ขอบคุณภาพจาก Sputnik
19.09.2024
สมัชชาแห่งสหประชาชาติ (UN) ได้มีมติต้องการให้อิสราเอลถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ของปาเลสไตน์ทั้งหมดภายใน 1 ปี และเรียกร้องห้ามส่งออกอาวุธซึ่งอิสราเอลอาจนำไปใช้ในพื้นที่ดังกล่าว
กระทรวงต่างประเทศอิสราเอลมองการตัดสินใจดังกล่าวว่าเป็น “การเมืองระหว่างประเทศที่เห็นแก่ตัวเอง “ ซึ่งจะส่งเสริมการก่อการร้ายและทำลายโอกาสในการสร้างสันติภาพ มตินี้เรียกร้องให้อิสราเอล ทั้งทหารและพลเรือนทั้งหมด ยุติการเข้าไปอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์อย่างผิดกฎหมาย ภายใน 12 เดือน โดยไม่มีการผ่อนผันใดใดทั้งสิ้น
มตินี้เห็นพ้องกับคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ระบุว่าการที่อิสราเอลควบคุมดินแดนและถิ่นที่อยู่ของปาเลสไตน์ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายและควรถอนตัวออกมา ส่วนศาลโลกแนะให้ดำเนินการนี้โดยเร็วที่สุด ขณะที่มติของสหประชาชาติกำหนดเวลาภายใน 12 เดือน
สหประชาชาติยังเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ “ดำเนินการเพื่อยุติการนำเข้าผลิตภัณฑ์ ที่มีแหล่งกำเนิดจากอิสราเอล รวมถึงการจัดหาหรือโอนอาวุธ กระสุน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไปยังอิสราเอล ในกรณีที่มีเหตุผลอันสมควรที่จะสงสัยว่าอาจมีการใช้สิ่งเหล่านี้ในดินแดนปาเลสไตน์” มติดังกล่าวได้รับการเสนอจากรัฐปาเลสไตน์ และอีก 29 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศมุสลิม
มีประเทศต่างๆ กว่า 124 ประเทศที่สนับสนุนมาตรการนี้ มี 14 ประเทศคัดค้าน และ 43 ประเทศงดออกเสียง โดยประเทศที่คัดค้านมากที่สุดได้แก่ อิสราเอล สหรัฐฯ เช็กเกีย และอาร์เจนตินา รวมถึงประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ปารากวัยและมาลาวีก็คัดค้านมาตรการดังกล่าวเช่นกัน
หลายประเทศในยุโรปงดออกเสียง รวมทั้งยูเครน อังกฤษ เยอรมนี และอิตาลี รวมถึงแคนาดาและออสเตรเลีย
ด้านกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลได้กล่าวว่าเป็น “การตัดสินใจที่บิดเบือน ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ส่งเสริมการก่อการร้าย และทำลายโอกาสในการสร้างสันติภาพ” โดยอิสราเอลกล่าวหาว่ามติดังกล่าวเพิกเฉยต่อเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เมื่อกลุ่มก่อการร้ายฮามาสของปาเลสไตน์เป็นผู้นำการโจมตีข้ามพรมแดนที่ร้ายแรงต่ออิสราเอล จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,200 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และระหว่างนั้น ผู้ก่อการร้ายได้ลักพาตัวผู้คน 251 คนซึ่งถูกจับเป็นตัวประกันไปยังฉนวนกาซา
กระทรวงต่างประเทศอิสราเอลโพสต์บน X ว่ามติดังกล่าวทำให้ฮามาสและ “อิหร่านที่อยู่เบื้องหลังแข็งแกร่งยิ่งขึ้น” ในขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณว่า “การก่อการร้ายต้องได้รับผลตอบแทน” มติของยูเอ็นทำให้ข้อตกลงปล่อยตัวประกันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งก็หมายถึงความพยายามผ่านคนกลางระหว่างประเทศในการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงเพื่อแลกกับการปล่อยตัวเชลยศึก
