23/4/2024
สถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมาล่าสุด หน่วยข่าวคาดจะมีการปะทะใหญ่ระหว่างกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมา และกองทัพเมียนมาเร็วๆนี้ หลังฝ่ายต่อต้านสกัดกำลังสนับสนุน 3 กองพลหลักของเมียนมาที่เมืองกอกะเร็กไว้ไม่ได้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งกรรมการเฉพาะกิจดูแลสถานการณ์ดังกล่าวเป็นการเฉพาะแล้ว
นาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ลงนามคำสั่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ 1/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา เพื่อให้การบริหารสถานการณ์พื้นที่ชายแดนไทยเมียนมา เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
คำสั่งดังกมนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ เป็นประธานฯ โดยมี นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วย รมต. ต่างประเทศ เป็น รองประธานฯ
พร้อมด้วยปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสารนิเทศ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก เป็นกรรมการ และมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ รวม14 คน
ในคำสั่งดังกล่าว ไม่มีรายชื่อ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเรือเอกอดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. และ พลอากาศเอกพันธุ์ภักดี พัฒนกุลผบ.ทอ. ร่วมเป็นกรรมการด้วย
กำหนดหน้าที่คณะกรรมการครอบคลุมรอบด้าน
คณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ในภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาที่อาจ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งในมิติการต่างประเทศ มิติการค้าและเศรษฐกิจชายแดน มิติความมั่นคง รวมทั้งบทบาทและท่าทีของต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
และ กลั่นกรอง ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกำหนดมาตรการ หรือแนวทางการบูรณาการและประสานงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการเพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะ พื้นที่ชายแดน ไทย - เมียนมา
รวมถึงการดำเนินการทางการทูตเชิงรุกที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนให้เกิดสันติภาพในเมียนมา ให้สอดคล้องกับนโยบายต้านการต่างประเทศ นโยบายด้านเศรษฐกิจ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้ง ยุทธศาสตร์หรือแผนที่เกี่ยวข้อง ต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี
พร้อมเร่งรัดและติดตามการขับเคลื่อนและการปฏิบัติงานของส่วนราชการ และ หน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามนโยบาย แนวทาง หรือมาตรการที่สภา ความมั่นคงแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี กำหนด
กำชับเรื่องการชี้แจงเหตุให้ประชาชนทราบโดยเร็ว
นอกจากนั้นยังกำหนด ให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ ชี้แจงหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลในมิติต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมาทั้งในส่วนการดำเนินการทางการทูต ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนไทย - เมียนมา ให้ประชาชนรับทราบอย่างทันท่วงที
โดยให้รายงานผลการดำเนินงานต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีตามห้วงระยะเวลาที่เหมาะสม
ทอ.เพิ่มความเข้มข้นลาดตระเวนทางอากาศ
ส่วนมาตรการควบคุมตามแนวชายแดนนั้น กองทัพอากาศเพิ่มความเข้มข้นในการลาดตระเวนทางอากาศ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น โดยส่งอากาศยานไร้คนขับพิสัยกลาง หรือ UAV แบบDominatorXP จากฝูงบิน 302 กองบิน 4 อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ขึ้นบินปฏิบัติภารกิจร่วมกับ หน่วยเฉพาะกิจ ราชมนู กองกำลังนเรศวร โดยบินจาก กองบิน4 จังหวัดนครสวรรค์ และถึง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง พร้อม ปฏิบัติภารกิจบริเวณชายแดนฝั่งประเทศไทย ในการลาดตระเวนระยะเวลา 5 ชั่วโมง ก่อนบินกลับมายังกองบิน 4
สำหรับ อากาศยานไร้คนขับพิสัยกลางแบบ DominatorXP เป็นอากาศยานไร้คนขับแบบ Medium Altitude Long Endurance หรือ MALE มีภารกิจการบินลาดตระเวนตามแนวชายแดน และภารกิจที่ไม่ใช่การรบ เช่น การค้นหาผู้ประสบภัย หรือการเฝ้าระวังไฟป่า
การส่ง UAV ขึ้นลาดตระเวนทางอากาศในครั้งนี้เป็นการแบ่งเบาภาระของ เครื่องบิน F-16 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และมีภารกิจหลักคือการขับไล่โจมตีข้าศึก และUAV จะสามารถเก็บภาพถ่ายทางอากาศได้ชัดเจนมากกว่าด้วย
อย่างไรก็ตาม กองทัพอากาศได้ Stand By เครื่องบิน ขับไล่ บ.ข.๑๙/ก (F-16 A/B) จำนวน 3 ลำ ให้สามารถพร้อมบินขึ้นสกัดกั้นหากตรวจพบการบินล้ำแดน เพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงปกป้องอธิปไตยของประเทศ
แนวชายแดนไทย-เมียนมายังปะทะกันต่อเนื่อง
ส่วนสถานการณ์ล่าสุด ศูนย์สั่งการชายแดน ไทย - เมียนมา จังหวัดตาก รายงานเรื่อง สถานการณ์ชายแดนพื้นที่ จังหวัดตาก ฉบับที่ 294 ประจำวันที่ 22 เมษายน 2567 ระบุว่า ปรากฏการปะทะในพื้นที่ตอนในฝั่งเมียนมาต่อเนื่องในระยะเวลา 2 วัน โดยวันที่ 21 เมษายน มีการปะทะกันห่างจากแนวชายแดนไทย เป็นระยะทาง ประมาณ 12 กิโลเมตร ระหว่าง ทหารเมียนมา กับ กองกำลังชนกลุ่มน้อย/กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา โดยมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้ง อากาศยานไม่ทราบชนิด ทิ้งระเบิด บริเวณ บ้านปางกาน อำเภอเมียวดี จังหวัดเมียวดี ด้านตรงข้าม บ้านริมเมย ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ระยะปะทะกันประชิดชายแดนไทยเข้ามาเรื่อยๆ
ขณะที่วันที่ 22 เมษายน การปะทะในพื้นที่ตอนในฝั่งเมียนมาขยับเข้ามาใกล้ชายแดนไทยมากขึ้น โดยห่างจากแนวชายแดนไทย ประมาณ 4-10 กิโลเมตร มีการใช้อาวุธหนักของกองกำลังไม่ทราบฝ่าย บริเวณ บ้านผาลู อำเภอเมียวดี จังหวัดเมียวดีด้านตรงข้าม บ้านแม่โกนเกน ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด และ บริเวณ บ้านธิบาโบ อำเภอซูการี จังหวัดเมียวดีด้านตรงข้าม บ้านหมื่นฤาชัย ตำบลพบพระ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน บริเวณแนวชายแดน
สำหรับสถานการณ์บริเวณด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพ ไทย - เมียนมา แห่งที่ 1 ฝั่งไทยเปิดตามปกติ ขณะที่ฝั่งเมียนมาปิดทำการชั่วคราวเนื่องจากระบบขัดข้อง
ส่วนด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพ ไทย - เมียนมา แห่งที่๒ ในพื้นที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ปิดทำการชั่วคราว
จำนวนผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาที่ยังคงมีความกังวลใจจากสถานการณ์ในพื้นที่ และข้ามมาพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวฝั่งไทย จากเดิม จำนวน๓ พื้นที่ คงเหลือ จำนวน๒ พื้นที่
ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา จากเดิม จำนวน 2,331 คน มีผู้สมัครใจเดินทางกลับจำนวน 1,348 คน คงเหลือ จำนวน 983 คน
IMCT News
ที่มา : ห้องข่าว ปภ.