Thailand
ขอบคุณภาพจาก SSBCrackExams
1/11/2024
บราซิลเลือกที่จะไม่เข้าร่วมโครงการ Belt and Road Initiative หรือ BRI ของจีน ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ทำให้บราซิลเป็นประเทศ BRICS ประเทศที่ 2 ต่อจากอินเดีย ที่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโครงการอันทะเยอทะยานของปักกิ่งที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศคู่ค้า
การตัดสินใจดังกล่าวเป็นสัญญาณว่า บราซิลมีเจตนาที่จะแสวงหาช่องทางอิสระในการร่วมมือกับจีน โดยจะมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือที่สอดคล้องกับลำดับความสำคัญของประเทศมากกว่าแทน ตามที่ Celso Amorim ที่ปรึกษาพิเศษประธานาธิบดีบราซิลด้านกิจการระหว่างประเทศกล่าว
Amorim ระบุว่า บราซิลที่นำโดยประธานาธิบดี Lula da Silva จะไม่เข้าร่วมโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) แต่จะแสวงหาวิธีอื่นในการร่วมมือกับนักลงทุนจีนแทน จากการที่บราซิลต้องการ "ยกระดับความสัมพันธ์กับจีนขึ้นไปอีกระดับโดยไม่ต้องลงนามในสัญญาเข้าร่วม" ตามที่ Amorim ระบุกับหนังสือพิมพ์ O Globo ของบราซิล
"เราไม่ได้ทำสนธิสัญญา" Amorim กล่าว พร้อมอธิบายว่า บราซิลไม่ต้องการใช้โครงสร้างพื้นฐานและโครงการการค้าของจีนเป็น "กรมธรรม์ประกันภัย"
ตามรายงานของ Amorim จุดมุ่งหมายคือการใช้กรอบงาน Belt and Road บางส่วนเพื่อค้นหา "การทำงานร่วมกัน" ระหว่างโครงการโครงสร้างพื้นฐานของบราซิลและกองทุนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับแผนริเริ่มนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมกลุ่มอย่างเป็นทางการ
ด้าน South China Morning Post สื่อฮ่องกง ระบุถึงคำกล่าวของ Amorim ที่ระบุว่า ชาวจีน "เรียกโครงการนี้ว่า Belt and Road ... และพวกเขาสามารถเรียกชื่ออะไรก็ได้ตามต้องการ แต่สิ่งสำคัญคือ มีโครงการที่บราซิลกำหนดให้เป็นลำดับความสำคัญ และอาจได้รับการยอมรับหรือไม่ก็ได้ [จากปักกิ่ง]"
สำหรับการตัดสินใจดังกล่าวขัดกับแผนการของจีน ที่จะทำให้การที่บราซิลเข้าร่วมแผนริเริ่มนี้ เป็นหัวใจสำคัญของการเยือนกรุงบราซิเลียของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ในวันที่ 20 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ (2024)
ด้านเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเศรษฐกิจและกระทรวงการต่างประเทศของบราซิล แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เมื่อไม่นานนี้ ซึ่งความเห็นที่แพร่หลายในบราซิลคือ การเข้าร่วมโครงการโครงสร้างพื้นฐานเรือธงของจีน จะไม่เพียงแต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่จับต้องได้สำหรับบราซิลในระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังอาจทำให้ความสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อาจนำโดยโดนัลด์ ทรัมป์ในอนาคตยากขึ้นอีกด้วย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Amorim และ Rui Costa หัวหน้าเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดีบราซิล เดินทางไปปักกิ่งเพื่อหารือเกี่ยวกับแผนริเริ่มดังกล่าว แต่พวกเขากลับมาด้วยความ "ไม่เชื่อมั่นและไม่ประทับใจ" กับข้อเสนอของจีน ขณะที่ Lula ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด BRICS ในเดือนนี้ที่เมือง Kazan เนื่องจากอาการเลือดออกในสมอง ส่วน Dilma Rousseff ผู้ร่วมงานคนสนิทของเขาและอดีตประธานาธิบดีบราซิล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าธนาคารพัฒนา BRICS แห่งใหม่ในเซี่ยงไฮ้ (NDB)
เดิมที BRICS ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ก่อนที่อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกใหม่ ทำให้บราซิลจะเป็นสมาชิกรายที่สองของ BRICS ต่อจากอินเดียที่ไม่รับรอง BRI โดยอินเดียเป็นประเทศแรกที่แสดงความสงวนท่าทีและยืนหยัดอย่างมั่นคงในการคัดค้าน BRI ซึ่งเป็นโครงการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนชื่นชอบ เพื่อส่งเสริมอิทธิพลของจีนในระดับโลกด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
อินเดียประท้วงจีนกรณีสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (CPEC) มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นโครงการเรือธงของ BRI ผ่านแคชเมียร์ที่ปากีสถานยึดครอง ซึ่งอินเดียถือว่า เป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของอินเดีย นอกจากนี้ อินเดียยังวิพากษ์วิจารณ์โครงการ BRI อย่างชัดเจน โดยระบุว่าโครงการเหล่านี้ควรยึดตามบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม และปฏิบัติตามหลักการของการเปิดกว้าง ความโปร่งใส และความยั่งยืนทางการเงิน
ต่อมา จีนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงการ BRI ในประเทศเล็กๆ เช่น ศรีลังกา โดยเฉพาะการที่จีนเข้ายึดครองท่าเรือฮัมบันโตตาของศรีลังกาด้วยสัญญาเช่า 99 ปีเพื่อแลกกับการใช้หนี้ กลายเป็นกับดักหนี้ ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่
นักการทูตอินเดียชี้ให้เห็นว่า นอกจากจะหลีกเลี่ยงการประชุมประจำปีระดับสูงของ BRI สามครั้งที่ปักกิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแล้ว อินเดียยังคงแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการ BRI ทั้งใน BRICS และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO ด้วย
ด้านผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แคทเธอรีน ไท่ เรียกร้องให้บราซิลมองข้อเสนอเข้าร่วม BRI ด้วย "มุมมองที่เป็นกลาง" และ "การจัดการความเสี่ยง" ขณะที่สถานทูตจีนในกรุงบราซิเลียกล่าวว่าคำพูดของไท่ "ไม่รับผิดชอบ" และ "ไม่ให้เกียรติ" ซึ่ง Global Times สื่อของรัฐบาลจีนได้เผยแพร่บทบรรณาธิการ ระบุว่าความเห็นของไท่ที่ต่อต้าน BRI นั้น "เต็มไปด้วยความหวาดกลัวต่อหลักการมอนโร (ที่ไม่ต้องการให้ประเทศที่สามเข้าแทรกแซงกิจการระหว่างสหรัฐฯ กับละตินอเมริกา)"
"บราซิลไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นมากำหนดว่าจะร่วมมือกับใครหรือจะดำเนินการร่วมมือแบบใด และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าปกติระหว่างจีนและประเทศละตินอเมริกาไม่ควรอยู่ภายใต้การตรวจสอบจากประเทศที่สาม" แถลงการณ์ระบุ
"ปัจจุบัน สหรัฐฯ กำลังพยายามสร้าง 'รั้วสูงเล็กๆ' ต่อต้านจีนในบราซิลและประเทศละตินอเมริกาอื่นๆ" ซึ่ง "ความร่วมมือระหว่างจีนและบราซิลไม่เพียงแต่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังตอบสนองความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสร้างระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ยุติธรรมและเท่าเทียมกันมากขึ้นอีกด้วย แนวโน้มนี้เป็นสิ่งที่วอชิงตันไม่สามารถหยุดยั้งได้”
IMCT News
© Copyright 2020, All Rights Reserved