ขอบคุณภาพจาก news-medical.net
25/10/2024
Lpixel สตาร์ทอัพญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว เปิดตัวบริการวิเคราะห์ทางการแพทย์ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอในประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์ เช่น ไทยและบราซิล โดยมุ่งหวังที่จะใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ได้รับในประเทศเพื่อขยายตลาดใหม่ ผ่านความร่วมมือกับองค์การการค้าภายนอกของญี่ปุ่น เพื่อเปิดตัวระบบสนับสนุนการวินิจฉัยวัณโรคที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในไทย
หลังทดลองร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยอื่นๆ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว (2023) เทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในสถาบันทางการแพทย์ ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายที่จะส่งมอบระบบดังกล่าวให้กับสถานพยาบาล 100 แห่งในอาเซียนและที่อื่นๆ ภายในสามปี โดยเน้นที่ไทยก่อน
เอไอของ Lpixel ซึ่งขับเคลื่อนด้วยอัลกอริทึมที่พัฒนาขึ้นภายในบริษัท สามารถแจ้งสัญญาณของโรคให้แพทย์ทราบได้จากภาพเอกซเรย์ทรวงอก ซึ่งบริษัทได้นำ AI ที่ช่วยวินิจฉัยโรค ตรวจจับความผิดปกติในปอดมาใช้งานจริงในญี่ปุ่น และกำลังขยายความรู้ดังกล่าวสำหรับวัณโรค
ด้านองค์การอนามัยโลกประมาณการว่า จำนวนผู้ป่วยวัณโรคทั่วโลกอยู่ที่ 10.6 ล้านคนในปี 2022 เพิ่มขึ้นจาก 10.3 ล้านคนในปี 2021 โดยจำนวนผู้ป่วยสูงสุดอยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็น 46% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด
เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคติดเชื้อ การตรวจพบและรักษาในระยะเริ่มต้นจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไทยมีแพทย์เพียง 9 คนต่อประชากร 10,000 คน เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่มี 26 คน การขาดแคลนแพทย์เป็นปัญหาทางสังคมและทำให้เกิดสถานการณ์ที่ต้องมีการเอกซเรย์ แต่ไม่มีใครสามารถวินิจฉัยผู้ป่วยได้ Lpixel จึงพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยอิงจากข้อมูลภาพเอกซเรย์ของคนญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ โดยข้อมูลจากผู้ป่วยวัณโรคชาวไทยคิดเป็นประมาณ 5% นอกจากนี้ก็ยังคำนึงถึงความแตกต่างในระดับของอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีและทักษะด้านการถ่ายภาพเอกซเรย์ของช่างเทคนิคด้วย
ระบบ AI ของบริษัทได้รับการยื่นขออนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขของไทยในเดือนสิงหาคม (2024) ซึ่งผู้ผลิตอุปกรณ์รายใหญ่ยังพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับอุปกรณ์เอกซเรย์ แต่ซอฟต์แวร์ของพวกเขามักจะเข้ากันได้กับผลิตภัณฑ์ของตนเองเท่านั้น ขณะที่ระบบของ Lpixel สามารถติดตั้งย้อนหลังได้ในเครื่องเอกซเรย์ส่วนใหญ่ ทำให้สถาบันทางการแพทย์สามารถนำไปใช้ได้ง่าย
สำหรับ Lpixel ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดยเป็นบริษัทสตาร์ทอัพจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ระบบ AI ต่างๆ ของบริษัท ได้แก่ ระบบที่ช่วยตรวจจับมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยใช้ภาพส่องกล้อง และระบบที่ใช้ค้นหาสัญญาณของโรคจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
บริษัทมองเห็นความต้องการการสนับสนุนการวินิจฉัยด้วย AI ในประเทศกำลังพัฒนามาเป็นเวลานานเนื่องจากขาดแคลนแพทย์ และได้เตรียมการเข้าสู่ตลาดดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว โดย "เราต้องการให้ยอดขายครึ่งหนึ่งมาจากต่างประเทศภายใน 10 ปี" โทมี คามาดะ กรรมการของ Lpixel กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทญี่ปุ่นอีกแห่งหนึ่งที่ชื่อ AI Medical Service กำลังจำหน่ายระบบวิเคราะห์ด้วย AI สำหรับการส่องกล้องเพื่อช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหารในบราซิลและประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยเทคโนโลยีนี้กำลังถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลทั่วญี่ปุ่น และได้รับการจดทะเบียนโดยกระทรวงสาธารณสุขของบราซิลในเดือนเมษายน (2024) ขณะที่อาเซียนกำลังมุ่งหน้าสู่ระบบที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับการอนุมัติในประเทศสมาชิกหนึ่งประเทศให้สามารถผ่านขั้นตอนการอนุมัติที่ง่ายขึ้นในประเทศอื่นๆ หลัง AI Medical Service ได้รับการอนุมัติในสิงคโปร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ (2024) และมีเป้าหมายที่จะขายระบบนี้ให้ไทยและเวียดนามในอนาคต
“ในประเทศกำลังพัฒนาที่โครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ติดตั้ง AI อาจเข้ามาเจาะตลาดได้อย่างรวดเร็ว” เคนจิ โยชิดะ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจระดับโลกของบริษัทกล่าว จากการที่อินโดนีเซียมีแพทย์เพียง 7 คนต่อประชากร 10,000 คน ส่วนเวียดนามมีเพียง 8 คนเท่านั้น
IMCT News