนใต้น้ำขนาดกลางและเล็ก แต่งบนี้ถูกหั่นเหลือแค่ 101.8 ล้านดอลลาร์ในปีหน้า ( 2025 ) หรือประมาณ 3,800 ล้านบาท
โดรนที่ใช้ในท้องทะเลของกองทัพ มีอยู่หลายแบบ ตั้งแต่แบบเรือเร็วติดขีปนาวุธ ไปจนถึงเรือดำน้ำต่อต้านทุ่นระเบิดแบบย่อส่วน และเรือใบพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งกล้องสอดแนม เซนเซอร์ใต้น้ำ และลำโพง ไว้กระจายเสียง เมื่อเจอเรือของข้าศึก แต่ละลำใช้งบแค่ 1 – 3 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 37 – 111 ล้านบาท ถูกและสร้างได้เร็วกว่าการต่อเรือลำใหญ่ในแบบดั้งเดิม ซึ่งกินเวลานานหลายปี
By IMCT News
อ้างอิงจาก https://x.com/IndoPac_Info/status/1795297336585023917