ขอบคุณภาพจาก RT, freeimages.com
13/6/2024
ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนระบุว่า การขอเข้าร่วม BRICS ของไทย น่าจะเป็นการโหมโรงที่พันธมิตรอเมริกันที่ไม่ใช่นาโตจำนวนมากขึ้นจะยอมรับกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มทั่วโลกในการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (De-dollarization) ที่เพิ่มสูงขึ้น
ถึงกระนั้น กลุ่มประเทศสมาชิก 10 ประเทศในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่สำคัญยังมี “หนทางอีกยาวไกล” ก่อนที่จะบรรลุบทบาทที่มากขึ้นในการกำกับดูแลระดับโลก เนื่องจากกลุ่มยังคง “ค่อนข้างชายขอบและเปราะบาง” แม้ว่าจะเป็นองค์กรรูปแบบใหม่ก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าว
ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา (2024) คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างจดหมายของรัฐบาลที่ระบุเจตนารมณ์ของไทยที่จะเข้าเป็นสมาชิก BRICS ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเดินหน้ามีแผนสมัครเป็นสมาชิกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอยู่
การประชุมสุดยอด BRICS ครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นที่เมืองคาซานของรัสเซียในเดือนตุลาคม (2024) ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการเร่งเข้าเป็นสมาชิก BRICS ชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาลกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม (2024)
“การที่ประเทศไทยเข้าร่วม BRICS จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในหลายมิติ (เช่น) การยกระดับบทบาทของประเทศในเวทีระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสร้างระเบียบโลกใหม่”
ความเคลื่อนไหวของไทยเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มขยายอย่างเป็นทางการนอกเหนือจากสมาชิกหลักในบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (2024) โดยเพิ่มประเทศอีก 5 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย
ประธานาธิบดี Javier Milei แห่งอาร์เจนตินา ถอนประเทศออกจากการเข้าสู่ BRICS เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ กล่าวเมื่อเดือนที่แล้ว (พ.ค.2024) ว่ารัฐมากกว่า 30 รัฐได้ยื่นขอความร่วมมือในระดับต่างๆ กับกลุ่มนี้
การสมัครเข้าเป็นสมาชิก BRICS ของไทยสะท้อนให้เห็นถึง “ปรากฏการณ์ของการพึ่งพาสหรัฐฯ ในด้านความมั่นคงและจีนเพื่อเศรษฐกิจ” ตามที่ศาสตราจารย์ Wang Yiwei ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย Renmin ในกรุงปักกิ่ง กล่าว
“พันธมิตรที่ไม่ใช่ของนาโตในอเมริกาที่เข้าร่วมกับ BRICS อาจกลายเป็นกระแสในอนาคต ไม่ใช่แค่กรณีเดียว” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าแม้แต่ประเทศสมาชิกของนาโต เช่นตุรกีก็แสดงความสนใจในการเข้าร่วมกลุ่มนี้เช่นกัน หลังฮาคาน ฟิดาน รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ยืนยันถึงความต้องการของรัฐบาลกรุงอังการาที่จะเข้าร่วม BRICS ระหว่างการเดินทางเยือนจีนก่อนหน้านี้
หลังวอชิงตันกำหนดให้ไทยเป็นพันธมิตรหลักที่ไม่ใช่นาโตในปี 2003 กรุงเทพฯ ยังคงเป็นภาคีสนธิสัญญาของสหรัฐฯ เพียงแห่งเดียวบนแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่การแสดงความจำนงเข้าเป็นสมาชิก BRICS ของไทย อาจเป็นอีกปัจจัยที่แสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของ BRICS “กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง” จ้าว จื้อเจียง นักวิเคราะห์จากแอนบาวด์ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระข้ามชาติที่มีสำนักงานใหญ่ในปักกิ่งกล่าว
“ความสัมพันธ์จีน-ไทยมีความใกล้ชิดกันมาตลอด เช่นเดียวกับการประกาศยกเว้นวีซ่าถาวรสำหรับประเทศจีนในเดือนมีนาคม (2024) การเข้าร่วม BRICS จึงอาจเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-จีนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น” เขากล่าว ท่ามกลางการส่งออกของจีนมายังไทยที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ (2024) ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่การนำเข้าจากประเทศลดลงร้อยละ 10.7 ตามข้อมูลศุลกากรของจีน
จ้าวคาดหวังว่าสมาชิกคนอื่นๆ ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะพยายามเข้าร่วม BRICS ตามประเทศไทยไป
ด้านศาสตราจารย์หวัง ฉิน ศาสตราจารย์แห่งสถาบันวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน มองว่าประเทศไทยอาจเป็น "ต้นแบบ" และหวังว่าอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน จะเข้าร่วมกับ BRICS เช่นกัน แม้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา (2024) ทางการกรุงจาการ์ตาจะกล่าวว่า กำลังชั่งน้ำหนักผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการเป็นสมาชิก BRICS อยู่
ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา BRICS ที่เติบโตจากความเกี่ยวข้องกับการลงทุน กลายมาเป็นเวทีทางการเมืองสำหรับความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ด้วยความตั้งใจที่จะให้กลุ่มซีกโลกใต้สามารถคานอำนาจและมีอิทธิพลในกิจการโลกมากขึ้น
การขยายตัวของกลุ่มนี้ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมทั้ง 7 ชาติ หรือ G7 แต่ผู้นำของ BRICS กล่าวว่ากลุ่มนี้ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นคู่แข่งกับเศรษฐกิจที่ร่ำรวย พร้อมๆ กันก็ถูกมองว่า BRICS เป็นเวทีที่นำโดยจีน หรือทั้งปักกิ่งและมอสโกมากขึ้น เพื่อตอบโต้แรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์จากวอชิงตัน
IMCT News