Thailand
13/7/67
"มันจะเป็นหายนะ เพราะปฏิกิริยาตามธรรมชาติของการเทขายดอลลาร์คือ ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ประหนึ่งสึนามิแห่งเงินเฟ้อที่จะถาโถมเข้าใส่ประเทศเรา ทำให้ดอลลาร์ล่มสลาย ตลาดหุ้นพังทลาย ตลาดพันธบัตรพินาศ ธนาคารและบริษัทประกันล้มละลาย ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกทำลายจนราบคาบ นี่คือการรีเซ็ตใหญ่"
Kitco News โดย Anna Golubova is the Producer for Kitco News. และ Michelle Makori is the editor-in-chief and lead anchor for Kitco News. ได้นำเสนอบทความ Petrodollar deal expiry could be 'catastrophic': If you take 'petro' from the 'dollar,' the USD will be backed by 'nothing' – Andy Schectman โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า
รายงานข่าวล่าสุดระบุว่า ซาอุดีอาระเบียปล่อยให้ข้อตกลง 'เปโตรดอลลาร์' ที่มีมายาวนานกว่า 50 ปี หมดอายุลงเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่รายนี้ เลือกที่จะขายน้ำมันเป็นสกุลเงินอื่นๆ แทนที่จะผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเดียว
แอนดี เชคท์แมน ประธานบริษัท Miles Franklin Precious Metals เตือนว่า หากน้ำมัน (Petro) หลุดออกจากดอลลาร์ สกุลเงินดอลลาร์จะไม่มีสินทรัพย์อื่นมาหนุนหลัง ซึ่งอาจจะนำไปสู่ผลกระทบร้ายแรงหรือหายนะได้
แม้ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากทางการซาอุฯ แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า การตัดสินใจในครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในพลวัตทางเศรษฐกิจโลก และจะกระทบต่อสถานะการครองอำนาจนำของดอลลาร์ในการค้าระหว่างประเทศ
เชคท์แมน อธิบายว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีการสะสมดอลลาร์จำนวนมากนอกสหรัฐฯ มากกว่าในประเทศ เพื่อใช้ซื้อน้ำมัน แต่เมื่อความจำเป็นนี้หมดไป ดอลลาร์เหล่านั้นจะไหลกลับเข้าสหรัฐฯ ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปริมาณเงินดอลลาร์ในระบบเพิ่มขึ้น และผลักดันให้ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
ระบบเปโตรดอลลาร์ เกิดขึ้นจากข้อตกลงปี 1974 ระหว่างซาอุฯ กับสหรัฐฯ โดยซาอุฯ ตกลงที่จะนำรายได้จากการขายน้ำมันในรูปดอลลาร์ ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการประกันด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างยิ่งยวด ต่อมาในปี 1975 ประเทศสมาชิกโอเปกทั้งหมดก็เห็นพ้องที่จะตั้งราคาน้ำมันเป็นเงินดอลลาร์ และนำไปลงทุนในตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ
แม้ยังมีการถกเถียงถึงความชัดเจนของข้อตกลงเปโตรดอลลาร์ รวมถึงความสำคัญของการหมดอายุครั้งนี้ เชคท์แมน กลับมองว่า หากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจริง จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นอย่างมหาศาล และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะอลหม่าน
"มันจะเป็นหายนะ เพราะปฏิกิริยาตามธรรมชาติของการเทขายดอลลาร์คือ ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ประหนึ่งสึนามิแห่งเงินเฟ้อที่จะถาโถมเข้าใส่ประเทศเรา ทำให้ดอลลาร์ล่มสลาย ตลาดหุ้นพังทลาย ตลาดพันธบัตรพินาศ ธนาคารและบริษัทประกันล้มละลาย ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกทำลายจนราบคาบ นี่คือการรีเซ็ตใหญ่" เขากล่าว
ขณะที่บางฝ่าย เช่น พอล โดโนแวน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ UBS มองว่า ข่าวเรื่องการหมดอายุของดีลเปโตรดอลลาร์เป็นแค่ 'ข่าวปลอม' เพราะไม่เคยมีการระบุในสัญญาว่าซาอุฯ ต้องขายน้ำมันเป็นดอลลาร์เท่านั้น แต่เจฟฟรีย์ ไคลน์ท็อป หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนระดับโลกของชาร์ลส์ ชวาบ ก็ยอมรับว่า ข่าวนี้สะท้อนการลดความสำคัญของดอลลาร์ลง เนื่องจากปัจจุบันตลาดน้ำมันล่วงหน้ามีขนาดใหญ่กว่าตลาดน้ำมันจริงถึง 10 เท่า และยังคงถูกครอบงำด้วยเงินดอลลาร์เป็นหลัก
อย่างไรก็ดี เชคท์แมน เชื่อว่า การที่ซาอุฯ ปฏิเสธคำเชิญจากกลุ่ม G7 ในการประชุม แต่หันไปให้ความสนใจกับโครงการอย่าง mBridge ที่ทดลองใช้สกุลเงินดิจิทัลหลายสกุลในการชำระเงินข้ามพรมแดน โดยไม่ต้องพึ่งดอลลาร์และระบบ SWIFT (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) ย่อมแสดงให้เห็นถึงนัยยะที่สำคัญ
เขาคาดการณ์ว่า ในอนาคตระบบการเงินโลกจะไม่มีสกุลเงินหลักใดสกุลเงินหนึ่ง แต่จะกลับมาอิงสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น
ทั้งนี้ แนวโน้มการลดการพึ่งพาดอลลาร์ (de-dollarization) ได้เร่งตัวขึ้นมาก โดยเฉพาะหลังจากชาติตะวันตกได้คว่ำบาตรรัสเซียจากกรณีบุกยูเครน เจพีมอร์แกน เชส ประเมินว่าในปี 2023 มีการซื้อขายน้ำมันทั่วโลกราว 20% ที่ไม่ได้ใช้ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่จีนก็เพิ่งขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นประวัติการณ์ถึง 5.33 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรก แล้วนำมาซื้อทองคำแทน
ไม่เพียงเท่านั้น สัดส่วนการถือดอลลาร์เพื่อเป็นทุนสำรองของธนาคารกลางทั่วโลก ก็ลดลงมาอยู่ที่ 58.4% ในไตรมาส 4/2023 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1999 และล่าสุด รัสเซียก็หันไปใช้เงินหยวนจีนเป็นสกุลเงินหลักในทุนสำรองของธนาคารกลางแทนดอลลาร์ หลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรครั้งใหม่
IMCT NEWS
ที่มา Kitco News https:// www. kitco. com/news/article/2024-07-10/petrodollar-deal-expiry-could-be-catastrophic-if-you-take-petro-dollar-usd
© Copyright 2020, All Rights Reserved