“พลังการผลิตใหม่”จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจีน
06/03/2024
พลังการผลิตใหม่ (productive forces) กลายเป็นคำศัพท์สำคัญที่เป็นหัวใจของการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนให้ยกระดับความก้าวหน้าขึ้นไปอีกหนึ่งระดับเหนือทุกประเทศในโลก
ขอบคุณภาพจาก : สำนักข่าวซินหัว
ต้ังแต่ช่วงต้นสัปดาห์นี้ จีนได้เปิดประชุมสภาประชาชนแห่งชาติและสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ และการประชุมของสำนักการเมืองของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) เพื่อหารือเกี่ยวกับร่างรายงานการทำงานของรัฐบาล เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ในขณะที่สายตาทั่วโลกจับตาดูว่าเวทีประชุมสองสภานี้จะเผยให้เห็นนโยบายของจีนอย่างไรในเรื่องกลาโหม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ&การเงิน และการพัฒนาเทคโนโลยี ปรากฎว่าผู้นำจีนมีการใช้คำว่าพลังการผลิตที่ได้กลายเป็นจุดโฟกัสที่สำคัญ เพราะว่าจีนจะพัฒนาระบบอุตสาหกรรมต่อไปได้ จะต้องพึ่งพาเอไอ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อที่ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน พลังการผลิตจะไม่เป็นการแยกส่วนทำ แต่จะเป็นพลังขององค์รวมที่รวมเอาปัจจัยพื้นฐานท้ังหมดของการพัฒนาประเทศที่ท้ังภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันอย่างเป็นเอกภาพในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในการผลิต
เฉา เหอผิง นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งกล่าวกับThe Global Timesว่า การเน้นย้ำถึงความสำคัญของกำลังการผลิตใหม่ในการประชุมระดับสูงของจีน เน้นย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมเทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน เศรษฐกิจใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากกำลังการผลิตใหม่จะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้
“กำลังการผลิตใหม่แสดงถึงเทคโนโลยีชั้นสูง ประสิทธิภาพสูง และคุณภาพสูง รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการพัฒนาคุณภาพสูงของเศรษฐกิจจีน พัฒนาจีนให้เป็นประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ที่ยิ่งใหญ่ทุกประการ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติของจีน และตอบสนองความปรารถนาของผู้คนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” นักวิเคราะห์กล่าว
เฉากล่าวต่อไปว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนากำลังการผลิตใหม่ๆ คือนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงนวัตกรรมด้านกฎระเบียบด้วย ทางการจำเป็นต้องจัดเตรียมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทเอกชน เพื่อที่พวกเขาจะมีพลังและแรงผลักดันในการสร้างความก้าวหน้าในการพัฒนากำลังการผลิตใหม่ๆ
รถยนต์ไฟฟ้าจีนที่ตีตลาดยุโรปและตลาดโลกกระจุยเป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นพลังการผลิตของจีนที่ขับเคลื่อนโดยพลังองค์รวมของประเทศ ทำให้เทคโนโลยีรถยนต์อีวีของจีนก้าวหน้ากว่าของประเทศใด และมีราคาที่ถูกกว่า
ในขณะที่จีนมีอัตราการเจริญเติบโต5.3%ในปีที่แล้ว และ มีการต้ังเป้าการเติบโต5.0%ในปีนี้ แต่นักวิเคราะห์ต่างประเทศส่วนใหญ่ยังมองจีนในแง่ลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการพูดถึงเรื่องหนี้ของจีน และวิกฤติในตลาดอสังหาฯ ในขณะเดียวกันตลาดหุ้นจีนมีการปรับตัวลงมาในช่วง2-3ปีที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าตลาดรวมหายไป$7ล้านล้าน ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐกลับเฟื่องฟู และตลาดญี่ปุ่นกลบมาทำสถิติใหม่พุ่งทะลุ40,000จุด ท้ังๆที่ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจแย่มากท้ังคู่ แต่ก็ยังทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่า จีนมีการบริหารที่ผิดพลาด และอาจจะต้องสูญเสียโอกาสในรอบทศวรรษ
ความจริงแล้ว ผลประกอบการของตลาดหุ้นไม่ใช่มาตรวัดความเข้มแข็งของเศรษฐกิจที่แท้จริง เพราะว่าตลาดการเงิน ตลาดหุ้นได้แยกออกจากระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง เนื่องจากธนาคารกลางมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเข้าไปหล่อเลี้ยง ทำให้ราคาของทรัพย์สินทางการเงินสูงกว่าความเป็นจริง