กระทรวงฯ อิสราเอลกล่าวว่า “มติของสหประชาชาติที่นำโดยปาเลสไตน์ซึ่งเรียกร้องให้มีการดำเนินการฝ่ายเดียวต่ออิสราเอลจะไม่ยุติความขัดแย้ง แต่จะทำให้ทางการปาเลสไตน์ใช้ความรุนแรงมากขึ้น” พร้อมเสริมว่า “สันติภาพสามารถและจะบรรลุได้ด้วยการเจรจาโดยตรงและการกำจัดพวกหัวรุนแรงของปาเลสไตน์เท่านั้น”
ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล เคยขู่ว่าจะยุบรัฐบาลปาเลสไตน์ หากปาเลสไตน์เดินหน้าเคลื่อนไหวตามมติของสหประชาชาติ เขายังสั่งให้กระทรวงเตรียมตอบโต้รัฐบาลปาเลสไตน์ ความรุนแรงขึ้นอยู่กับเนื้อหามติของยูเอ็น
มติดังกล่าวเป็นมติแรกที่ทางการปาเลสไตน์เสนออย่างเป็นทางการ เนื่องจากได้รับสิทธิและเอกสิทธิ์เพิ่มเติมในเดือนนี้ ซึ่งก็รวมถึงที่นั่งในที่ประชุมของสมาชิกสหประชาชาติ และสิทธิในการเสนอร่างมติ แต่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติก็เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ลงเสียงไม่เห็น สหรัฐฯ ผู้จัดหาอาวุธให้กับอิสราเอลและเป็นพันธมิตรในระยะยาว ไม่เคยเห็นด้วยกับมาตรการที่นำเสนอแต่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะมองว่า จะบ่อนทำลายการแก้ปัญหาแบบสองรัฐ คืออิสราเอลกับปาเลสไตน์เสนอแนวทางไปพร้อมๆ กัน
คำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะไม่มีผลผูกพันให้ต้องทำตาม เพียงแค่ได้ชื่อว่า ทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ และอาจทำให้เสียงสนับสนุนอิสราเอลมีน้อยลง ส่วนมติของสมัชชาสหประชาชาติ ก็ไม่มีผลผูกพันเช่นกัน แต่มีน้ำหนักในเชิงการเมือง การลงมติของสมัชชาสหประชาชาติไม่มีการให้สิทธิ์วีโต้
อิสราเอลยึดครองเวสต์แบงก์และเยรูซาเล็มตะวันออกจากจอร์แดน และยึดฉนวนกาซาจากอียิปต์ ในสงครามหกวัน (Six-Day War) เมื่อปี 1967 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวปาเลสไตน์ต้องการประกาศเป็นรัฐ โดยอิสราเอลได้สร้างนิคมในเวสต์แบงก์และขยายนิคมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อิสราเอลยังมีนิคมในฉนวนกาซาจนกระทั่งต้องถูกรื้อถอนภายใต้มติการถอนกำลังในปี 2005 ซึ่งหลังจากนั้นฮามาสก็เข้ายึดครองดินแดนดังกล่าวได้
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมปีที่แล้ว สมัชชาสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมในฉนวนกาซาโดยทันที โดยมีคะแนนเสียงเห็นชอบ 120 เสียง ในเดือนธันวาคม ประเทศต่างๆ 153 ประเทศลงมติเรียกร้องให้หยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมโดยทันที อิสราเอลให้คำมั่นว่าจะสู้รบต่อไปจนกว่าตัวประกันจะถูกส่งตัวกลับและการปกครองดินแดนของฮามาสสิ้นสุดลง
ทางการปาเลสไตน์ซึ่งอยู่ในเวสต์แบงก์เป็นตัวแทนของชาวปาเลสไตน์ในสหประชาชาติ ในฐานะรัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก และคณะผู้แทนเป็นที่รู้จักในชื่อ “รัฐปาเลสไตน์”
มติของสหประชาชาติมีขึ้นไม่กี่วันก่อนที่บรรดาผู้นำโลกจะเดินทางไปยังสหรัฐ เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีของสหประชาชาติ โดยนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล มีกำหนดกล่าวปราศรัยต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่มีสมาชิก 193 ประเทศในวันที่ 26 กันยายน ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ประธานาธิบดีมาห์มุด อับบาสแห่งรัฐปาเลสไตน์จะกล่าวปราศรัยเช่นกัน
By IMCT NEWS