ถ้าจะว่าไปแล้ว สี จิ้นผิง ผู้นำของจีนไม่ได้ให้ความสำคัญกับตลาดการเงิน หรือตลาดหุ้นมากนัก เพราะว่ามันไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ สำหรับสีแล้ว สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ระบบการผลิต ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การพัฒนาคนให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เอไอจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น
การล่มสลายของบริษัทอสังหาฯจีนหลายแห่งจึงเป็นเรื่องที่จีนไม่ได้กังวลใจอะไร เพราะว่าเป็นการปล่อยให้ฟองสบู่แตกไปตามธรรมชาติ ใครที่เก็งกำไร ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติหรือคนจีนก็รับกรรมไป แต่รัฐบาลจะเลือกดูแลประชาชนที่ซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการอาศัยจริงๆ ฟองสบู่อสังหาฯที่แตกเป็นการช่วยให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากกว่าในระยะยาว แทนที่จะอุ้ม ซึ่งจะเป็นการยืดเวลาของฟองสบู่ และทำให้การแก้ไขปัญหายากยิ่งขึ้นในอนาคต
ส่วนการปรับตัวลงอย่างแรงของตลาดหุ้นก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลจีนมีความกังวลใจมาก เพราะว่าตลาดหุ้นมีขึ้นก็ต้องมีลง แต่รอบนี้การปรับลงของตลาดหุ้นจีนกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่รัสเซียถูกตะวันตกโจมตีว่าไปรุกรานยูเครน เพราะว่ามีเป้าหมายที่คิดร้ายต่อยุโรป จีนถูกมองในแง่ร้ายว่าเป็นรัฐเผด็จการ ที่ต้องการมีอิทธิพลเหนือเพื่อนบ้าน ใช้นโยบายเศรษฐกิจเพื่อยึดครองโลก และเป็นภัยต่อโลกเสรีนิยมประชาธิปไตย
ทางการจีนก็ปล่อยให้หุ้นตก โดยไม่ได้เข้าไปแทรกแซง หรือไม่ได้ออกมาตรการช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นอะไรมาก เพราะว่าเมื่อถึงจุดต่ำสุด รัฐบาลสามารถเข้าไปซื้อหุ้นได้ในราคาถูกผ่านกองทุน หรือบริษัทต่างๆที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล
สิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญมากกว่า คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ก้าวกระโดดอีกคร้ังเหมือนช่วงที่จีนเปิดประเทศใหม่ๆตั้งแต่ปี 1979
แต่ารก้าวกระโดดคร้ังใหม่นี้จะไม่เหมือนการก้าวกระโดดในยุคเริ่มต้นของการเปิดประเทศ เพราะว่าจีนจะไม่มีตลาดสหรัฐรองรับสินค้าจากจีนเป็นหลัก เพราะว่าสหรัฐเข้าสู่ยุคของความเสื่อมถอย อำนาจซื้อกำลังลดลง ค่าเงินดอลล่าร์มีปัญหาความเชื่อมั่น ความสำพันธ์ระหว่างสองประเทศถดถอยอย่างหนัก แต่จีนจะหันมาพึ่งพาตลาดBRICSเป็นสำคัญ รวมท้ังใช้โครงการเส้นทางสายไหมใหม่เพื่อผลักดันให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียที่จะเชื่อมโยงกับยุโรป และแอฟริกาในอนาคต
จะทำเช่นนั้นได้ ภาคการผลิต เอไอและเทคโนโลยีของจีนต้องได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด อันเป็นที่มาของคำว่าพลังการผลิตใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือแบบองค์รวมท้ังประเทศที่มีเป้าหมายเดียวกันในการสร้างชาติ
จีดีพีจีนที่คนส่วนมากมองว่ากำลังอยู่ในช่วงขาลง ที่สะท้อนจากผลประกอบการที่ไม่ดีของตลาดหุ้น
“เป้าหมาย GDP 5% นั้นทะเยอทะยานจริงๆ แม้ว่าปีที่แล้วจะเป็นปีเริ่มต้นจากวิกฤตโควิด และจีนก็ประสบความสำเร็จ 5.2% (การเติบโต) ส่วนใหญ่เกิดจากการฟื้นตัวของการบริโภค” Wang Dan หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Hang Seng Bank (จีน) กล่าวกับ CNBC เมื่อวันอังคาร
“ปีนี้ เราจะไม่เปิดอีกครั้ง และนั่นหมายความว่าหากไม่มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จีนจะพบว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะบรรลุเป้าหมาย 5%” เธอกล่าว
ความจริงจีนอาจจะต้ังเป้าหมายการเติบโต5%ไปอย่างนั้นเองเพื่อให้มีดัชนีอ้างอิง แต่ในใจไม่ได้ให้ความสำคัญกับจีดีพี ถ้าหากว่าการเติบโตนั้นไม่มีคุณภาพ หรือไม่นำไปสู่ความก้าวหน้า หรือการกระจายรายได้ หลายประเทศที่มีจีดีพีเติบโตดี แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ เพราะว่ารัฐบาลเน้นสนองผลประโยชน์ของนายทุนที่ต้องการกำไรที่ไม่มีที่สิ้นสุดมากกว่า
ถ้าหากจีนสามารถยกระดับเศรษฐกิจให้ทันสมัย ผ่านพลังการผลิตใหม่ การเจริญเติบโต หรือความก้าวหน้า การจ้างงาน หรือการกินดีอยู่ดีของประชาชนส่วนใหญ่จะตามมาเอง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวจะตามมา โดยไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับตัวเลขจีดีพี หรือตลาดหุ้นที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญน้อยกว่าภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ไม่เหมือนกับโมเดลของสหรัฐที่วัดความสำเร็จของการสร้างความมั่งคั่ง หรือการบริหารประเทศที่ตลาดหุ้น
Thanong Khanthong, Editor
IMCT News